ASTV ผู้จัดการรายวัน-- นายกรัฐมนตรีกัมพูชาสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน ได้กล่าวเตือนประเทศไทยอย่างแข็งกร้าวระบุว่า กัมพูชาพร้อมตอบโต้การรุกรานทุกรูปทุกแบบ "ถึงแม้ไทยจะมีอาวุธทันสมัยหรือแม้กระทั่งระเบิดนิวเคลียร์" ก็ไม่ได้หวาดกลัว ผู้นำกัมพูชาประกาศเรื่องดังกล่าว ระหว่างปราศรัยที่จังหวัดโพธิสัตว์ในวันเสาร์ (22 ส.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และวิทยุไปทั่วประเทศ
แต่สัปดาห์ผ่านมานายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้สั่งให้ถอนทหารหลายหน่วยออกจากพื้นที่ตลอดแนวชายแดนติดกับไทยโดยอ้างว่า บรรลุภารกิจแล้ว และไม่มีการสู้รบทางด้านนั้น ขณะที่สำนักข่าวบางแห่งรายงานว่า ทหารที่แนวหน้ากำลังประสบความยากลำบากในฤดูฝน และ ขาดงบประมาณในการปฏิบัติการอีกด้วย
"ถ้าหากคุณเจรจาเราจะเจรจา ถ้าหาก (บุก) เข้ามา เราก็จะตีโต้กลับคืน ศีรษะของคุณไม้ได้คลุมด้วยเหล็กกล้า เรื่องนี้ต้องชัดเจน.." หนังสือพิมพ์ดืมอัมปึล (Duem Ampil) อ้างคำกล่าวของผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในฉบับวันจันทร์นี้
อย่างไรก็ตามสมเด็จฯ ฮุนเซนกล่าวว่า กัมพูชาไม่ต้องการจะต่อสู้กับใคร แต่ถ้าหากถูกใครสักคนฟาดเข้าที่ศีรษะ ก็อย่าแปลกใจ "ถึงแม้คุณจะมีระเบิดปรมาณู กัมพูชาก็ไม่กลัว"
ผู้นำกัมพูชาเคยกล่าวเตือนประเทศไทยมาครั้งหนึ่งในเดือน ก.ค. หลังจากกล่าวหาว่าไทยได้เคลื่อนกำลังทหารและอาวุธหนักเข้าใกล้เขตเขาพระวิหาร ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการเยือนสันถวไมตรีประเทศกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
แต่สมเด็จฯ ฮุนเซนก็กล่าวว่า จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการสู้รบใดๆ ที่ชายแดนด้านปราสาทพระวิหาร
สัปดาห์ที่ผ่านมาสมเด็จฯ ฮุนเซนได้สั่งการให้ถอนกรมทหารราบที่ 11 ออกจากเขตภูมะเขือ (Phnom Trop) หลังจากหน่วยนี้ได้จัดสร้างบันไดสำหรับปีนขึ้นเขาแล้วเสร็จ รวมทั้งติดตั้ง "ระบบขนส่งที่ติดเครื่องยนต์" ตามความลาดชันของหน้าผาแล้วเสร็จ
นอกจากนั้นสมเด็จฯ ฮุนซน ยังสั่งถอนทหารอีกหลายหน่วยกลับไปยังที่ตั้งเดิมใน จ.เสียมราฐ กับ จ.กัมปงธม และ ให้หน่วยรบพิเศษองครักษ์ผู้นำ ที่บัญชาการโดย พล.ท.ฮิงบุนเฮียง (Hing Bun Heang) จำนวนครึ่งหนึ่ง ให้กลับจากแนวหน้าสู่ที่ตั้งใน จ.กันดาล รอบนอกกรุงพนมเปญ
"ส่งทหารไปประจำแนวหน้ามากไปก็ไม่ดี พวกเขาควรจะได้ช่วยประชาชนปลูกพืชหรือทำนาในหน้าฝนนี้ด้วย"สมเด็จฯ ฮุนเซนกล่าว
อย่างไรก็ตามผู้นำวัย 58 ปีที่อยู่ในตำแหน่งมาเป็นปีที่ 24 กล่าวว่า "ถ้าหากมีอะไรเกิดขึ้น เราจะกลับไปทันที ใช้เวลาไม่มากนัก แต่ก็เชื่อว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น (ที่ชายแดน)"
พล.ต.สเรย์ เดิ๊ก (Srey Doek) ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3 ซึ่งดูแลรับผิดชอบบริเวณปราสาทพระวิหารให้สัมภาษณ์ดืมอัมปึลทางโทรศัพท์บ่ายวันเดียวกันว่า สถานการณ์ชายแดนด้านนั้นไม่มีอะไรผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปราสาทพระวิหารไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าหากมีการโจมตีจากฝ่ายไทยกัมพูชาก็จะตอบโต้โดยอัตโนมัติ
นายทหารผู้นี้กล่าวว่า ที่ผ่านมาฝ่ายกัมพูชาได้เตือนให้ทหารไทยต้องถอนรั่วลวดหนามออกไป รวมทั้งไม่ให้ก่อกำแพงคอนกรีตใดๆ ขึ้นมา "เราไม่ยอมให้พวกเขาทำอะไรได้ตามใจชอบ"
ผบ.พล 11 กัมพูชากล่าวอีกว่า การถอนออกจากพื้นที่เป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้ได้ลงท้องไร่ท้องนาในหน้าฝน การส่งทหารกลับไปประจำแนวหน้าก็ไม่ยากอีกแล้ว เพราะกัมพูชามีถนนที่ดีขึ้นแล้ว
ขณะเดียวกัน พล.จ.ยิมปิม (Yim Pim) ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 8 ซึ่งเคยเป็นกองกำพลังเขมรแดงเก่า ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์รายวันภาษาเขมร 2-3 ฉบับระบุว่า การถอนทหารออกจากชายแดนเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากทหารกำลังประสบความยากลำบากในหน้าฝน และเมื่อสถานการณ์ปกติควรจะถอนออกไป เหลือไว้เพียงแต่ทหารท้องถิ่นก็พอ
“คนเหล่านั้นเคยรบอยู่ในป่า ทนต่อมาลาเรียและโรคระบาดต่างๆ รู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี พอแล้วสำหรับการป้องกันที่นั่น” พล.จ.ยิมปิมกล่าว
สำนักข่าว Everyday.kh.com สำนักข่าวภาษาเขมรยอดนิยมรายงานในวันจันทร์นี้ โดยอ้างแหล่งข่าวทางทหารที่ระบุว่า ฤดูฝนได้ทำให้ทหารประจำการในแนวหน้ายากลำบากในการไปมามากขึ้น ไม่สามารถผลิตอาหารเองได้ ต้องพึ่งพาอาหารจากตลาด ขณะที่อาหารการกินร่อยหรอ และยุงชุกชุมกว่าฤดูอื่นๆ
“การมีทหารนับพันนับหมื่นประจำการตามแนวชายแดนทุระกันดารดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ความจริงแล้วสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล” สำนักข่าวเดียวกันอ้างแหล่งข่าว
ส่วน พล.อ.เตียบัญ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมกล่าวสนับสนุนการตัดสินใจถอนทหารของสมเด็จฯ ฮุนเซน โดยระบุว่า ไม่มีอะไรต้องห่วงเรื่องความมั่นคงปลอดภัยอีกแล้ว ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ตามแนวชายแดนด้านนั้น และกำลังจะมีการเจรจาระดับสูงระหว่างสองฝ่ายเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย
พล.อ. เตียบัญยังกล่าวถึงข่าวที่ว่า กองทัพเรือไทยได้ทำการซ้อมรบใหญ่ที่บริเวณน่านน้ำเกาะกูดช่วงที่ผ่านมาว่า ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะ เรือไทยยังคงอยู่ในน่านน้ำไทย
ความเห็นของ พล.อ.เตียบัญในเรื่องนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับ ที่ พล.อ.ชุม สุชาติ (Chhum Socheat) โฆษกกระทรวงกลาโหมให้สัมภาษณ์ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งระบุว่ากองทัพเรือไทยได้ระดมเรือรบกว่า 10 ลำ นำโดยเรือบรรทุกอากาศยาน ซ้อมรบใหญ่ใกล้น่านน้ำกัมพูชาอันเป็นการข่มขู่
หลายวันที่ผ่านมา ยังไม่มีผู้บัญชาการคนใดของฝ่ายไทยออกให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ในวันจันทร์ (24 ส.ค.) ทีผ่านมา พล.อ.ทรงกิตติ จักราบาตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย ได้นำคณะเดินทางไปยังเมืองเสียมราฐ เพื่อพบเจรจากับ พล.อ.พลสะเรือน (Pol Saroeun) เกี่ยวกับการลดกำลังทหารตามพื้นที่ชายแดนสองประเทศ
สถานการณ์ชายแดนกัมพูชาตึงเครียดขึ้นหลังจากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในเดือน ก.ค.2551 นำไปสู่การปะทะกันด้วยอาวุธของสองฝ่าย ในวันที่ 15 ต.ค. กับอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 3 เม.ย.ปีนี้.