ASTV ผู้จัดการรายวัน - เจ้าหน้าที่กัมพูชาที่เคยแสดงความเห็นอย่างแข็งกร้าวต่อกรณีพิพาทชายแดนทางบกกับไทยทางด้านปราสาทพระวิหาร มีท่าทีอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อถูกถามความเห็นต่อข่าวที่ว่ากองทัพเรือไทยได้ส่งเรือรบเข้าใกล้เขตน่านน้ำพิพาทในอ่าวไทย เพื่อสอดส่องการเคลื่อนไหวของบริษัทน้ำมันต่างชาติ โดยจะไม่ยอมให้เข้าปฏิบัติการใดๆ ในเขตทับซ้อนทางทะเล โดยไม่ได้รับการยินยอมจากไทย
หัวหน้าคณะกรรมการชายแดนระดับชาตินายวาร กิมฮอง (Var Kim Hong) กับนายฟาย สีฟาน (Phay Siphan) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข่าวนี้คล้ายๆ กันว่า จะไม่มีการใช้กำลังตอบโต้กองทัพเรือไทย และ จะแก้ไขปัญหาพิพาทน่านน้ำกับไทยด้วยสันติวิธี
เจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งสองคนให้สัมภาษณ์เรื่องนี้กับสื่อต่างๆ ในวันจันทร์ (17 ส.ค.) ที่ผ่านมา หลังจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ในประเทศไทย รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในฉบับวันเสาร์ โดยอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวทางทหารที่ไม่ประสงค์ให้ระบุชื่อ
หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับนี้กล่าวว่า กองทัพเรือไทยส่งเรือเข้าไปยังบริเวณใกล้เคียง เพื่อสดส่องมิให้บริษัทน้ำมันโตตาลของฝรั่งเศส เข้าสำรวจในเขตทับซ้อนดังกล่าว ทั้งยังเป็นการเตือนฝ่ายกัมพูชา ไม่เช่นนั้นก็จะเท่ากับเป็นการยอมรับสิทธิของฝ่ายนั้น
นายวาร กิมฮอง (Var Kim Hong) ประธานคณะกรรมการชายแดนระดับชาติของกัมพูชากล่าวว่า การเคลื่อนเรือรบดังกล่าว เป็นความชอบธรรมถ้าหากเกิดขึ้นในเขตน่านน้ำของไทย แต่ก็ได้เตือนว่า “กัมพูชาจะเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์อธิปไตยในเขตอ่าว ถ้าหากกองกำลังของไทยล่วงล้ำเข้าไปในเขตน่านน้ำทับซ้อน”
“ถ้าหาก (เรือรบไทย) เคลื่อนเข้าไปในเขตทับซ้อนหรือเข้าไปในเขตน่านน้ำของกัมพูชา เราก็จะต้องปกป้องประเทศของเรา” นายวารกล่าวโดยไม่ได้พูดถึงวิธีการ “ปกป้อง” ที่กล่าวถึง
ส่วนโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฟายสีฟาน ที่ใช้ท่าทีแข็งกร้าวกับไทยมาตลอดในกรณีพิพาท “ดินแดนทับซ้อน” รอบๆ ปราสาทพระวิหาร กล่าวว่าการตัดสินใจ (ส่งเรือรบ) เป็นสิทธิของไทย แต่ก็จะส่งผลน้อยมากต่อการแก้ไขปัญหาพิพาททางทะเล
“และ (การเคลื่อนเรือรบ) ไม่ได้ทำให้กัมพูชารู้สึกหวาดกลัว” เว็บไซต์ข่าวภาษาเขมรยอดนิยม Everyday.kh.com รายงานอ้างคำกล่าวของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
“ไทยไม่สามารถใช้กำลังข่มขู่ความมั่นคงของกัมพูชา เราจะป้องกันสิทธิของเราในฐานะประเทศที่มีเอกราช” โฆษกฝีปากกล้ากล่าว แต่ในขณะเดียวกันย้ำว่า... “(เรา) จะยังคงท่าทีเดิมในการแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างสันติ” เนื่องจากกัมพูชาเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ที่มุ่งมั่นในการแก้ไขทุกปัญหาด้วยสันติวิธี
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชาทั้งสองคนนี้ รวมทั้งนายกอย เกือง (Koy Kuong) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ล้วนแต่เคยแสดงท่าทีแข็งกร้าวและการกล่าวประณามฝ่ายทหารของไทยมาโดยตลอด นับตั้งแต่เกิดการเผชิญหน้าทางทหารและการสู้รบปะทุขึ้นในเดือน ต.ค.2551 และ อีกครั้งหนึ่งในเดือน เม.ย.ปีนี้ ซึ่งมีทหารสองฝ่ายเสียชีวิตไปอย่างน้อย 7 นาย
เจ้าหน้าที่เหล่านี้เคยข่มขู่จะยิงเครื่องบินรบชองไทยหากมีการบินล้ำน่านฟ้ากัมพูชา ทางด้านปราสาทพระวิหาร ซึ่งสะท้อนท่าทีของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในเรื่องเดียวกันนี้
ยังไม่มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้จากผู้นำระดับสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ สมเด็จฯ ฮุนเซน และนายฮอร์นังฮอง (Hor Nam Hong) ซึ่งรายหลัวนี้เคยให้สัมภาษณ์อย่างแข็งกร้าวว่า กัมพูชาพร้อมจะรับมือฝ่ายไทยทุกรูปแบบ รวมทั้งทางการทหารด้วย
กองทัพกัมพูชาไม่มีเครื่องบินรบที่มีสมรรถนะดีพอในการป้องกันน่านฟ้า แต่มีขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานแบบ SAM3 กับ SAM7 ที่ผลิตในอดีตสหภาพโซเวียต เป็นเขี้ยวเล็บสำคัญในการเผชิญกับการโจมตีทางอากาศ
ส่วนกองกำลังทางเรือของกัมพูชานั้น เทียบไม่ได้กับกองทัพเรือของประเทศเพื่อนบ้านในแถบนี้ รวมทั้งราชนาวีไทยด้วย
ในปี 2550 จีนได้ส่งมอบเรือลาดตระเวนน่าน้ำให้แก่กัมพูชาจำนวน 4 ลำ จากทั้งหมด 19 ลำ ที่กัมพูชาสั่งซื้อในราคามิตรภาพ โดยอ้างว่าเพื่อปฏิบัติการต่อต้านโจรสลัดในอ่าวไทยและปกป้องเขตบ่อน้ำมันและก๊าซในน่านน้ำของตน
ปีเดียวกันเวียดนามได้มอบเรือลาดตระเวนขนาดเล็กลงให้กัมพูชาอีกจำนวน 2 ลำ ด้วยเหตุผลเดียวกัน
ความตึงเครียดในน่านน้ำอ่าวไทยเริ่มขึ้นเมื่อสมเด็จฯ ฮุนเซนประกาศในกรุงปารีสในวันที่ 14 ก.ค.ว่า รัฐบาลกัมพูชาได้ตกลงให้สิทธิ์สัมปทานการสำรวจน้ำมันแปลงบี (Block 3) แก่บริษัทโตตาล (Total) ของฝรั่งเศส
แปลงสัมปทานดังกล่าวรู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ Area 3 ครอบคลุมพื้นที่ราว 2,430 ตารางกิโลเมตร
นายฌอง-ปิแอร์ ลาบเบ้ (Jean-Pier Labbe) ผู้จัดการใหญ่บริษัทโตตาลสำรวจและผลิต (Total EP) ประจำกัมพูชา ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กัมโบดจ์ซวาร์ (Cambodge Soir) ในกรุงพนมเปญเวลาต่อมา ยอมรับว่าแปลงสำรวจดังกล่าวอยู่ในเขตทับซ้อนที่ไทยกล่าวอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของด้วย
ผู้บริหารรายนี้กล่าวว่า โตตาลจะไม่ดำเนินการอะไรใน Block 3 จนกว่าไทยและกัมพูชาจะบรรลุข้อตกลงแก้ไขเขตน่านน้ำพิพาทเสียก่อน
กรณีพิพาทเกี่ยวกับทรัพยากรในเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ของไทยเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2516 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามอินโดจีน ไทยเคยมอบสัมปทานแปลงสำรวจ B10 กับ B11 ซึ่งอยู่ในเขตทับซ้อนทางทะเลในปัจจุบัน ให้แก่ยูโนแคล (Unocal) จากสหรัฐฯ และ บริษัทมิตซุย (Mitsui) จากญี่ปุ่น
บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ทั้งสองรายนี้สำรวจและผลิตน้ำมันในเขตน่านน้ำของไทยอยู่ก่อนแล้ว
ปัจจุบันเชฟรอนเป็นหนึ่งในบริษัทน้ำมันต่างชาติกว่า 10 บริษัทที่กำลังสำรวจขุมพลังงานในกัมพูชาขณะนี้ ในเดือน ก.พ.2548 บริษัทนี้ได้ประกาศการค้นพบน้ำมันเป็นครั้งแรกในแปลงสำรวจเอ (Block A) ซึ่งอยู่ถัดจากแปลง (Block 3) หรือ Area 3 เข้าไป
นายวารกิมฮอง ได้อ้างถึงเรื่องนี้และบอกกับสื่อต่างๆ เมื่อวันจันทร์ว่า การที่ฝ่ายไทยกล่าวอ้างในกรณีบริษัทโตตาลกับ Block 3 นั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ "ไร้เหตุผล" เพราะกัมพูชาไม่เคยว่ากล่าวใดๆ ต่อไทยในกรณีบริษัทเชฟรอนกับมิตซุย
เจ้าหน้าที่ผู้นี้ยังกล่าวอีกว่า กัมพูชายังคงเปิดกว้างเสมอในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาพรมแดนทางทะเลกับไทย ซึ่งถึงขณะนี้ยังไม่คืบหน้าแต่อย่างไร
อย่างไรก็ตาม นายอิน สุเขมรา (In Sokhemra) หัวหน้าหน่วยลาดตระเวนซึ่งประจำการที่ จ.พระสีหนุกล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานหรือคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเรือรบไทยในแถบเกาะกูด
เจ้าหน้าที่ผู้นี้ยืนยันว่า กองเรือลาดตระเวนของกัมพูชาได้ออกตรวจน่านน้ำในเขตนั้นเป็นประจำ และย่อมจะทราบก่อนฝ่ายใด หากเรือรบของไทยเคลื่อนไปที่นั่น