ASTVผู้จัดการรายวัน -- อุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งนำรายได้เข้าประเทศมากเป็นอันดับสอง ทรุดลงอย่างหนักในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก แหล่งรายได้อันดับ 1 ก็ไม่ได้ต่างกัน นอกจากนั้น การค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง รวมทั้งประเทศไทย ตัวเลขรวมหล่นวูบลงเกือบ 1 ใน 3 ไม่ต่างกับการค้ากับเวียดนาม
ทุกฝ่ายยกความตกต่ำทั้งหมดให้เป็นความผิดของเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ไปทั่ว
อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ประจำสถานทูตไทย ในกรุงพนมเปญ กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อลดลง และไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชายแดนด้านปราสาทพระวิหารแต่อย่างไร
แต่ปัจจัยหนึ่งที่กระหน่ำซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไป ก็คือ กัมพูชาขาดดุลการค้ากับคู่ค้าใหญ่ทั้งสองประเทศ และการค้าที่ตกต่ำลงได้ทำให้รายได้เข้างบประมาณของรัฐลดลงด้วย
ตามรายงานของสื่อต่างๆ ในกัมพูชา ซึ่งอ้างตัวเลขอย่างเป็นทางการสถานทูตไทย และสถานทูตเวียดนาม ยอดรวมการค้าขายกับสองประเทศนี้ล้วนตกต่ำลงกว่า 30% ทั้งสิ้น
“ในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2009 การค้าขายกัมพูชา-ไทย มีมูลค่ารวม 633.17 ล้านดอลลาร์ ถ้าหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วคือ 922.89 ล้านดอลลาร์ ยอดการค้าขายรวมลดลง 31 เปอร์เซ็นต์” หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์อ้างรายงานกรมศุลกากรของไทย
การค้าขายระหว่างไทยกับกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าของฝ่ายกัมพูชา มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศไทย มูลค่าเพียง 18.9 ล้านดอลลาร์เท่านั้น และสินค้าส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางการเกษตร เสื้อผ้าใช้แล้ว เศษเหล็กกับปลาแห้ง
ช่วงเดียวกันนี้กัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทย รวมเป็นมูลค่า 614 ล้านดอลลาร์ ในนั้นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภคอุปกรณ์ก่อสร้างและเครื่องสำอาง
นางจิระนัน วงศ์มงคล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ ประจำกัมพูชา ซึ่งเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ คาดว่า มูลค่าการค้าสองฝ่ายตลาดทั้งปีอาจจะลดลงถึง 40% เป็นประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์ จาก 2,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปีกลาย แต่ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งกรณีปราสาทพระวิหาร
ส่วน นายเลเบียนเกือง (Le Bien Cuong) อัครราชรัฐทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ สถานทูตเวียดนามประจำกรุงพนมเปญ กล่าวว่า การค้ากับกัมพูชามูลค่าลดลง 30% จาก 745 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีกลาย เหลือเพียง 520 ล้านดอลลาร์
“ในช่วงดังกล่าวเวียดนามส่งออกสินค้าไปกัมพูชามูลค่ารวม 437 ล้านดอลลาร์ ส่วนการส่งออกสินค้าการเกษตรของกัมพูชาไปเวียดนามมีมูลค่าลดลงจาก 114 ล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 83 ล้านดอลลาร์” นายเกือง เปิดเผยเรื่องนี้กับพนมเปญโพสต์
“นี่เป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก มันได้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม และประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ก็คือ สาเหตุที่ว่าเพราะเหตุใดบรรดาธุรกิจต่างๆ ในเวียดนามจึงลดการผลิตลง” นายเกือง กล่าว
ปีที่แล้วมูลค่าการค้ากัมพูชา-เวียดนาม พุ่งขึ้นสูงถึง 1,600 ล้านดอลลาร์ จาก 1,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2551 ซึ่งฝ่ายเวียดนาม กล่าวว่า มูลค่ารวมตลอดทั้งปีสำหรับปีนี้ ไม่น่าจะเกินตัวเลขเมื่อปีที่แล้ว แต่เชื่อว่า มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2553
นายเหมาธุรา (Mao Thora) ปลัดกระทรวงการค้ากัมพูชา กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อการค้าของทุกประเทศทั่วโลก
“การส่งออกของเรา (ไปยังเวียดนามกับไทย) ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะว่าส่วนใหญ่เราส่งออกเป็นพืชผลการเกษตร แต่การนำเข้าได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากผู้บริโภคต่างพากันลดค่าใช้จ่าย”
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กัมพูชา ยอมรับว่า มูลค่าทั้งส่งออกและนำเข้าที่ลดลงนี้ ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการเก็บภาษีศูลกากรและภาษีสรรพากรทั่วไป เนื่องจากการจัดเก็บภาษีทั้งสองประเภทในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.ลดลงถึง 22% เทียบกับช่วงหกเดือนแรกปีที่แล้ว ซึ่งหมายถึงรายได้ของรัฐบาลในส่วนนี้ลดลงกว่า 1 ใน 5
สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวได้เปิดเผยตัวเลขรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งได้พบว่ายอดนักท่องเที่ยวได้ลดลงอย่างมาก ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.ปีนี้ มีเพียงนักท่องเที่ยวจากเวียดนามที่จำนวนเพิ่มขึ้น และได้ขึ้นแทนที่นักท่องเที่ยวจากเกาหลีในด้านจำนวน
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ซบเซาส่งผลชัดเจนที่สุด จำนวนนักท่องเที่ยวชาวเกาหลี ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเคยเดินทางเข้ากัมพูชาถึง 160,400 คน แต่ช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ลดลงเหลือ 106,300 คน หรือลดลง 34% จำนวนนักท่องเที่ยวหลักชาติอื่นๆ ก็ลดลงไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวญี่ปุ่น จีน ไทย ออสเตรเลีย ซึ่งหายไปตั้งแต่ 25-10%
แต่ในช่วงดังกล่าว นักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 147,700 คน เพิ่มขึ้นถึง 40% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.ปีนี้ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้ากัมพูชาจำนวน 70,100 คน ลดลง 14% นักท่องเที่ยวจีน 62,100 คน ลดลง 11% นักท่องเที่ยวไทยจำนวน 50,800 คน ลดลง 25% และนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย 38,900 คน ลดลง 10%
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันอังคาร กระทรวงการท่องเที่ยวได้กล่าวเตือนให้ผู้ประกอบการระวังผลกระทบต่อลูกจ้างพนักงานในอุตสาหกรรมนี้ จากการสำรวจโรงแรมจำนวน 72 แห่งทั่วประเทศพบว่า มีอยู่ 12 แห่งที่ลดพนักงานลงตั้งแต่หนึ่งในสามจนถึงครึ่งต่อครึ่ง ส่วนอีก 60 แห่งได้ลดชั่วโมงทำงานของพนักงานลงในสัดส่วนเท่าๆ กัน
ตามสถิติของทางการมีชาวกัมพูชาประมาณ 300,000 คน ทำงานในแขนงการท่องเที่ยวของประเทศ ในนั้น 50-60% ทำงานในธุรกิจโรงแรม เรือนพัก และแหล่งบริการการท่องเที่ยวชนิดอื่น
ชาวกัมพูชาที่ทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีจำนวนเท่าๆ กับ หรือมากกว่า คนงานในแขนงอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก ซึ่งตั้งแต่ต้นปีมานี้มีการเลิกจ้างไปหลายหมื่นคน หลังจากยอดส่งออกลดฮวบลงประมาณ 35%
นางสุมารา (So Mara) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว กล่าวเมื่อวันพุธ สัปดาห์ที่แล้วว่าทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ก็เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่ภาคเอกชนกำลังร่วมกับภาครัฐขบคิดหาทางแก้ไขเยียวยา
“เราคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากทั้งห้าประเทศนี้ จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี เรากำลังเตรียมออกโฆษณา (ทางโทรทัศน์) ในประเทศเหล่านี้ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว” นางมารา กล่าว
รัฐบาลกัมพูชาใช้งบประมาณราว 340,000 ดอลลาร์ ในการรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้ชื่อ “ราชอาณาจักรแห่งความน่าพิศวง” (Kingdom of Wonders) ออกอากาศทางข่ายโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีคนเดียวกันนี้ กล่าวว่า กำลังจะมีการออกโฆษณาทางโทรทัศน์แบบเดียวกันนี้ในญี่ปุ่น จีน กับ เกาหลี
สมาคมโรงแรมกัมพูชาได้สนับสนุนการรณรงค์ดังกล่าวของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีการเปิดสายการบินแคมโบเดียอังกอร์ (Cambodia Angkor) เป็นสายการบินแห่งชาติเมื่อวันจันทร์ (27 ก.ค.) ซึ่งจะมีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก
“เราหวังว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศจะเริ่มหันหัวขึ้นในเดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป เพราะว่าเป็นช่วงเริ่มฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยว” นายลือเม็ง (Luu Meng) ประธานสมาคมโรงแรมกัมพูชากล่าวกับพนมเปญโพสต์
นายเม็ง กล่าวอีกว่า การลดคนงาน หรือลดชั่วโมงทำงานของคนงานโรงแรมแห่งต่างๆ เป็นเรื่องที่จำเป็นและสามารถเข้าใจได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาในช่วงสั้นๆ ที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงตราบใดที่ยังไม่มีการปิดโรงแรม