ASTVผู้จัดการรายวัน-- ระว่างมาร่วมประชุมกับกลุ่มอาเซียนสัปดาห์ที่ผ่านมานางฮิลลารี คลินตันได้ใช้ท่าทีทั้งก่นทั้งปลอบพม่า โดยเสนอให้อาเซียนปลดออกจากประเทศสมาชิกหากไม่ยอมปล่อยตัวนางอองซานซูจี ขณะเดียวกันก็กล่าวชมรัฐบาลทหารกรณีที่แสดงท่าทีสนับสนุนการลงโทษเกาหลีเหนือโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
นางคลินตันได้กล่าชมการตัดสินใจของพม่า ที่ให้คำมั่นจะสนับสนุนการต่อต้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ โดยกล่าวว่านับเป็นการ "ก้าวไปในทางบวก" ของพม่า
รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุดังกล่าวระหว่างปราศรัยต่อที่ประชุมระดับภูมิภาค (Regional Forum) ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยโดยร่วมกับอีกหลายประเทศ ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
แต่นางคลินตันก็กล่าวว่าสหรัฐฯ ยังจะเฝ้าระวังต่อไปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่น่ากังวลนี้ และ กล่าวอีกว่าหากมีการร่วมมือกันพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือกับพม่า จะถูกสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงอย่างแน่นอน
"เราพอใจต่อความตั้งใจของพม่า ที่จะให้การสนับสนุนการใช้ข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการหยุดยั้งความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ" รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ความสงสัยในความร่วมมือระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือเริ่มขยายตัวออกไปเดือนที่แล้ว เรือพิฆาตสหรัฐฯ เฝ้าติดตามเรือเกาหลีเหนือที่ต้องสงสัยลำหนึ่ง ที่มุ่งไปยังท่าเรือพม่า ภายใต้การคว่ำบาตรขององค์การสหประชาชาติ หลังจากเกาหลีเหนือได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์
นางคลินตันกล่าวว่าวอชิงตันได้เห็น "วิถีที่เป็นบวก" ในพม่าในความร่วมมือที่เกิดขึ้นแล้วต่อกรณีเรือเกาหลีเหนือที่ต้องสงสัย รวมทั้งคำแถลงที่พม่าระบุว่าพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการปฏิบัติข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง
รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า นายเนียนวิน (Nyan Win) กล่าวก่อนการเปิดประชุมความมั่นคงแห่งเอเชียใน จ.ภูเก็ตว่า พม่าพร้อมจะปฏิบัติตามมาตรการของสหประชาชาติต่อโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ทั้งเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นและนางคลินตันเองเป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้
รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า นี่เป็นพัฒนาการใหม่ (ของพม่า) ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และสหรัฐฯ รู้สึกเป็นกำลังใจ และได้เรียกร้องให้ทางการทหารพม่าปล่อยนางซูจี
"แต่ในขณะเดียวกันเราก็ทราบว่า ได้มีความร่วมมือระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือในอดีตและเราก็จะต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้มีหลักประกันว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต"
นางคลินตันกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเกาหลีเหนือ "ไม่มีเพื่อนเหลืออยู่อีกแล้ว" เพื่อที่จะช่วยให้พวกเขามีแหล่งกบดานให้พ้นจากการคว่ำบาตรต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามของนางคลินตันมีขึ้น หลังจากรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา ประกาศว่า นโยบายต่อพม่ากำลังจะเปลี่ยนไป แต่การดำเนินนโยบายใหม่ได้ชะงักลงหลังเกิดเหตุการณ์ที่ชาวอเมริกันวัย 54 ปีว่ายน้ำไปยังบ้านพักในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และทางการได้จับกุมดำเนินคดีนางซูจี ในข้อหา "ละเมิดระเบียบการกักบริเวณ"
ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้กลุ่มอาเซียนขับรัฐบาลทหารพม่าออกจากการเป็นสมาชิกหากไม่มีการปล่อยนางอองซานซูจี กับนักโทษการเมืองทั้งหมด และจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมโดยมีฝ่ายต่างๆ เข้าร่วม
กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศประกอบด้วยบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม ประเทศสมาชิกจะผัดกันทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการประจำคราวละ 1 ปี โดยเรียงตามลำดับอักษร ถัดจากประเทศไทยก็จะเป็นเวียดนาม.