วอชิงตัน (เอเอฟพี) -- เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ผู้กำลังจะเข้าทำหน้าที่นักการทูตระดับสูงสุดคนใหม่ ในนโยบายต่อภูมิภาคเอเชียทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งปัญหาพม่า กล่าวยืนยันว่า การไต่สวนนางอองซาน ซูจี ของคณะปกครองทหารที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ เป็นอุปสรรคสำคัญในการ “ทบทวน” นโยบายต่อประเทศนี้ และยืนยันอีกว่า สหรัฐฯ จะหาทางแก้ไขปัญหานี้โดยเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนและเพื่อนอื่นๆ ของพม่า
นายเคิร์ต แคมป์เบล (Kurt Campbell) ได้ให้การเรื่องนี้ต่อคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของรัฐสภาเมื่อวันพุธ (10 มิ.ย.) ซึ่งจะนำไปสู่การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียอย่างเป็นทางการ
นายแคมป์เบล ระบุในตอนหนึ่งว่า ทีมงานของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่เข้ารับผิดชอบนโยบายมองว่า นโยบายที่แข็งกร้าวของสหรัฐฯ ต่อพม่าที่ผ่านมานั้นประสบความล้มเหลว
“(แต่) เหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เกี่ยวกับนางอองซาน ซูจี ได้สร้างความเป็นกังวลอย่างมาก และได้ทำให้เป็นการยากสำหรับการก้าวต่อไป” นายแคมป์เบล ซึ่งเป็นนักวิชาการและอดีตนายทหารกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าว
“เรากำลังอยู่ในท่ามกลางการพิจารณาทบทวน (นโยบาย) ที่ค่อนข้างล่อแหลม.. เรากำลังมองว่าการไต่สวนและวิถีทางการก้าวต่อไปของคณะปกครองทหารนั้น จะถูกนำเข้ามาประกอบการพิจารณาตัดสินใจของเรา” นายแคมป์เบล กล่าว
อย่างไรก็ตาม นักการทูตผู้นี้ กล่าวว่า “การทบทวน” ดังกล่าวจะไม่นำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ บังคับใช้ต่อระบอบทหารพม่าติดต่อกันมาหลายปี จากการที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสูงและการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างล่าช้าในประเทศนี้
เขายังกล่าวอีกว่า พม่าเป็นหัวข้อหนึ่งที่มีการสนทนาบ่อยครั้งมากกับ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ
ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้เข้าหาศัตรูคู่แค้นในอดีต มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน หรือคิวบา นอกจากนั้นระหว่างการปราศรัยในพิธีเข้ารับตำแหน่ง ก็ยังประกาศว่า สหรัฐฯ จะหยิบยื่นมิตรไมตรีต่อผู้นำทุกคนที่ “คลายกำปั้นเหล็ก”
รัฐบาลประธานาธิบดี โอบามา ได้ประกาศจะใช้ “วิธีการที่สร้างสรรค์มากขึ้น” ต่อปัญหาพม่า ซึ่งจะต้องมีการเข้าไปทำงานอย่างใกล้ชิดกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ที่มีพม่าร่วมเป็นประเทศสมาชิกอยู่ด้วย
นายแคมป์เบล กล่าวถึงเรื่องนี้ระหว่าตอบข้อซักถามของวุฒิสมาชิก จิม เว็บบ์ (Jim Webb) ที่เป็นทั้งทหารผ่านศึกเวียดนามและนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งให้การสนับสนุนการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า
นายเว็บบ์ ได้ยกตัวอย่างเวียดนามที่ประชาคมระหว่างประเทศเข้าไปช่วยเหลือในการเปิดประเทศ ทำให้เวียดนามลดการพึ่งพาและขึ้นต่อจีนอย่างเบ็ดเสร็จ
แต่ นายเว็บบ์ ซึ่งเป็นวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต จากรัฐเวอร์จิเนีย ก็กล่าวว่า “สิ่งที่พวกเขา (พม่า) ทำกับอองซานซูจีเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ซ้ำเติมความสามารถที่จะทำให้พวกเขาสามารถออกสู่ภายนอกได้ และ อาจจะต้องพบกับการรปฏิบัติต่ออีกแบบหนึ่งจากสหรัฐฯ”
ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ มีขึ้นในขณะการพิจารณาคดีนางอองซาน ซูจี ในกรุงย่างกุ้งกำลังงวดเข้ามาทุกที โดยศาลสูงพม่าได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ หากถูกตัดสินมีความผิดผู้นำฝ่ายค้านวัย 63 ปี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2532 ก็อาจจะถูกจำคุกถึง 5 ปีไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในปีหน้า