ASTVผู้จัดการรายวัน—โครงการขยายสนามบินเมืองปากเซในระยะที่สองของลาว ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือของไทย ที่ได้ล่าช้ามาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และจะใช้เวลาอีก 8-9 เดือนที่เหลืออยู่เพื่อให้เสร็จให้ได้ในปลายปีนี้
เจ้าหน้าที่ของลาวกล่าวว่ามีหลากหลายสาเหตุของความล่าช้า รวมทั้งฝนที่ตกหนักติดต่อกัน 3 เดือนเมื่อปีที่แล้วด้วย
การพัฒนายกระดับสนามบินเพียงแห่งเดียวในภาคใต้ของลาวในเฟสที่ 2 เริ่มมาตั้งแต่เดือน มี.ค.2551 นายอนุสัก กิตติลาด หัวหน้าโครงการนี้บอกกับสื่อของทางการว่า ผ่านมา 1 ปี การก่อสร้างที่ผ่านมาเพิ่งจะแล้วเสร็จไปเพียงประมาณ 42% เท่านั้น เนื่องจากปัญหาเรื่องการนำส่งวัสดุต่างๆ การจ่ายค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการเกิดฝนตกหนักเมื่อปีที่แล้ว
ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.) โครงการขยายเพื่อยกระดับสนามบินแห่งนี้จะแล้วเสร็จในระหว่างเดือน ต.ค. 2551 กับเดือน ม.ค.2552 แต่ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวได้ทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไปอีกหนึ่งปีเต็มๆ
บริษัทก่อสร้างคือ อิตาเลียนไทยดีเวลล็อปเมนต์จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทยว่า รับปากว่าจะให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. ศกนี้ ขปล.กล่าว
เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ สนามบินปากเซจะเป็นศูนย์กลางการบินในภาคใต้ของประเทศ ในการเชื่อมการขนส่งทางอากาศกับประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม กัมพูชาและไทย โดยเครื่องบินโบอิ้ง737 กับแอร์บัส A320, A321 จะสามารถบินขึ้นลงได้
ตามสัญญาที่เซ็นกันในเดือน มี.ค.2551 อิตาเลียนไทยฯ จะขยายทางวิ่งขึ้นลงของเครื่องบินหรือรันเวย์ให้ยาวขึ้นเป็น 2,400 เมตร จาก 1,650 เมตรในปัจจุบัน และ ขยายความกว้างเป็น 45 เมตร จากในปัจจุบัน 36 เมตร
สัญญาก่อสร้างมีมูลค่า 233,999,999 บาท ยังรวมทั้งหอควบคุมการบินหลังใหม่ ความสูง 5 ชั้น (24.8 เมตร) ขยายลานจอด ขยายทางวิ่งเข้าสู่ลานจอด ติดตั้งระบบไฟสนามบินฯลฯ และ ระบบระบายน้ำอีกด้วย ขปล.กล่าว
โครงการนี้กรมการบินพลเรือนของลาวได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยรวมเป็นเงิน 320 ล้านบาท โดยผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง
จำนวน 224 ล้านบาทเป็นเงินกู้ดอกเบี้ย 1.5% ระยะเวลา 30 ปีโดยมีระยะปลอดหนี้ 10 ปี อีก 96 ล้านบาทเป็นเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ขปล.กล่าว
รัฐบาลไทยและลาวเห็นพ้องกันว่าสนามบินแห่งนี้จะเป็นประโยชน์ในการไปมาหาสู่ การขนส่งสินค้าและ ส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้าน ผู้แทนของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันลงนามสัญญาเงินกู้และเงินช่วยเหลือดังกล่าวในเดือน มี.ค. 2550 ในกรุงเทพฯ
ตามความตกลงดังกล่าว การขยายสนามบินปากเซจะใช้บริษัทที่ปรึกษาและบริษัทก่อสร้างที่เชื่อถือได้ของไทย รวมทั้งต้องซื้อสินค้าและบริการของไทยไม่ต่ำกว่า 50% ของมูลค่าวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ทำให้เกิดปัญหาในการขนส่งติดตามมา
ตามรายงานของสำนักข่าวทางการ การพัฒนายกระดับในเฟสที่สองนี้มีกำหนดดำเนินการภายในเวลา 20 เดือนหลังจากเซ็นสัญญารับความช่วยเหลือและรับเงินกู้จากรัฐบาลไทย
ปัจจุบันสนามบินปากเซสามารถรองรับได้แค่เครื่องบินขนาดเล็กบรรทุกผู้โดยสารระหว่าง 50-70 ที่นั่ง เช่น ATR72 แอนโตนอฟ-24 (AN-24) ฟ็อกเกอร์ กับ เครื่องบินแบบ MA60 ที่มีใช้เฉพาะในสายการบินลาวเท่านั้น
การบินไทยเปิดบินเส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และ เมื่อปีที่แล้วบางกอกแอร์เวย์สเปิดบินกรุงเทพฯ-ปากเซ ภายใต้แผนการบินเชื่อมแหล่งมรดกโลกไทย ลาวและกัมพูชา
แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทำให้ต้องงดเที่ยวบินจากประเทศไทยลงทั้งหมดปลายปีเดียวกัน ปัจจุบันมีเพียงการบินลาวและการบินเวียดนาม ที่มีเที่ยวบินไปลงสนามบินแห่งนี้
ตามรายงานของ ขปล. ปีงบประมาณ 2549-2550 ที่สิ้นสุดในเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวแขวงจำปาสักกว่า 165,700 คน เพิ่มขึ้น 45% ในนั้น 45,605 คนเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
จำปาสักมีปราสาทวัดพู ซึ่งเป็นปราสาทเขมรโบราณที่สร้างก่อนปราสาทนครวัด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ปัจจุบันสามารถเดินทางจาก จ.อุบลราชธานี ไปที่นั่นได้ด้วยรถโดยสารประจำทาง.