xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามเดินเครื่องโรงกลั่นแรกผลิตน้ำมันป้อนตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=6600099> ภาพแฟ้ม AFP ถ่ายวันที่ 4 มี.ค.2551 สภาพทั่วไปของโรงกลั่นยวุ๋งกว๊าต (Dung Quat) ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เวลาได้ผ่านไป 1 ปีและทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด เวียดนามเปิดเดินเครื่องโรงกลั่นแห่งแรกของประเทศอย่างเป็นทางการตั้งแต่สัปดาห์ต้นเดือน ก.พ.นี้ ก่อนกำหนดราว 15 วัน  </FONT></CENTER>

ผู้จัดการรายสัปดาห์ 360 องศา -- รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติให้โรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศเดินเครื่องได้ก่อนกำหนดครึ่งเดือน หลังจากเตรียมมาอย่างดีมีความพร้อมอย่างสมบูรณ์ โดยได้ฤกษ์เริ่มผลิตอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ก.พ.

ผู้เชี่ยวชาญกับวิศวกรของกลุ่มเตคนิป (Technip Group) ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ให้แก่โรงกลั่น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มปิโตรเวียดนาม (PetroVietnam) บริษัทน้ำมันแห่งชาติจำนวนนกว่า 700 คน ได้เฝ้าชมเครื่องจักรเดินเครื่องกลั่นน้ำมันวันละ 90,000 บาร์เรลในระยะเริ่มแรก

รัฐบาลเวียดนามลงทุน 100% ในโครงการโรงกลั่นแห่งแรกของประเทศ ใน แต่ได้ประกาศปลายปีที่แล้วเกี่ยวกับแผนการกระจายหุ้นถึง 49% แก่หุ้นส่วนยุทศาสตร์ที่สนใจ

โรงกลั่นยวุ๋งกว๊าต (Dung Quat) ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นปกติตลอดสัปดาห์แรก ปัจจุบันกำลังเพิ่มอุณหภูมิเพื่อกลั่นน้ำมันดีเซลเป็นอันดับแรก หนังสือพิมพ์แทงเนียน (Thanh Nien) รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของวิศวกรของกลุ่มบริษัทจากฝรั่งเศส

นายเหวียนฮว่าย ซยาง (Nguyen Hoai Giang) รองผู้อำนวยการของโรงกลั่นกล่าวว่า ดีเซลที่ผลิตในเวียดนามลอตแรกจะออกวางตลาดในสุดสัปดาห์กลางเดือน ก.พ.ส่วนน้ำมันเบนซินสำหรับรถยนต์ทั่วไป และน้ำมันก๊าดชนิดพิเศษที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินจะเริ่มผลิตในเดือน เม.ย.
<CENTER><FONT color=#660099> ภาพ AFP ถ่ายวันที่ 4 มี.ค.2551 เช่นเดียวกัน ผลงานการติดตั้งของกลุ่มบริษัทเต็คนิป (Technip) จากฝรั่งเศส รวมมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์ </FONT></CENTER>
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) กับรองนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่งได้ลงไปกำกับการก่อสร้างด้วยตนเองและกำชับให้ทุกฝ่ายต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกำหนดการท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เป็นแรงกดดัน

ตามกำหนดการเดิมนั้นโรงกลั่นยวุ๋งกว๊าตจะเปิดเดินเครื่องวันที่ 25 ก.พ.2552

กลุ่มปิโตรเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นแต่ผู้เดียวได้เริ่มทดลองเดินเครื่องและกลั่นน้ำมันครั้งแรกในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว โดยใช้น้ำมันดิบที่ผลิตจากหลุมบั๊กโฮ (Bac Ho) นอกชายฝั่งภาคใต้ จนกระทั่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

โรงกลั่นน้ำมันของเวียดนามจะเปิดเดินเครื่องเต็มกำลังทั้ง 14 หน่วยผลิตในสิ้นเดือน มิ.ย.ปีนี้ ซึ่งจะกลั่นน้ำมันได้รวมกัน 140,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 5.7 ล้านตันต่อปี สนองความต้องการในประเทศได้ประมาณ 30%

เวียดนามได้ลดระดับการผลิตน้ำมันดิบลงมาเรื่อยๆ ตลอดหลายปีมานี้เพื่อสำรองไว้สำหรับโรงกลั่นในประเทศ แม้ว่าจะใช้น้ำมันนำเข้าเป็นหลักก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ปิโตรเวียดนามได้เซ็นสัญญากับบริทิชปิโตรเลียม (BP Plc) บริษัทน้ำมันอังกฤษให้เป็นผู้จัดหาน้ำมันดิบให้แก่โรงกลั่นยวุ๋งกว๊าตอีกรายหนึ่ง ก่อนหน้านั้น ได้เซ็นสัญญากับบริษัทสัญชาติอเมริกันอีก 2 แห่งเพื่อการเดียวกันนี้

นายหวูฮวีหว่าง (Vu Huy Hoang) รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่า ปีนี้การส่งออกน้ำมันดิบซึ่งเป็นรายได้อันดับหนึ่งของประเทศ อาจจะลดลง 13.7% เหลือเพียงประมาณ 12 ล้านตัน ขณะที่มูลค่าส่งออกอาจจะลดลงถึง 56% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมาก
<CENTER><FONT color=#660099> ภาพ AFP ถ่ายวันที่10 พ.ค.2551 นายกรัฐมนตรีเวียดนามเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ปราศรัยในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงกลั่นหงิเซิน (Nghi Son) ใน จ.แท็งฮว๊า (Thanh Hoa) ทางภาคกลางตอนบน โรงกลั่นมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์ ของกลุ่มคูเวตปิโตรเลียม กับอิเดะมิตสึโกซานและมิตซูบิชิเคมีคัล มีกำหนดเปิดเดินเครื่องในปี 2555 </FONT></CENTER>
โครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของเวียดนาม เริ่มบรรจุเข้าแผนพัฒนามาเป็นเวลานาน ตามกำหนดการเดิมนั้นจะเริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2538 แต่นักลงทุนต่างชาติได้ถอนตัว ทำให้แผนการต้องเลื่อนมาจนกระทั่งปี 2548

โรงกลั่นยวุ๋งกว๊าต มูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์ ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติที่มองว่า ขณะที่บ่อก๊าซและน้ำมันของประเทศอยู่ทางตอนใต้สุด โรงกลั่นกลับอยู่ห่างออกไปกว่า 1,000 กิโลเมตรในภาคกลาง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมีนโยบายที่จะให้โรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกตั้งอยู่ในภูมิภาคที่ทุระกันดารมากที่สุดของประเทศ และได้เลือก จ.กว๋างหงาย (Quang Nhai) เป็นทำเล

ตามรายงานของสื่อทางการปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษยวุ๋งกว๊าต (Dung Quat Special Economic Zone) กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนผลิตอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งจะต้องใช้ผลผลิตจากโรงกลั่น และกำลังจะมีการจ้างงานหลายหมื่นตำแหน่งในไม่กี่ปีข้างหน้านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น