ASTV ผู้จัดการออนไลน์-- สื่อต่างๆ รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาได้ตั้งคำถามกับรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งว่า เพราะเหตุใดเมื่อปีที่แล้วจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มขึ้น แต่รายได้ที่จัดเก็บเป็นค่าเข้าชมเขตโบราณสถานนครวัดกลับลดลงสวนทางกัน เงินจำนวนนี้รั่วไหลไปไหนอย่างไรหรือไม่
มีการถามคำถามเช่นนี้ทุกปีภายใต้ระบบที่รัฐบาลได้มอบให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคณะผู้นำ เป็นผู้จัดเก็บรายได้และบริหารจัดการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่เข้าชมปราสาทนครวัด ปราสาทบายนกับปราสาทเก่าแก่รวมทั้งโบราณสถานอื่นๆ หลายสิบแห่ง
เจ้าหน้าที่องค์การอัปสรา (Apsara) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลเขตโบราณสถานเมืองพระนคร (Angkor Wat) และเมืองมหานคร (Angkor Thom) กล่าวว่ายอดจำหน่ายตั๋วเข้าชมในปี 2551 จะอยู่ระหว่าง 30-31 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยจาก 32 ล้านดอลลาร์ในปี 2550
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพ (Koh Santepheap) ภาษาเขมร ปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเข้าชมเขตโบราณสถานโดยไม่ต้องซื้อตั๋ว เนื่องจากเป็นแขกของรัฐบาล และองค์การอัปสราจะยังไม่เปิดเผยตัวเลขอันแท้จริง จนกว่าจะสามารถตกลงยอมรับกันได้กับกระทรวงการท่องเที่ยว
เจ้าหน้าที่องค์การอัปสรากล่าวย้ำว่า หน่วยงานนี้ไม่ได้จำหน่ายตั๋ว แต่กลุ่มโรงแรมสุขะ (Sokha Hotel Group) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลให้ดำเนินการเรื่องนี้โดยคิดค่าภาคหลวงแบบเหมารวม โดยมีเงื่อนไขอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
ออกญาโสกกง (Oknha Sok Kong) เจ้าของกลุ่มโรงแรมสุขะ เป็นชาวกัมพูชาเชื้อสายเวียดนามที่มีความใกล้ชิดกับสมเด็จฯ ฮุนเซนนายกรัฐมนตรี จึงยิ่งทำให้ความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องรายได้ขยายออกไปเป็นวงกว้างประจำทุกปี
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจนี้จำหน่ายบัตรค่าเข้าชมนครวัดใน 3 อัตราคือ 20 ดอลลาร์สำหรับการเที่ยวชม 1 วัน 40 ดอลลาร์สำหรับ 3 วัน และ 60 ดอลลาร์สำหรับเวลา 1 สัปดาห์เพื่อเข้าชมทั่วทั้งอาณาบริเวณซึ่งคลุมพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร
ตามระเบียบข้อตกลงที่ปฏิบัติกันมานั้น เงินรายได้หลังหักภาษี 3 ล้านดอลลาร์แรกจะแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน โดยกลุ่มโรงแรมสุขะจะมอบให้แก่องค์การอัปสราครึ่งหนึ่ง
จากนั้น 15% ของรายได้ที่เหลือจะถูกหักเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาเขตโบราณสถาน อีก 68% นำเข้าองค์การอัปสรา และ 17% เป็นค่าตอบแทนสำหรับเอกชนเจ้าของสัมปทาน เงินส่วนใหญ่ของรายได้หลังหักภาษีที่องค์การอัปสราเป็นผู้รับนั้น จะนำเข้าส่งคลังหลวงทั้งหมด สื่อกัมพูชากล่าว
นายทองคูน (Thong Khon) รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว กล่าวก่อนหน้านี้ว่าในปี 2551 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ากัมพูชาเพิ่มขึ้น 5.48% คิดเป็นจำนวน 2.12 ล้านคน ไม่มีการลดแม้ว่าอัตราเพิ่มจะต่ำกว่าความคาดหมายก็ตาม
การท่องเที่ยวเป็นแขนงเศรษฐกิจที่นำรายได้เข้าประเทศมากเป็นอันดับสาม รองจากอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกและการก่อสร้าง
การศึกษาของหลายฝ่ายได้พบว่านักท่องเที่ยวใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 700 ดอลลาร์ระหว่างเดินทางและพำนักในกัมพูชา โดยไม่นับรวมค่าตั๋วเครื่องบิน เพราะฉะนั้นในปี 2550 ประเทศจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1,400 ล้านดอลลาร์
ถ้าหากคิดคำนวณตามกฎเกณฑ์นี้ปี 2551 กัมพูชาจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาล
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกล่าวก่อนหน้านี้ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีในช่วงปีใกล้ๆ นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2550 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นแตะ 2 ล้านเป็นครั้งแรก
รายได้ต่างๆ เหล่านี้เป็นค่าวีซ่าเข้าประเทศ ค่าโรงแรมหรือบ้านพัก ค่าอาหารภาษีต่างๆ ค่าของที่ระลึกและรายการอื่นๆ รวมทั้งค่าตั๋วเข้าชมโบราณสถานครวัด ในนั้นจำนวนไม่น้อยไหลเข้ากระเป๋าของราษฎรชาวกัมพูชาโดยตรง
การศึกษาก่อนหน้านี้ได้พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ากัมพูชา เกือบทั้งหมดจะไปเที่ยวชมปราสาทนครวัด ที่เคยเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ในโลกยุคใหม่ ตามคำกล่าวขานที่ว่า "ต้องไปเห็นนครวัดก่อนตาย" (See Angkor Wat and die)
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจกล่าวว่า ถึงแม้รายได้จากการท่องเที่ยวจะเพิ่มทุกปีก็ตาม แต่ราว 30% จะต้องจ่ายเป็นค่านำเข้าสินค้าต่างๆ เพื่อการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือสิ่งของเครื่องใช้ เนื่องจากภัตตาคารกับโรงแรมต่างๆ ส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะซื้อสิ่งของที่ผลิตในประเทศสำหรับให้บริการแก่ลูกค้าหรือพัก
พรรคฝ่ายค้านกล่าวว่า การจำหน่ายตั๋วเข้าชมเขตโบราณสถานนครวัดนั้นยังขาดความโปร่งใส ไม่มีผู้ใดหน่วยงานใดสามารถตรวจสอบได้ว่า แต่ละปีมีการจำหน่ายจริงๆ เท่าไร ซึ่งได้ทำให้เกิดความคลางแคลงสงสัยมาตลอดว่า เงินจำนวนมากอาจจะถูกดูดไปเข้ากระเป๋านักการเมืองพรรครัฐบาล
นายสนชัย (Son Chhay) กล่าวว่า ในแต่ละปีรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมเขตโบราณสถานจะสูงถึง 60 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้เป็นการคิดคำนวณของผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว และจากการศึกษาด้วยความสนใจเป็นการส่วนตัวที่ลงพื้นที่หลายครั้ง
สส.พรรคสมรังสีผู้นี้กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2548 ที่กลุ่มสุขะได้รับสัมปทานเขช้าดำเนินการ รายได้จากการจัดเก็บลดลงทุกปีโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการพัฒนาเขตโบราณสถานให้เห็นอย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องไม้เครื่องมือหรือบริการ
พรรคฝ่ายค้านได้เรียกร้องมาตลอดให้รัฐบาลเข้าจัดการเรื่อวงรายได้จากการเข้าชมนครวัดเอง ไม่ปล่อยให้บริษัทเอกชนจัดการเช่นในปัจจุบัน และจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการให้สามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้มีหลักประกันว่ารัฐจะได้รับค่าตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีการรั่วไหล
เมื่อปีที่แล้วสมเด็จฯ ฮุนเซน ได้ตอบคำถามเรื่องนี้ในรัฐสภา เน้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างโปร่งใส แต่ก็ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรนับตั้งแต่นั้น.