ASTVผู้จัดการรายวัน-- นายกรัฐมนตรีกัมพูชาสมเด็จฯ ฮุนเซน ได้พบเจรจาข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีคูเวต เช็คมัสเซอร์ อัล-โมฮัมหมัด อัล-อาห์หมัด อัล-ซาบาห์ วันอังคาร (13 ม.ค.) ที่ผ่านมา ในวันแรกของการเนือนประเทศร่ำรวยด้วยน้ำมันดิบแห่งตะวันออกกลาง ซึ่งสองฝ่ายมีการเซ็นเอกสารความร่วมมือจำนวน 4 ฉบับ
ตามรายงานของสำนักข่าวเอเคพี (Agence Kampuchean-Presse) ซึ่งอ้างรายงานของสำนักข่าวกลางคูเวต (KUNA) รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องของคูเวตได้นำคณะเข้าหารือกับคณะจากกัมพูชาในวันเดียวกัน และสองฝ่ายได้ร่วมกันลงนามในบันทึกช่วยความเพื่อความเข้าใจจำนวน 2 ฉบับ
สิองฝ่ายได้ร่วมลงนามในบันทึกฯ ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานปิโตรเลียม กับการแลกเปลี่ยนแรงงาน ซึ่งจะเป็นการเปิดทางให้คนงานจากกัมพูชาได้เข้ารับการฝึกอบรมจากความช่วยเหลือของรัฐบาลคูเวต เพื่อกลับไปทำงานในประเทศนั้น
ยังไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองฝ่าย ขณะที่ทางการกัมพูชาได้เคยแสดงความหวังอย่างสูงว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากคูเวตในการพัฒนาการสำรวจหาน้ำมันและก๊าซในแหล่งอ่าวไทยและแหล่งบนบก อันเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ในกัมพูชา
ความตกลงจำนวน 2ฉบับที่เซ็นกันเมื่อวันอังคารประกอบด้วยความร่วมมือด้านการบิน พลเรือน เพื่อเปิดทางให้กับเที่ยวบินเชื่อมระหว่างสองประเทศ กับความตกลงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยนายทองคูน (Thing Khone) รัฐมนตรีการท่องเที่ยวกัมพูชาร่วมลงนามกับ นายอาห์หมัด บาเคอร์ (Ahmad Baqer) รับมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมคูเวต สำนักข่าวของทางการกล่าว
กัมพูชาหวังว่าการมีเที่ยวบินจากคูเวตและความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวจะเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับปราสาทนครวัดกับโบราณสถานเก่าแก่ใน จ.เสียมราฐ ซึ่งที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางเดือนทางไปเที่ยวจำนวนชมน้อยมาก
สมเด็จฯ ฮุนเซนกำลังเยือนคูเวตเป็นเวลา 4 วันจนถึงวันที่ 16 ม.ค.นี้ เป็นการเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจมานาน 23 ปี ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะนำภาคเอกชนเข้าหารือกับภาคเอกชนของคูเวตด้วย ตามแผนการดึงดูดการลงทุนจากตะวันออกกลาง
นายฮอร์นัมฮอง (Hor Nam Hong) รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชากล่าวก่อนออกเดินทางว่า สมเด็จฯ ฮุนเซน มีกำหนดหารือกับฝ่ายคูเวตเกี่ยวกับการลงทุนด้านการผลิตการเกษตรในกัมพูชาด้วย
เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีคูเวต ได้เดินทางเยือนสันถวะไมตรีกัมพูชา กับประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ ซึ่งมีการลงนามความตกลงด้านการค้ากับฝ่ายกัมพูชา และฝ่ายหลังตกลงที่จะให้เช่าที่ดินปลูกข้าว
ในเดือนเดียวกันคูเวตได้ประกาศให้เงินกู้แก่กัมพูชาจำนวน 546 ล้านดอลลาร์ สำหรับก่อสร้างระบบชลประทาน สร้างถนนเข้าสู่หมู่บ้านต่างๆ ในเขตนาข้าว รวมทั้งสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า และ สร้างถนน ในชนบท
กัมพูชามีความหวังว่าคูเวตซึ่งเป็นประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมน้ำมัน ที่กำลังได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่กลุ่มเชฟรอน (Chevron Corp) พบน้ำมันดิบที่แปลงสัมปทานในอ่าวไทย
ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับความตกลง "เงินจากน้ำมันแลกข้าว" ในการหารือเมือวันอังคาร.