xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดใหญ่โตเร็วผู้ผลิตโน้ตบุ๊กแห่เข้าเวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#cc00cc>เฟื่องฟูมาก-- เยาวชนและนักศึกษาเวียดนามจำนวนมากทดลองใช้บริการอินเทอร์เน็ตฟรี ในงาน IT Week ที่จัดขึ้นในกรุงฮานอยในวันพฤหัสบดี ถึงแม้ว่ากำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง แต่ยอดขายอุปกรณ์ไอทีในเวียดนามเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล็ปท็อปมียอดขายแซงหน้าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะไปไกลลิบ (ภาพ: AFP)</FONT></CENTER>

ผู้จัดการออนไลน์-- เงินเฟ้ออัตราสูงกำลังรบกวนความสุขในชีวิตประจำวันของชาวเวียดนามและส่งผลให้ยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคเกือบทุกชนิดตกต่ำลง แต่ก็มีสิ่งหนึ่งในนั้นที่เติบโตสวนกระแสคือ "แล็ปท็อป" หรือ โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์

การเติบโตของ "ของเล่นราคาแพง" ในตลาดที่มีประชากร 86 ล้านคนแห่งหนี้ กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิด จากบรรดาผู้ผลิตรายใหญ่ ทั้งที่เป็นเจ้าของแบรนด์เนมระดับโลกและผู้ผลิตสินค้าโออีเอ็ม (OEM)

ล่าสุด หลังจากลังเลมานาน เมื่อเร็วๆ นี้ เดลล์คอมพิวเตอร์ (Dell Computer) จากสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนการเข้าผลิตในจีนและเวียดนามอย่างเป็นทางการ

**มหัศจรรย์แห่งตลาด**

ผู้ค้าคอมพิวเตอร์ในเวียดนามพบว่ายอดขายคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (desktop) ได้หดตัวอย่างรุนแรงในปีนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ได้เห็นโน้ตบุ๊กมียอดขายเติบโตกว่า 30% ด้วยยอดนำเข้าถึง 116,000 เครื่องในระหว่างเดือนพ.ค.-ส.ค.ปีนี้ อันเป็นช่วงที่สินค้าไอทีขายดีที่สุด

บริษัทฟายแนนเชียลโปรโมชั่นแอนด์เทรด (Financial Promotion & Trade) หรือ FPT ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ และเป็นผู้จำหน่ายสินค้าไอทีรายใหญ่ที่สุดของประเทศกล่าวว่า ยอดนำเข้าในช่วง 3 เดือนดังกล่าว เป็นจำนวนเท่าๆ กับที่นำเข้าทั้งปีเมื่อปีที่แล้ว

"ปีนี้ยอดขายในเซ็กเมนต์นี้น่าจะโตถึง 35%" นายบ่างแท็ง (Bang Thanh) หัวหน้าฝ่ายสินค้ายุทธศาสตร์ของ FPT กล่าวกับหนังสือพิมพ์เตี่ยนฟง (Tien Phong) เมื่อเร็วๆ นี้

ผู้จำหน่ายรายอื่นๆ ก็เห็นตัวเลขไม่ต่างกัน
<CENTER><FONT color=#cc00cc> ผู้เข้าชมงานรายนี้กำลังทดลองใช้เครื่องพีซีที่ประกอบในประเทศ ในงาน  IT Week ที่เริ่มขึ้นในวันพฤหัสบดี (30 ต.ค.) แต่ยอดขายเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะตกลงอย่างมากในปีนี้ ผู้ประกอบการต้องนำออกขายเป็นลอตใหญ่ราคาถูกสำหรับหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้าง  (ภาพ: AFP)</FONT></CENTER>
การพุ่งโลดของยอดจำหน่ายโน้ตบุ๊กเกิดขึ้นในช่วงที่ราคาเริ่มลดลง โดยโน้ตบุ๊กแบรนด์เนมที่ได้รับความนิยมสูงสุดราคาจะอยู่ระหว่าง 500-600 ดอลลาร์ ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 40%

รองลงไปเป็นโน้ตบุ๊กราคาระหว่าง 650-800 ดอลลาร์ ซึ่งครองตลาด 21.6% ขณะที่โน้ตบุ๊กระดับไฮเอ็นด์ราคา 800-1,000 ดอลลาร์ มียอดจำหน่ายคิดเป็นเพียง 9.8% ของทั้งตลาด

นักวิเคราะห์กล่าวว่าราคาที่ลดลงและสินค้ามีให้เลือกมากขึ้นในปีนี้ ได้เป็นสิ่งกระตุ้นให้ยอดขายโน้ตบุ๊กในตลาดใหญ่เวียดนาม ขยายตัวต่อไปในปีหน้าด้วย

หลายปีมานี้ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กรายใหญ่จากไต้หวัน และสหรัฐฯ ได้ทยอยเข้าตั้งโรงงานในเวียดนาม โดยหวังจะได้ใช้ประโยชน์จากไมโครชิปจากโรงงานของบริษัทอินเทล (Intel Corp) ในนครโฮจิมินห์ที่จะเริ่มผลิตปีหน้า

ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการนั้น เอชพี (Hewlett-Packard) เป็นยี่ห้อที่มีการนำเข้ามากที่สุด คิดเป็นอัตราการขยายตัว 38% อันดับสองเป็นยี่ห้อเอเซอร์ (Acer) ซึ่งมีอัตราเติบโตใกล้เคียงกันคือนำเข้าเพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว

อันดับสามเป็นยี่ห้อเลโนโว-ไอบีเอ็ม (Lenovo-IBM) ซึ่งยอดนำเข้าขยายตัว 15%

**เดสค์ท็อปเหยื่อสังเวย**

ตามรายงานของบริษัทดิจิเวิลด์ (DigiWorld) ซึ่งเป็นผู้ค้าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะรายใหญ่รายหนึ่งในเวียดนาม ยอดขายของยี่ห้อต่างๆ ลดลงอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ประกอบในประเทศยอดขายดิ่งลง 65%

คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะแบรนด์เนมระดับโลก รวมทั้งที่ประกอบในประเทศ ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดเวียดนามโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เอชพี เอเซอร์ เดลล์ แม้ว่ายอดจำหน่ายในปีนี้จะดิ่งลง 15% ก็ตาม
<CENTER><FONT color=#cc00cc> หนุ่มๆ นักศึกษากลุ่มนี้เข้าร่วมการแข่งขันประชัญความคิดโครงการสร้างสรรค์ด้านไอที ระหว่างไปร่วมงาน IT Week เมื่อวันพฤหัสบดี (30 ต.ค.) นักเรียนนักศึกษาเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของโน๊ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ แบรนด์ดังของต่างประเทศได้รับความนิยมสูงสุเด (ภาพ: AFP)</FONT></CENTER>
ตามรายงานของ FPT ในช่วงแปดเดือนแรกของปีนี้มีการนำเข้าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเพียง 7,000 เครื่อง ลดลง 8.5% เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว

ในช่วงสองเดือนระหว่าง ก.ค.-ส.ค.อันเป็นช่วงก่อนเปิดภาคเรียนของสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งผู้นำเข้าและผู้ประกอบคอมพิวเตอร์ในประเทศหวังจะได้เห็นการขายแบบถล่มทลายนั้น ทุกอย่างกลับผ่านไปอย่างเศร้าสร้อย เนื่องจากยอดจำหน่ายตกวูบลงถึง 45% เทียบกับช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ปี 2550

ผู้ผลิตและประกอบในประเทศต้องหาทางระบายสินค้าตกค้างเหล่านั้นให้แก่ลูกค้าประเภทจัดซื้อจัดจ้างรายใหญ่ในราคาทุน เตี่ยนฟงกล่าว

**เดลล์ขยับช้าไปหลายก้าว**

เวียดนามได้กลายเป็นตลาดมหัศจรรย์สำหรับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แต่เรื่องนี้เป็นที่คาดกันมาก่อน ซึ่งทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่เคลื่อนเข้าไปก่อนหน้านี้ ในขณะที่เดลล์คอมพิวเตอร์ เพิ่งขยับตัว

ผู้บริหารบริษัทเดลล์ประกาศในนครเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 22 ต.ค. ว่า กำลังหมายตาจีนกับเวียดนามสำหรับแผนขยายการผลิต โดยมองเห็นตลาดใหญ่ที่มีประชากร 1,300 ล้านกับ 86 ล้านคน ขณะที่เศรษฐกิจของสองประเทศยังมีศักยภาพที่จะเติบโตในอัตราสูงต่อไป

ตามรายงานของไอดีซี (IDC) ยอดส่งออกสินค้าของเดลล์แห่งสหรัฐฯ เข้าสู่ประเทศในย่านเอเชียแปซิฟิกขยายตัว 35% ในไตรมาสที่สามของปีนี้

ขณะที่สินค้าของเลโนโวกับเอชพีครองตลาดย่านนี้ 18.9% และ 14.5% ตามลำดับ สินค้าของเดลล์มีส่วนแบ่งเพียง 9% เท่านั้น มีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก

**สวรรค์ของโน้ตบุ๊ก OEM**

ปลายปี 2551 อินเทลคอร์ป ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกได้ประกาศเพิ่มการลงทุนในเวียดนามจากเดิมเพียง 601 ล้านให้เป็นกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์และได้แก้ไขเงื่อนไขการลงทุนใหม่จากสองเฟสในระยะห้าปีกลายเป็นเฟสเดียว รวดเดียวจบ
<CENTER><FONT color=#cc00cc>โน๊ตบุ๊กของเดลล์ได้รับความนิยมมากทีเดียวในตลาดเวียดนาม บริษัทนี้กำลังตั้งหน้าเข้าแย่งเค้กในตลาดเอเชียแปซิฟิกขนานใหญ่  หลังจากช้าไปหลายก้าว</FONT></CENTER>
อินเทลเริ่มลงเข็มก่อสร้างโรงงานในเขตอุตสาหกรรมไฮเท็คนครโฮจิมินห์มาตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีแผนจะเปิดดำเนินการปลายปี 2552 ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิต ประกอบและทดสอบชิปทันสมัยที่สุดและใหญ่ที่สุดของอินเทล

การเคลื่อนเข้าเวียดนามของผู้ผลิตชิปรายใหญ่ได้ทำให้ผู้ประกอบการไอทีทั้งหลายในภูมิภาคนี้ไหวตัวตาม และ หลายรายเข้าไปยึดหัวหาดเรียบร้อยแล้ว

ในเดือน ก.พ.2551 บริษัทคอมพาลอิเล็กทรอนิกส์อินช์ (Compal Electronics Inc) จากไต้หวันได้ประกาศแผนการตั้งสายประกอบการผลิตโน้ตบุ๊กมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ในภาคเหนือเวียดนาม และมีกำหนดเปิดทดลองเดินเครื่องก่อนสิ้นปีนี้

เมื่อโรงงานแล้วเสร็จและเดินเครื่องได้เต็มพิกัดคอมพาลจะผลิตโน้ตบุ๊กให้แก่ลูกค่าแบรนด์เนมต่างๆ ได้ปีละประมาณ 1 ล้านเครื่อง

ในปี 2550 คอมพาลซึ่งเป็นผู้ผลิตโออีเอ็มรายใหญ่แห่งหนึ่งมียอดจำหน่ายโน้ตบุ๊กทั่วโลกประมาณ 22.6 ล้านเครื่อง ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าววีเอ็นเอ

แต่คอมพาลก็มิใช่เพียงเจ้าเดียว หนึ่งเดือนก่อนหน้านั้นบริษัทควอนต้าคอมพิวเตอร์อินซ์ (Quanta Computer Incorporated) ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กรายใหญ่ที่สุดของโลก จากไต้หวันได้ประกาศย้ายฐานผลิตจากจีนเข้าเวียดนามเช่นเดียวกัน

ควอนต้าซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญที่สุดของคอมพาลไม่เพียงแต่จะผลิตโน้ตบุ๊กเท่านั้น แต่ยังรับจ้างผลิตสินค้าอิเลกทรอนิกส์อื่นๆ ให้แก่ยี่ห้อดังระดับโลกอีกด้วย

ลูกค้าสำคัญของควอนต้ายังรวมทั้ง เดลล์ คอมแพ็ก (Compaq) เจอริคอม (Gericom) แอปเปิ้ลอินซ์ (Apple Inch) เอชพี ไอบีเอ็ม โซนี่ ชาร์ป โตชิบา ฟูจิตสึ แม็กซ์ดาต้า (Maxdata) รวมทั้งซีเมนส์เอจี (Seimens AG) จากยุโรปอีกด้วย

ทั้งคอมพาลและควอนต้าต่างให้เห็นเหตุผลว่า การเคลื่อนเข้าเวียดนามเป็นการกระจายความเสี่ยง ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานในจีนสูงขึ้นปีละ 20-25%

สินค้าหลายชนิด หลากยี่ห้อ รวมทั้งโน้ตบุ๊กแบรนด์เนมต่างๆ กำลังจะประทับตรา Manufactured in Vietnam แทน Made in China ในเร็วๆ นี้.

(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฉบับวันที่ 3-8 พ.ย.2551)
กำลังโหลดความคิดเห็น