xs
xsm
sm
md
lg

แอบดู"บันทึกภายใน"ไมโครซอฟท์ เขียนโดยผู้รับช่วงต่อ"บิลเกตส์" (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากถูกวางตัวให้รับช่วงตำแหน่งประธานฝ่ายสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ต่อจากบิล เกตส์มานานนับปี "เรย์ ออซซี่ (Ray Ozzie)"ยังไม่เคยออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อใดเลยว่า เขาจะนำทางธุรกิจซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ไปในทิศทางใด ทิศทางที่จะทำให้ยักษ์ซอฟต์แวร์อย่างไมโครซอฟท์ยังอยู่บนเก้าอี้"เบอร์หนึ่ง"ในตลาดโลกท่ามกลางยุคที่ซอฟต์แวร์กำลังจะตาย และเป็นทิศทางต่อกรกับยักษ์อินเทอร์เน็ตอย่างกูเกิล ที่ขยายอาณาเขตมาดึงลูกค้าออกจากกระเป๋าไมโครซอฟท์ โดยมี"บริการซอฟต์แวร์บนเว็บไซต์"ราคาแสนถูกเป็นเครื่องมือชั้นยอด

ออซซี่นั้นเขียนบันทึกภายในให้พนักงานไมโครซอฟต์เพื่ออธิบาย 3 แนวทางหลักซึ่งถูกระบุว่าจะเป็นเข็มทิศนำทางกลยุทธ์บริการต่างๆของไมโครซอฟท์นับจากนี้ ซึ่งจะมีผลต่อการออกแบบและพัฒนาบริการของทุกแผนกในไมโครซอฟท์ บางส่วนของบันทึกภายในชิ้นนี้ถูกนำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์เทคครันช์ ได้รับความสนใจจากชาวไซเบอร์มากมาย

ออซซี่ยกเรื่องความสำคัญของเว็บไซต์เป็นแนวทางแรก ระบุว่าบริการลิงค์ (linking) แชร์ไฟล์ (sharing) จัดอันดับ (ranking) และบริการอื่นๆในเว็บไซต์เครือข่ายชุมชนออนไลน์กำลังมีความสำคัญเหมือนเมนูไฟล์ (File) แก้ไข (Edit) มุมมอง (View) และเมนูอื่นๆในซอฟต์แวร์ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ออซซี่เชื่อว่า คอนเซ็ปต์ "My Computer" จะสามารถพัฒนาให้เป็นเครือข่ายอุปกรณ์ ผู้ใช้สามารถจัดการข้อมูลอุปกรณ์ไฮเทคทุกชิ้นในครอบครองได้ผ่านเว็บไซต์โดยไม่ต้องใช้ My Computer เป็นประตูในการดึงข้อมูลทุกครั้งเช่นที่ผ่านมา

ดูเหมือนว่าแนวทางนี้จะทำให้ไมโครซอฟท์เปิดตัวบริการ Live Mesh เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นบริการที่โยงใยบริการตระกูล Live บนอินเทอร์เน็ตของไมโครซอฟท์เข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถใช้งานได้บนอุปกรณ์พกพานานาชนิดแบบลื่นไหลไม่มีสะดุด

แนวทางที่สอง ออซซี่อธิบายปรากฏการณ์ที่ธุรกิจมากมายมีใจโอนเอนเข้าหาบริการบนเว็บไซต์ ว่าเป็นเพราะพลังของ"ทางเลือก" ทางเลือกที่ธุรกิจเหล่านี้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่า แปลว่าซอฟต์แวร์ที่ดีควรมีทางเลือกให้ผู้ใช้

จะให้ดีต้องมีทางเลือก


"ขณะนี้องค์กรธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงโครงข่ายไอทีในองค์กรครั้งใหญ่ จากการใช้คอมพิวเตอร์แม่ข่ายหรือเซิร์ฟเวอร์ให้บริการแอปพลิเคชันโดยเฉพาะซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก มาเป็นการใช้เทคโนโลยีจำลองฮาร์ดแวร์เสมือน (virtualization) ทำให้องค์กรเหล่านี้สามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้จากศูนย์ข้อมูลหรือ data center เมื่อถูกผลักดันจากความต้องการมหาศาลในงานบริการลูกค้าของแต่ละองค์กร คุณค่าของรูปแบบการประมวลผลแบบสาธารณะประโยชน์นี้จึงเห็นได้ชัดเจนที่สุดในบริการบนอินเทอร์เน็ต"

ออซซี่ระบุว่า ซอฟต์แวร์ซึ่งสร้างมาเพื่อเครื่องเซิร์ฟเวอร์หรืองานบริการที่มีระดับความสำคัญสูง ควรจะมี"ทางเลือก"และความยืดหยุ่นเพื่อให้การพัฒนา การทำงาน การเปลี่ยนแปลง และการจัดการร่วมกับระบบงานมากมายที่มีในองค์กรนั้นๆ ซึ่งเป็นระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการศูนย์ข้อมูลองค์กรและโลกอินเทอร์เน็ต

นักพัฒนาต้องยืนตรงไหน


แนวทางที่สาม ออซซี่ฟันธงว่าสำหรับนักพัฒนา แอปพลิเคชันต่างๆจะเกาะเกี่ยวกันอย่างหลวมๆภายในอินเทอร์เน็ตและโลกของนานาอุปกรณ์

"รูปแบบการออกแบบแอปพลิเคชันทั้งในส่วนระบบหน้าบ้านและหลังบ้านกำลังถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นเพียงการประกอบเข้าด้วยกัน หลายแอปพลิเคชันไม่เข้าไปผูกติดกับระบบปฏิบัติการ" ผลจากความสำคัญของมาตรฐานเทคโนโลยีและความสามารถในการทำงานร่วมกัน

ออซซี่มองว่า ในยุคซึ่งมีทางเลือกมากมายในการส่ง"เว็บเบราเซอร์"ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันประตูสู่อินเทอร์เน็ตถึงผู้ใช้เช่นปัจจุบัน นักพัฒนาจำเป็นต้องสร้างแอปพลิเคชันที่สามารถปูเส้นทางโยงใยเครือข่ายอุปกรณ์เหล่านี้แบบไร้รอยต่อไม่มีสะดุด ด้วยการทำชุดเครื่องมือ ภาษา ความเร็วในการทำงาน และรูปแบบการทำงานให้เป็นประโยชน์ ซึ่งล้วนเป็นชุดเครื่องมือพื้นฐานหรือ common toolset ของนักพัฒนาโปรแกรม

ออซซี่อธิบายว่า เว็บเบราเซอร์ในคอมพิวเตอร์พีซีนั้นมีลักษณะเฉพาะในเรื่องความสามารถในการเชื่อมต่อ ความสามารถในการเคลื่อนที่ และความสามารถในการจัดเก็บข้อมูล ขณะเดียวกันเว็บเบราเซอร์ในโทรศัพท์มือถือก็มีลักษณะเฉพาะในความสามารถเคลื่อนที่ที่น่าทึ่งกว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้นักพัฒนาจำเป็นต้องใช้ชุดเครื่องมือพื้นฐานเพื่อเชื่อมโลกอินเทอร์เน็ตเข้าสู่เซิร์ฟเวอร์ขององค์กร และทอดสะพานข้ามจากเครื่องพีซีไปยังโทรศัพท์มือถือ

นี่คือ 3 แนวทางหลักซึ่งหลายคนเชื่อว่าไมโครซอฟท์เดินตามเส้นทางนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ต้องรอดูผลต่อไปว่าออซซี่จะพาไมโครซอฟท์ถึงฝั่งฝันหรือไม่ สำหรับผู้ติดตามนโยบาย"เดินคนเดียว"ไม่ยุ่งเกี่ยวยาฮู ขออนุญาตยกยอดไปบทความถัดไป

คลิกเพื่ออ่าน "แอบดู"บันทึกภายใน"ไมโครซอฟท์ เขียนโดยผู้รับช่วงต่อ"บิลเกตส์" (1)
กำลังโหลดความคิดเห็น