xs
xsm
sm
md
lg

“ฮุนเซน” ใส่เกือกวิจารณ์พันธมิตรฯ ยึดทำเนียบ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#FF0000> มาดคนโต-- สมเด็จฯ ฮุนเซน ออกท่าทางระหว่างให้สัมภาษณ์ หลังการพบหารือกับนายจอห์น นีโกรปอนตี (John Negroponte) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในกรุงพนมเปญเมื่อวันจันทร์ (15 ก.ย.) วันเดียวกับที่สำนักข่าวของทางการรายงานว่า นายกฯ กัมพูชาวิจารณ์การเมืองไทยอย่างเผ็ดร้อน (ภาพ: Reuters) </FONT></CENTER>

ผู้จัดการออนไลน์ - นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน ได้กล่าววิจารณ์ สภาพการณ์เมืองในประเทศไทย โดยระบุว่ามีแต่ในประเทศนี้เท่านั้นที่ปล่อยให้ผู้ชุมนุมประท้วงบุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ภาพพจน์ของประเทศอาเซียนทั้งกลุ่ม

สมเด็จฯ ฮุนเซน ยังวิจารณ์นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนว่าที่ผ่านมาชอบพูดถึงเหตุการณ์ในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ แต่ไม่ยอมปริปากพูดถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยที่กำลังปั่นป่วนขณะนี้

สมเด็จฯ ฮุนเซน พูดเรื่องนี้กับผู้สื่อข่าวในกรุงพนมเปญในวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเคพี (Agence Kampuchean-Presse) ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาล

นายกฯ กัมพูชา กล่าวว่า ยังไม่เคยได้ยินเลขาธิการอาเซียนซึ่งเป็นชาวไทย พูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยว่าอย่างไร ในขณะที่ชอบวิจารณ์การเมืองในประเทศอื่นมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพม่า ซึ่งเลขาฯ อาเซียน "พูดถึงมากเหลือเกิน"

สมเด็จฯ ฮุนเซนยังได้แสดงความกังวลต่อขบวนการเตรียมการประชุมสุดยอดกลุ่มอาเซียนปลายปีนี้ ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยปรึกษาหารือกับประเทศสมาชิกอื่น รวมทั้งกัมพูชาเองด้วย

สมเด็จฯ ฮุนเซนกล่าวอีกว่ามีแต่ประเทศไทยเท่านั้น ที่ผู้ประท้วงเข้าไปควบคุมทำเนียบรัฐบาลได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องประหลาดมาก สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยเท่านั้น หากยังกระทบถึงภาพพจน์ของอาเซียนทั้งกลุ่มด้วยเอเคพีกล่าว

กลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยบรูไน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม ทั้งนี้เป็นการเรียงลำดับชื่อตามตัวอักษร ประเทศไทยได้เข้าทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการประจำกลุ่มอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

สมเด็จฯ ฮุนเซน เป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชาตลอด 23 ปีที่ผ่านมาโดยไม่มีการสะดุด ตั้ง
แต่ในรัฐบาลที่เวียดนามจัดตั้งขึ้นในกรุงพนมเปญในปี 2522 รวมทั้งหลังการเลือกตั้งในยุคใหม่ซึ่งจัดขึ้นทุก 5 ปี

พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party) พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งแรกที่จัดขึ้นในปี 2536 โดยองค์การสหประชาชาติ แต่สมเด็จฯ ฮุนเซนใช้กำลังทหารและตำรวจในมือเป็นเครื่องต่อรองจนได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคฟุนซินเปกซึ่งเป็นพรรคแนวราชนิยม ซึ่งทำให้ประเทศนี้มีนายกรับมนตรีพร้อมกันสองคน

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดจัดขึ้นวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา CPP ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรท่ามกลางการกล่าวหามีการทุจริตโกงคะแนนโจ๋งครึ่ม ทั้งจากในและจากต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์เลอมง (Le Monde) ของฝรั่งเศสรายงานในสัปดาห์ที่แล้วเปิดโปงกลโกงเลือกตั้งอย่างเป็นระบบในกัมพูชา รวมทั้งการจัดตั้งระบบหัวคะแนนโดยใช้เงินอุดหนุนและการใช้ระบบเศรษฐกิจประชานิยมที่ไม่มีความยั่งยืนหาเสียงกับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
กำลังโหลดความคิดเห็น