ผู้จัดการรายวัน -- รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลเวียดนามเสนอตั้งกรรมการร่วมขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงเกี่ยวกับการใช้เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance) รวมทั้งเข้าร่วมในการสอบสวนหาผู้กระทำผิดไปลงโทษด้วย
การรุกของรัฐบาลญี่ปุ่น มีขึ้นหลังจากเกิดกรณีอื้อฉาว บริษัทก่อสร้างและบริษัทที่ปรึกษาจากญี่ป่นสองแห่งได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่เวียดนาม เพื่อให้ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับการสร้างถนนสายตะวันออก-ตะวันตกในนครโฮจิมินห์มูลค่ากว่า 600 ล้านดอลลาร์ ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการในขณะนี้
การก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำไซ่ง่อนโดยบริษัทจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการถนนหกช่องทางจราจรสายตะวันออก-ตะวันตก ได้หยุดชะงักลงหลังจากตรวจพบรอยร้าวหลายแห่ง
ตามรายงานของสื่อทางการเวียดนามรัฐบาลญี่ปุ่น ต้องการให้คณะกรรมการร่วมดังกล่าว ได้รับการจัดตั้งขึ้นในทันทีและเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป รวมทั้งการสอบสวนสืบสวนกรณีอื้อฉาวครั้งล่าสุดนี้ด้วย
รัฐบาลญี่ปุ่นจะส่งคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูง เดินทางเข้าเวียดนามในสัปดาห์หน้านี้ เพื่อประชุมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวางแผนและการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดจนคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติเวียดนาม หาวิธีปฏิบัติงานร่วมกัน
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอให้คณะกรรมการร่วมที่จะจัดตั้งขึ้นมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอการจัดตั้งกลไก การวางแผนและกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือ ODA ในเวียดนาม ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นและป้องกันการใช้จ่ายเงินผิดประเภทและสูญเปล่า ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์แท็งเนียน
คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังจะเข้าร่วมการสอบสวนรายงานการทุจริตต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความสนใจจากสาธารณชน รวมทั้งข่าวทุจริตเกี่ยวกับการก่อสร้างทางหลวงในนครโฮจิมินห์ด้วย
นายเหวียนซวนฟุก (Nguyen Xuan Phuc) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีนายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ได้มอบหมายให้กระทรวงวางแผนและการลงทุนศึกษาและหาวิธีจัดตั้งกลไกความร่วมมือ
รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้บริจาคให้แก่เวียดนามรายใหญ่ที่สุด ในปีงบประมาณ 2551 นี้ได้ให้คำมั่นจะให้ความช่วยเหลือแบบ ODA เป็นเงิน 1,100 ล้านดอลลาร์ จากทั้งหมด 5,400 ล้านดอลลาร์ ที่เวียดนามจะได้รับจากประเทศและองค์การผู้บริจาคกว่า 100 ราย
เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ได้เกิดโศกนาฏกกรรมขึ้นที่ นครเกิ่นเธอ (Can Tho) เมื่อสะพานเกิ่นเธอ-หวิงลอง (Vinh Long) พังลงทับคนงานและวิศวกรรมทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 50 ราย
สะพานดังกล่าวก่อสร้างข้ามลำน้ำสายหนึ่งด้วยเงินช่วยเหลือแบบ ODA จากญี่ปุ่นและโดยบริษัทญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน การสอบสวนโดยฝ่ายเวียดนามได้พบว่าเกิดจากการสร้างรากฐานที่ไม่แข็งแรงพอ และการสอบสวนหาผู้กระทำผิดยังดำเนินต่อไป
**ปลดผู้กำกับดูแลโครงการ**
หลังจากหนังสือพิมพ์ในญี่ป่น ได้เปิดโปงกรณีติดสินบนล่าสุด คณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ได้มีคำสั่งเปลี่ยนตัวผู้ที่กำกับดูแลการใช้เงินช่วยเหลือแบบ ODA จากรัฐบาลญี่ปุ่น รวมทั้งเงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ป่น (Japan Bank for International Cooperation) หรือ “เจบิก” ด้วย
การสร้างถนนสายตะวันออก-ตะวันตกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ปีนี้ ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 616.5 ล้านดอลลาร์ ในนั้นเป็นเงิน ODA ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ผ่านเจบิครวม 399.6 ล้านดอลลาร์
ถนนระยะทาง 22 กม. สร้างขนานลำคลองสายหนึ่งตั้งแต่เขต 11 นครโฮจิมินห์ เพื่อเชื่อมทางหลวงแห่งชาติ 2 สาย ที่อยู่คนละฝั่งของตัวเมือง จะช่วยลดการจราจรที่แออัดของนครใหญ่ที่มีประชากร 89 ล้าน
ถนนยังประกอบด้วยส่วนที่เป็นอุโมงค์ความยาว 1.49 กม. ลอดแม่น้ำไซ่ง่อนไปยังเขตถูเทียม (Thu Thiem) ที่พัฒนาขึ้นเป็นเขตเมืองใหม่ นอกจากนั้น ยังประกอบด้วย สะพานต่างระดับ 5 แห่ง สะพานธรรมดา 8 แห่ง สี่แยกใหญ่ 5 แห่ง สะพานสำหรับคนข้ามถนน 7-10 แห่ง พร้อมตัดถนนสายใหม่ระยะทาง 5.6 กม.พัฒนาสะพานเก่าและยังมีงานโยธาอีกจำนวนหนึ่ง
นอกจากนั้น นครโฮจิมินห์ ยังมีโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางน้ำคู่ขนานกันไปกับถนน โดยใช้เงินทุนอีก 260.18 ล้านดอลลาร์ ในนั้นเป็นเงินของเจบิก 200 ล้านดอลลาร์
ทั้งสองโครงการนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการชุดที่คณะกรรมการประชาชนเพิ่งจะมีคำสั่งเปลี่ยนหัวหน้าคนใหม่
ทั้งสองโครงการมีบริษัท แปซิฟิก คอนซัลแทนต์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Pacific Consultants International) จากญี่ปุ่นเป็นบริษัทที่ปรึกษา ภายใต้การดูแลของสำนักงานบริหารโครงการแห่งหนึ่งที่มีเจ้าหน้าที่เวียดนามเป็นหัวหน้า
เมื่อไม่นานมานี้ทางการญี่ปุ่นได้จับกุมอดีตเจ้าหน้าที่บริษัท PCI ไป 4 คน ในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่เวียดนาม เพื่อให้ได้สัญญาจ้างงานดังกล่าว ในเวียดนามเจ้าหน้าที่ตำรวจก็กำลังเร่งสอบสวนโดยพุ่งประเด็นที่ว่าเพราะเหตุใด PCI จึงได้สัญญาจ้างทั้งๆ ที่ไม่ได้ร่วมประกวดราคา
ญี่ปุ่นได้เป็นประเทศแรกที่เข้าแทรกแซงการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือ นับตั้งแต่ปี 2549 ที่มีการเปิดโปงกรณีอื้อฉาวในสำนักงานบริหารโครงการที่ 18 หรือ PMU18 (Project Management 18) ที่รับผิดชอบโครงการก่อสาร้างทางหลวงและสะพานหลายแห่งทางภาคเหนือของประเทศ