ผู้จัดการรายวัน-- หลังจากเปิดตัวและปรับตัวแข่งขันในตลาดได้ไม่ทันข้ามปี สายการบินต้นทุนต่ำ ในเวียดนามกำลังลำบากหนัก ขณะที่สายการบินใหม่ต้องเลื่อนการขึ้นบินออกไป อันเนื่องมาจากพิษราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูง นักวิเคราะห์กล่าวว่าสายการบินใหม่บางแห่งอาจจะตายตั้งแต่แรกเกิด
เมื่อปลายปีที่แล้วนักลงทุนจำนวนมากได้แข่งกันยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดต่อทางการเวียดนามโดยหวังจะได้รับใบอนุญาตก่อตั้งสายการบินใหม่แข่งขันที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วมากและยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในตลาดที่มีประชากร 85 ล้านคน
สาการบินเอกชนแห่งแรกของประเทศคือ เวียดเจ็ทแอร์ (VietJet Air) หรือ VJA ได้รับใบอนุญาตในปลายเดือน ธ.ค.2550 นับเป็นเหตุการณ์ที่พิเศษยิ่ง และสาธารณชนทั่วไปตั้งความหวังว่าการมีสายการบินมากขึ้น จะทำให้เกิดการแข่งขัน ลดการผูกขาดทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีขึ้น
เพียงอีกไม่นานสายการบินแห่งที่สองคือ แอร์สปีดอัพ (Air Speed Up) ก็ได้รับใบอนุญาตอีกราย และยังไม่ใช่รายสุดท้าย
นักลงทุนเอกชนอีกหลายรายยังคงแสวงหาโอกาสที่จะเป็นหนึ่งในห้าสายการบินใหม่ที่ทางการประกาศจะให้จัดตั้งนั้น ขณะที่เวียดนามกำลังจะต้องเปิดธุรกิจบริการในปี 2552 นี้เป็นต้นไป ตามพันธะสัญญาที่ให้ต่อองค์การการค้าโลก
อย่างไรก็ตามจนกระทั่งบัดนี้สายการบินเอกชนทั้งสองแห่งแรกก็ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้
เวียดเจ็ทฯ ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ที่มีกำหนดในเดือน ธ.ค.ปีนี้ออกไปเป็นปีหน้าและยังไม่มีกำหนด นอกจากนั้น VJA ยังปลดผู้จัดการซึ่งเป็นชาวต่างชาติ กับพนักงานอีกจำนวนมาก
"ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูงได้เป็นสิ่งกีดขวางสำคัญสำหรับเวียดเจ็ทฯ เรากำลังดำเนินตามแผนธุรกิจใหม่" นายเหวียนดึ๊กเติ๋น (Nguyen Duc Tan) ผู้อำนวยการใหญ่ของ VJA กล่าว
ตามระเบียบขององค์การบริหารการบินพลเรือนเวียดนาม สายการบินแห่งต่างๆ จะต้องเปิดบริการภายในเวลา 2 ปีหลังจากได้รับใบอนุญาต และหากไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะถูกถอนใบอนุญาต ในขณะที่สายการบินใหม่ทั้งสองแห่งยังมีเวลาเหลืออีกนานนับปี
สายการบินใหม่แห่งที่สองคือ แอร์สปีดอัพ กำลังจะเปลี่ยนชื่อเสียใหม่
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งกล่าวว่า นับเป็นโชคดีที่สายการบินใหม่ในเวียดนามยังไม่ได้ขึ้นบิน ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำเพียงแต่เดียวในประเทศคือ เจ็ทสตาร์แปซิฟิก (JetStar Pacific) ต้องลดเที่ยวบินลงหลายเส้นทางที่ขาดทุน เนื่องจากราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่เกาะกิน
ปีที่แล้วสายการบินหลายแห่งต่างๆ วิ่งเต้นหาโอกาสที่จะบินเข้าออกเชื่อมเวียดนามกับปลายทางและต้นทางต่างๆ ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งสายการบินนกแอร์ (Nok Air) ฮ่องกงแอร์ไลน์ ไลออนแอร์ (Lion Air) จากอินโดนีเซีย ซีบูแปซิฟิก (Cebu Pacific) จากฟิลิปปินส์ ด้วย
นกแอร์ของไทย ได้เปิดบินเชื่อมกรุงเทพฯ-ฮานอย ในต้นเดือน พ.ย. ต่อมาไม่นานซีบูแปซิฟิกก็บินเชื่อมกรุงมะนิลากับเมืองหลวงเวียดนาม
อย่างไรก็ตามนายหวอฮวีเกือง (Vo Huy Cuong) หัวหน้าฝ่ายการขนส่งทางอากาศ องค์การบริหารการบินฯ กล่าวว่า สายการบินขนาดเล็กหลายแห่ง เช่น อีวาแอร์ (Eva Air) ไชน่าแอร์ไลน์ ยูนีแอร์ (Unie Air) กับแมนดารินแอร์ (Mandarin Air) ต่างก็มีแผนที่จะลดเที่ยวบินไปยังเวียดนาม
ในฐานะที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ เจ็ทสตาร์กล่าวว่าการลดต้นทุนให้ต่ำลงไปอีกเป็นเรื่องยาก หนทางที่เหลืออยู่ก็คือลดเที่ยวบินที่ขาดทุนมากๆ ลงไปก่อน เช่นเส้นทางฮานอย-เหว (Hue) และ โฮจิมินห์-เหว เลื่อนเปิดเที่ยวบินโฮจิมินห์-ดาลัท และอีก 2-3 เส้นทาง
ผู้อำนวยการใหญ่ของเจ็ทสตาร์ฯ นายเลืองฮว่ายนาม (Luong Hoai Nam) บริษัทฯ ยังจะต้องงดการดำเนินแผนเพิ่มเครื่องบินขึ้นเป็น 14 ลำในสิ้นปีและเป็น 30 เครื่องในปีหน้าอีกด้วย.