การนำเบียร์ยี่ห้ออื่นเข้าไปตีตลาดในประเทศลาวนั้น เป็นเรื่องที่ยากมากในทุกวันนี้เพราะลาวชาวส่วนใหญ่ยังคงนิยมดื่ม “เบียร์ลาว” ซึ่งเป็นเบียร์แห่งชาติอย่างแพร่หลาย ดังจะเห็นได้จากการครองความเป็นเจ้าในตลาดเบียร์ของประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนการขายมากถึง 99%
เบียร์ลาวได้รับความนิยมจากคนจำนวนมากในประเทศ ถึงขนาดที่หนังสือพิมพ์ของเดนมาร์กฉบับหนึ่งนำไปกล่าวเปรียบเปรยว่า “เบียร์ลาวกับชาวลาวนั้นก็เหมือนกับทีมฟุตบอลกับแฟนคลับที่คลั่งไคล้ในทีมของตนอย่างไม่เสื่อมคลาย”
คาร์ลสเบิร์ก เบียร์จากเดนมาร์ก เป็นเจ้าของครึ่งหนึ่งของโรงเบียร์ในลาว และโลโกสีเขียวของคาร์ลสเบิร์กก็อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดบนด้านหน้าของโรงงานผลิตเบียร์ลาวที่มีอายุ 35 ปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตามยังคงไม่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศนี้
หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงงานผลิตเบียร์ลาว กล่าวว่า “ชาวลาวนิยมดื่มเบียร์ลาวอย่างมาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำเบียร์ยี่ห้ออื่นๆ เข้าไปตลาดในประเทศ...และความหลงใหลในการบริโภคเบียร์แบบดังเดิม ยังกระทบต่อผู้ที่ต้องการให้โรงงานเบียร์ปรับปรุงหรือพัฒนารสชาติใหม่ๆ ออกวางขายในตลาดอีกด้วย”
เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา โรงเบียร์ในลาวได้เปิดตัวเบียร์รสชาติใหม่ถึง 6 ชนิดด้วยกัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ของคาร์ลสเบิร์กด้วย
นักข่าวสวีเดนที่ไปเยือนเวียงจันทน์เป็นเวลา 8 วัน เมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวว่า เขาไม่เห็นสัญลักษณ์ของเบียร์คาร์ลสเบิร์กเลยสักขวด ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านค้า ซึ่งไม่มีแม้กระทั่งลังที่ใส่เบียร์หรือเก็บขวดเปล่าของคาร์ลสเบิร์ก และ จากการสำรวจตามร้านค้ากว่า 20 ร้านใน 3 เมืองใหญ่ ก็ยังคงไม่พบว่ามีการจำหน่ายเบียร์คาร์ลสเบิร์กในร้านเหล่านั้น
ปัญหาที่น่าแปลกใจ คือ เป๊ปซี่ และ โค้ก ต่างเป็นเจ้าแรกๆ ที่เสนอให้ตู้เย็นฟรีแก่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าขายปลีก และคาร์ลสเบิร์ก เองก็ใช้วิธีการดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเหมือน 2 เจ้าแรกเนื่องจากร้านค้าและร้านอาหารจำนวนมากต่างกลัวว่า ยอดขายอาจจะไม่คุ้มกับค่าไฟที่เพิ่มขึ้นได้
เบียร์ลาวแบบดังเดิมเป็นสิ่งเดียวที่ชาวลาวต้องการ ไม่ใช่รสชาติหรือยี่ห้ออื่นๆ จึงทำให้เบียร์ลาวเป็นเบียร์ชนิดเดียวที่พ่อค้าแม่ค้าแช่ใส่ไว้ในตู้เย็นเพื่อเอาไว้รอบริการลูกค้า
นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันชิงโชค เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 35 ปีของเบียร์ลาว โดยมีของรางวัลใหญ่ที่น่าดึงดูดใจ คือ รถยนต์ฟอร์ด จำนวน 3 คัน โทรศัพท์มือถือโมโตโรล่า 5 เครื่อง และเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นวิธีการในการเพิ่มยอดขายได้เป็นอย่างดี
โครงการกระตุ้นการขายดังกล่าวยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเข้าไปตีตลาดของคาร์ลสเบิร์กในประเทศลาวนั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก