xs
xsm
sm
md
lg

งบโฆษณา 5 เดือนแรกยังนิ่ง สื่อวิทยุฉลุย-“ทีวี-แมกกาซีน” ทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยตัวเลขมูลค่างบโฆษณา 5 เดือนแรกปี 51 ทะลุ 36,000 ล้านบาท ลดลง 0.35% ไม่มาก พบสื่อเคลื่อนที่เติบโตมากสุด ขณะที่สื่อหลักวิทยุยังหายใจโล่งคอเติบโต 9% ด้านยักษ์ใหญ่เริ่มลดงบโฆษณาลง ทั้ง ยูนิลีเวอร์ หั่นงบลงกว่า 300 กว่าล้านบาท

รายงานข่าวจาก บริษัท นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช จำกัด แจ้งถึงมูลค่าตลาดงบประมาณโฆษณารายเดือนพฤษภาคม ปี 2551 ว่า ตลาดสื่อโฆษณามีมูลค่ารวมประมาณ 7,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปี 2550 ที่มี 7,539 ล้านบาท หรือเติบโต 2.88% โดยแยกเป็นสื่อหลักคือ สื่อทีวีมีมูลค่า 4,549 ล้านบาท เติบโต 6.73% จากเดือนเดียวกันปี 2550 ที่มีมูลค่า 4,262 ล้านบาท สื่อวิทยุมีมูลค่า 599 ล้านบาท เติบโต 6.58% จากเดิมที่มีมูลค่า 562 ล้านบาท สื่อหนังสือพิมพ์มีมูลค่า 1,319 ล้านบาท เติบโต 2.81% จากเดิมที่มีมูลค่า 1,283 ล้านบาท สื่อนิตยสารมีมูลค่า 478 ล้านบาท ลดลง 10.49% จากเดิมที่มี 534 ล้านบาท

สื่อโรงหนังมีมูลค่า 300 ล้านบาท ลดลง 24.62% จากเดิมที่มีมูลค่า 398 ล้านบาท สื่อกลางแจ้งมีมูลค่า 343 ล้านบาท ลดลง 8.53% จากเดิมที่มีมูลค่า 375 ล้านบาท สื่อเคลื่อนที่มีมูลค่า 121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.14% จากเดิมที่มีมูลค่า 77 ล้านบาท สื่ออินสโตร์มีมูลค่า 46 ล้านบาท ลดลง 6.12% จากเดิมที่มีมูลค่า 49 ล้านบาท

ขณะที่หากมองภาพรวมทั้งช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 มีมูลค่า 36,133 ล้านบาท ลดลง 0.35% จากช่วง 5 เดือนแรกปี 2550 ที่มีมูลค่า 36,260 ล้านบาท โดยแยกเป็นสื่อทีวีมีมูลค่า 20,840 ล้านบาท ลดลง 2.50% จากเดิมที่มีมูลค่า 21,374 ล้านบาท สื่อวิทยุมีมูลค่า 2,673 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.59% จากเดิมที่มีมูลค่า 2,439 ล้านบาท สื่อหนังสือพิมพ์มีมูลค่า 6,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.24% จากเดิมที่มีมูลค่า 6,025 ล้านบาท สื่อนิตยสารมีมูลค่า 2,276 ล้านบาท ลดลง 4.33% จากเดิมที่มีมูลค่า 2,379 ล้านบาท

สื่อรองคือ สื่อโรงหนังมีมูลค่า 1,637 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.55% จากเดิมที่มี 1,612 ล้านบาท สื่อกลางแจ้งมีมูลค่า 1,798 ล้านบาท ลดลง 3.64% จากเดิมที่มีมูลค่า 1,866 ล้านบาท สื่อเคลื่อนที่มีมูลค่า 532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.31% จากเดิมที่มีมูลค่า 347 ล้านบาท สื่ออินสโตร์มีมูลค่า 217 ล้านบาท ลดลง 0.46% จากเดิมที่มีมูลค่า 218 ล้านบาท

สำหรับ 5 บริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดเดือนพฤษภาคมปี 2551 เทียบกับปี 2550 คือ 1. ยูนิลีเวอร์ ใช้งบ 434 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่มีมูลค่า 427 ล้านบาท 2.ไบเออร์สดร๊อฟ ใช้งบ 147 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้งบ 85 ล้านบาท 3.โตโยต้ามอเตอร์ ใช้งบ 145 ล้านบาท ลดจากเดิมที่ใช้ 152 ล้านบาท 4.เนสท์เล่ไทย ใช้งบ 134 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 89 ล้านบาท 5.คอลเกตปาล์มโอลีฟใช้งบ 107 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 92 ล้านบาท ซึ่งนอกจากโตโยต้าที่ใช้งบลดลงแล้วยังมี ลอรีอัล โดยใช้งบแค่ 96 ล้านบาทจากเดิมที่ใช้ 103 ล้านบาท พีแอนด์จีใช้งบ 92 ล้านบาท ลดจากเดิมที่ใช้ 103 ล้านบาท และ โอสถสภาใช้งบ 75 ล้านบาท ลดจากเดิมที่ใช้ 102 ล้านบาท

ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 เทียบกับ ปี 2550 พบว่า 5 บริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด คือ 1.ยูนิลีเวอร์ ใช้งบ 1,987 ล้านบาท แต่ว่าลดไปเกือบ 400 ล้านบาท จากเดิมที่ใช้ 2,368 ล้านบาท 2.โตโยต้ามอเตอร์ส ใช้งบ 761 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 554 ล้านบาท 3.พีแอนด์จีใช้งบ 643 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 631 ล้านบาท 4.โอสถสภาใช้งบ 598 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 375 ล้านบาท 5.ลอรีอัล ใช้งบ 496 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 430 ล้านบาท ซึ่งนอกจากยูนิลีเวอร์ที่ลดงบโฆษณาแล้ว ยังมี เอไอเอสที่ใช้งบ 475 ล้านบาท ลดลงจากเดิมกว่า 158 ล้านบาท ที่ใช้ 633 ล้านบาท และคอลเกตปาล์มโอลีฟ ใช้งบ 406 ล้านบาท ลดจากเดิมเล็กน้อยที่ใช้ 414 ล้านบาท

ส่วน 5 อันดับแบรนด์สินค้าที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดเดือนพฤษภาคม 2551 เทียบปี 2550 พบว่า พอนด์ส ใช้งบ 82 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้งบ 27 ล้านบาท พีทีที ใช้งบ 59 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้งบ 18 ล้านบาท โตโยต้าพาสเซนเจอร์คาร์ใช้งบ 58 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 29 ล้านบาท 4.โตโยต้าปิคอัพ ใช้งบ 54 ล้านบาท ลดจากเดิมที่ใช้ 58 ล้านบาท 5.เป๊ปซี่ใช้งบ 51 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 33 ล้านบาท

สำหรับ 5 อันดับแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดรอบ 5 เดือนแรกปี 2551 เทียบ 2550 พบว่า พอนด์สใช้งบ 341 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 319 ล้านบาท เครื่องดื่มชูกำลังตระกูลเอ็ม ใช้งบ 330 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 218 ล้านบาท 3.โตโยต้าพาสเซนเจอร์คาร์ ใช้งบ 272 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 162 ล้านบาท โตโยต้าปิคอัพใช้งบ 267 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 191 ล้านบาท คลินิกแอนตี้แดนดรั๊ฟแชมพู ใช้งบ 203 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 183 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น