ผู้จัดการออนไลน์ -- เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 มิ.ย.) บรรดาผู้ขับรถสามล้อเครื่องกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารผ่านศึกในช่วงสงครามเวียดนาม ได้รวมตัวกันประท้วงรัฐบาลที่สั่งห้ามรถที่ถูกดัดแปลงวิ่งบนถนนในเมืองต่างๆ
ผู้ที่ขับรถสามล้อเครื่อง ต่างกล่าวว่า คำสั่งของรัฐบาลที่ห้ามรถที่ถูกดัดแปลงชนิดต่างๆ ซึ่งมักจะได้รับการว่าจ้างให้ขนสิ่งของขนาดใหญ่และวิ่งไปตามท้องถนนในเมืองที่มีการจราจรที่คับคั่งนี้ เป็นการทำลายหนทางในการหาเลี้ยงชีพของพวกเขา
“พวกเราได้ร่วมกันวางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์วีรชนในสงครามเมื่อเช้านี้” นายเลแถ่งเติม (Le Thanh Tam) เจ้าของรถสามล้อเครื่องวัย 59 ปี ซึ่งได้รับเงินค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 60 ดอลลาร์จากรัฐบาล หลังจากที่ต้องเสียขาข้างซ้ายไปในสงครามเมื่อปี 1969 กล่าว
“ผมขับรถนี้มาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว รับจ้างขนเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ให้แก่ผู้ที่ต้องการย้ายบ้าน เพื่อแลกกับค่าบริการประมาณ 50,000-100,000 ด่ง (2.9-5.8 ดอลลาร์) ต่อวัน ภรรยาและลูกๆ อีก 2 คนก็ไม่มีงานทำ ถ้ารัฐบาลสั่งห้ามแล้วเราจะอยู่อย่างไร”
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เฝ้าจับตาบรรดาผู้ขับรถดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ผู้ประท้วงส่วนใหญ่จะแต่งกายด้วยเครื่องแบบและสวมหมวกทหาร รวมตัวกันประท้วงโดยการจอดรถสามล้อเครื่องเป็นแนวยาวบนริมถนนด้านนอกของที่ทำการรัฐบาลในกรุงฮานอย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการจราจรคับคั่ง
“เราต้องการให้รัฐบาลหางานใหม่ให้แก่พวกเรา หรือไม่ก็อนุญาตให้ใช้ยานพาหนะนี้ต่อไป” นายเติมกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
เจ้าหน้าที่ในกรุงฮานอยและในนครโฮจิมินห์ ได้ประกาศห้ามรถที่ถูกดัดแปลงทุกชนิดรวมถึงรถ 3 ล้อ และ 4 ล้อ วิ่งบนถนนในเมืองตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป เพื่อเป็นการลดปัญหาการจารจรที่ติดขัด มลพิษทางอากาศและอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ลาวด่ง (Lao Dong) หรือ “แรงงาน” ซึ่งอ้างข้อมูลตัวเลขจากสำนักงานตำรวจจราจร ในกรุงฮานอยมีรถสามล้อเครื่องประมาณ 2,000 คัน ขณะที่หนังสือพิมพ์แทงเนียนกล่าวว่า มีรถสามล้อเครื่องอีกกว่า 20,000 คันในนครโฮจิมินห์
เจ้าหน้าที่ในกรุงฮานอยยังมีแผนที่จะสั่งห้ามพวกที่เร่ขายของตามท้องถนนสายหลัก เกือบ 100 สายและตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.อีกด้วย โดยส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานจากชนบทที่เร่ขายของต่างๆ ด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานไปตามท้องถนน
คำสั่งห้ามทั้ง 2 นี้ได้ประกาศออกมาเมื่อต้นปีนี้ แต่การดำเนินการต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสาธารณชน