ผู้จัดการออนไลน์-- ถึงแม้สหรัฐฯ จะชมเชยการปราบปรามการค้ามนุษย์ในกัมพูชาว่าทำได้ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันองค์กรของเอกชนก็ได้เปิดโปงผลพวงจากการใช้กฎหมายฉบับใหม่ที่ให้ปิดสถานประกอบการต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำตรวจเอารัดเอาเปรียบ ทำร้ายหรือกระทั่งข่มขื่นหญิงโสเภณี ซึ่งเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์
องค์กรเอกชนกล่าวว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อบางคนยังต้องประสบกับความยากลำบากภายใต้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ฉบับใหม่
จันดินา (Chan Dina) แห่งสหภาพโสเภณีกัมพูชา (Cambodian Prostitute's Union) ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของผู้ที่ขายบริการทางเพศกว่า 300 คน กล่าวว่าหญิงบริการจำนวนมากถูกยึดเงิน ถูกทำร้ายรวมทั้งยังถูกข่มขืนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังจากที่มีการปราบปรามและสั่งปิดแหล่งโสเภณีต่างๆ
"การสั่งปิดนี้เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ที่มีอาชีพค้าบริการทางเพศ ด้วยความเป็นอยู่ที่บากจนทำให้ผู้หญิงหลายๆ คนตัดสินใจประกอบอาชีพดังกล่าว แม้จะไม่อยากทำก็ตาม" นางดินากล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
ทางการสหรัฐฯ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กัมพูชายังคงต้องดำเนินการจัดการกับปัญหาค้ามนุษย์มากขึ้น แม้ในรายงานประจำปีของสหรัฐฯ จะแสดงให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะมีความก้าวหน้ามากขึ้นก็ตาม
จากรายงานการจัดลำดับความรุนแรงของปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศต่างๆ ของสหรัฐฯ ปีนี้ กัมพูชาถูกเลื่อนระดับให้ขึ้นมาอยู่ในกลุ่มที่ 2 (Tier 2) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังแต่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ เนื่องจากได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้นรวมถึงการผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ในการต่อต้านอาชญากรรม
กัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของพวกนักล่วงละเมิดทางเพศถูกจัดให้อยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่มที่ 2 (Tier 2) ตั้งแต่ 2004 โดยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรหรือถูกลงโทษจากสหรัฐฯ
นาย ไพเพอร์ แคมป์เบล (Piper Campbell) อุปทูตสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าวว่า การค้ามนุษย์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของกัมพูชา
"การค้ามนุษย์เป็นปัญหาที่ยังคงพบได้ทั่วไปในกัมพูชา ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้จะต้องใช้วิธีในการจัดการหลายๆ ด้านร่วมกัน เช่น การศึกษา กฎหมายและการบังคับใช้รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อด้วย" นายแคมป์เบลกล่าว
นายซาร์เต็ง (Sar Kheng) รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในการแถลงข่าวว่า กรณีที่ผู้ค้าบริการทางเพศถูกล่วงละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะต้องเป็นเรื่องที่ได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรก
รองนายกรัฐมนตรีคนนี้กล่าวต่อว่า "เราขอให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อช่วยหาหลักฐานเพิ่มเติมให้แก่เรา"
ผู้ที่ขายบริการทางเพศประมาณ 300 คนได้ออกเดินขบวนเมื่อวันพุธ (4 มิ.ย.) ที่ผ่านมาเพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รังแกข่มเหง แม้จะมีการรณรงค์ต่อต้านการการค้ามนุษย์ในกัมพูชาก็ตาม.