ผู้จัดการออนไลน์ -- ข้าวของยังคงแพงเหมือนเดิม แต่มาตรการต้านเงินเฟ้อของเวียดนามกำลังสร้างปัญหาใหม่ ทำให้เงินเกลี้ยงตลาด แบงก์วิกฤต ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยล่อลูกค้าเงินออม ขณะที่ ดอยช์แบงก์ ฟันธง หากไม่ลดค่าเงินด่ง 3 เดือน ได้กินยาหม้อใหญ่ไอเอ็มเอฟ
ธนาคารแห่งรัฐเวียดนาม หรือ SBV (State Bank of Vietnam) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐานอีกรอบหนึ่งจาก 12% เป็น 14% โดยเริ่มมีผลทันทีในวันพุธ (11 มิ.ย.) นี้ เพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงถึง 25.3% ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
แม้ว่าจะใช้มาตรการดอกเบี้ยสูงดึงดูดเงินออม ตัวเลขสถิติก็ยังบ่งชี้ว่าในระบบธนาคารได้เกิดสภาวะการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง SBV ประกาศผ่านเว็บไซต์ในวันอังคาร ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ย “เป็นส่วนหนึ่งของการกระชับนโยบายการเงินเพื่อหยุดยั้งเงินเฟ้อและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจมหภาค”
พร้อมๆ กับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลางซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ SBV ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์จาก 13% เป็น 15% และ จาก 11 เป็น 13% สำหรับดอกเบี้ยดิสเคาท์เรต
นายโจนาธาน พินคัส (Jonathan Pincus) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ UNDP (UN Development Program) มองว่า เวียดนามกำลังเคลื่อนไปข้างหน้าเพื่อกระชับจุดยืนทางการเงินและเข้าไปแก้ไขปัญหาทีละจุด ซึ่งเป็นความพยายามที่ถูกทิศทาง
“(ความพยายามนี้) จะช่วยให้ระบบธนาคารสามารถระดมเงินออมซึ่งจะช่วยเงินด่งแข็งค่าขึ้น” นายพินคัส กล่าว
อย่างไรก็ตาม มาตรการดอกเบี้ยสูงของบ SBV ในช่วง 3-4 เดือน ได้ทำให้เงินหายไปจากตลาด ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดทุนของประเทศ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจต่างๆ สื่อของทางการรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า โรงงานและผู้ประกอบการรายเล็กราว 300 แห่งในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงต้องปิดกิจการไปเนื่องจากขาดเงินหมุนเวียน
พร้อมกับการขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ แบงก์แห่งรัฐเวียดนามประกาศว่าจะมีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินด่งกับเงินดอลลาร์ลงอีกราว 2% “เพื่อสะท้อนสถานการณ์อุปสงค์อุปทานในตลาดแลกเปลี่ยน.. และต่อต้านการกักตุนเงินสกุลต่างชาติ” ทั้งนี้ เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี
แบงก์แห่งรัฐ กล่าวว่า จะปรับอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงินดอลลาร์ระหว่างธนาคาร หรือ Interbank Rate จาก 16,139 ด่ง เป็น 16,461 ด่งต่อดอลลาร์ ซึ่งในทางปฏิบัติทางการอนุญาตให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นขึ้นหรือลงจากอัตราที่แบงก์แห่งรัฐกำหนดได้ 1% ในแต่ละวัน
นักวิเคราะห์มองว่า การปรับอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว เป็นเพียงปฏิบัติการที่หวังเพียงผลทางจิตวิทยาต่อตลาด ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดขยับขึ้นสูงกว่าอัตราของทางการมาก
สัปดาห์ที่แล้วอัตราในตลาดมืดขยับขึ้นสูงสุดถึง 18,500 ด่งต่อดอลลาร์ จาก 17,500 ด่งในสัปดาห์ก่อน นักลงทุน ร้านค้าทั่วไป พากันเข้าซื้อเงินสกุลสหรัฐฯ เพราะเห็นว่ามีเสถียรภาพมากกว่าเงินสกุลท้องถิ่น
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เตี่ยนฟ่ง (Tien Phong) หรือ “ผู้บุกเบิก” สัปดาห์นี้คณะกรรมการตรวจตราได้ลงตรวจแหล่งแลกเปลี่ยนเงินต่างๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทำให้ตลอดมืดซบเซาลงชั่วขณะ แต่ยิ่งปิดกั้นขบวนการซื้อขายเงินนอกระบบก็ยิ่งคึกคัก
“ชาวบ้านกระซิบกระซาบกันปากต่อปากเกี่ยวกับแหล่งแลกเปลี่ยนที่เสนอขายดอลลาร์ในอัตรา 17,300-17,600 ด่ง” เตี่ยนฟ่ง กล่าว
ระบบธนาคารเวียดนามปั่นป่วนมานานข้ามเดือน แบงก์พาณิชย์แห่งต่างๆ แข่งกันเสนออัตราดอกเบี้ยตอบแทนให้แก่ผู้ฝากเงิน แต่สถิติแสดงให้เห็นว่าเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งระบบระดมเงินออมได้เพิ่มขึ้นเพียง 1.5% ลดลงจากอัตราในเดือนก่อนๆ
ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องการเงินสดในมือเพื่อดำเนินธุรกิจและธุรกรรมประจำวัน แต่ความต้องการสูงเกินกว่าที่ธนตาคารกลางสามารถจัดให้ได้ “ซึ่งได้อธิบายว่าเพราะเหตุใดอัตราเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารจึงพุ่งขึ้นสูงอยู่ตลอดเวลา”
นายเจิ่นบั๊กห่า (Tran Bach Ha) ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาและลุงทุนแห่งเวียดนามหรือ BIDV (Bank for Investment and Development of Vietnam) กล่าวว่ามีอยู่หลายปัจจัยที่กีดขวางการระดมเงินออมไม่ว่าจะเสนอดอกเบี้ยเงินฝากสูงเพียงไรก็ตาม
ปัจจุบันมีธนาคาร 11 แห่งเสนอดอกเบี้ยเงินฝาก 16% ต่อปีหรือสูงกว่านั้น มีอยู่ 1 แห่งเสนออัตรา 16.56% สำหรับผู้ฝากประจำ 3 ตั้งแต่ 5,000 ล้านด่งขึ้นไป
ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังเสนอขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากสกุลดอลลาร์ ในขณะที่ธนาคารจะต้องใช้เงินด่งมากขึ้นในการซื้อดอลลาร์จากท้องตลาดเข้าเก็บ
ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการดัชนีราคาผู้บริโภคหรือ CPI (Consumer Price Index) ซึ่งใช้เป็นตัวบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 16% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (หรือเฉลี่ย 3.2% ต่อเดือน) แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารแห่งต่างๆ ยังคงอยู่ในระดับ 15-16% ต่อปี (หรือ 1.25-1.35% ต่อเดือน) ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฟ้อ
นอกจากนั้น SBV ยังกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ได้อย่างจำกัด ธุรกิจห้างร้านจำนวนมากที่ต้องการเงินก้อนใหญ่ในการหมุนเวียนจึงหันไปกู้ยืมระหว่างธุรกิจด้วยกันโดยตรงและด้วยอัตราดอกเบี้ย 5-7% ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลางของ SBV เมื่อวันอังคารนี้กำลังจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ เปิดศึกดอกเบี้ยอีกรอบหนึ่ง ซึ่งคราวนี้อาจจะสูงถึง 18%-21% หรือว่านั้น
นักการธนาคาร กล่าวว่า แม้อัตราดอกเบี้ยใหม่จะสามารถชดเชยอัตราเงินเฟ้อได้มากกว่าเดิม แต่ปัญหาพื้นฐานต่างก็ยังอยู่และอาจจะยังไม่สามารถระดมเงินออมได้อยู่ดี สถานการณ์อาจจะเลวร้ายลงไปกว่าเดิม หากไม่สามารถลดอัตราเงินเฟ้อได้ในเดือนข้างหน้า
นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ข้อจำกัดในระบบธนาคารจะทำให้เงินนอกระบบพัฒนาขึ้นมาแทนที่อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างหนักหน่วง
รายงานของธนาคารดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) ที่ออกในช่วงใกล้ๆ กันระบุว่า เป็นไปได้อย่างสูงที่จะมีการลดค่าเงินด่ง ใน 2-3 เดือนข้างหน้า และ เวียดนามอาจจะต้องหันไปพึ่งความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF
นายเบน บิงแฮม (Ben Bingham) ผู้แทน IMF ประจำเวียดนามได้เสนอในวันที่ 5 มิ.ย.ให้รัฐบาลเวียดนามใช้นโยบายการเงินการคลังแบบเคร่งครัด รวมทั้งขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงเพื่อระดมเงินออม จึงจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้
แต่เจ้าหน้าที่ผู้นี้ กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี ว่า ยังไม่มีการหารือใดๆ กับเวียดนามเกี่ยวกับมาตรการความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ