xs
xsm
sm
md
lg

ระดมบริษัทยักษ์ข้ามชาติร่วมลงทุนในลุ่มน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แมเนเจอร์ออนไลน์-- การประสภาธุรกิจอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ที่กำลังจะมีขึ้นในเมืองหลวงของลาวในสุดสัปดาห์นี้ได้เชิญบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่และตัวแทนของสถาบันการเงินเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เพื่อหาลู่ทางขยายการค้าและการลงทุนในอนุภูมิภาคนี้ รวมทั้งบริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ TNT และไมโครซอฟท์ (Microsoft) ด้วย

นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานสภาธุรกิจอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (GMS Business Forum) กล่าวว่าองค์กรของภาคเอกชนกำลังจะเปิดการประชุมขึ้นในเมืองหลวงของลาววันที่ 30 มี.ค.โดยจะมีตัวแทนจากประเทศสมาชิกต่างๆ ฝ่ายละ 60 คน รวมทั้งได้เชิญตัวแทนจากบริษัทธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีความสนใจเข้าลงทุนในอนุภูมิภาคนี้เข้าร่วม

ผู้แทนที่จะเข้าร่วมการประชุม GMS Business Forum ประกอบด้วยบริษัทอิโตชู (Itoshu) ซึ่งเป็นบริษัทการค้าใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซัมซุงจากเกาหลี TNT บริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่จากเนเธอร์แลนด์ บริษัทบริการขนส่งพัสดุด่วน UPS ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ หรือ เอชเอสบีซี (HSBC) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ กลุ่มโรงแรมบันยันทรี (Banyan Tree) รวมทั้งตัวแทนจากบริษัทไมโครซอฟท์ นายชิงชัยกล่าว

ภาคเอกชนใน GMS กำลังพยายามผลักดันและจะเสนอต่อผู้นำของทั้ง 6 ประเทศเพื่อให้สามารถปฏิบัติความตกลงเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน หรือ CBTA (Cross Border Transit Agreement) ที่ลงนามกันไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้มีการตรวจสินค้าและตรวจคนเข้าเมืองเพียงครั้งเดียว หรือ SSI (Single Stop Inspection) ระหว่างประเทศต่างๆ

“ท่าผ่านมาบางทีท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางมีกฎระเบียบปฏิบัติที่ต่างกัน เราอยากให้ประเทศต่างๆ แก้ปัญหานี้” นายชิงชัยกล่าวระหว่างการแถลงข่าวคราวเดียวกันที่กระทรวงการต่างประเทศ

“เชื่อมโยงเพิ่มขีดการแข่งขัน”

ผู้นำของ 6 ประเทศคือ ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม พม่าและจีน กำลังจะประชุมหารือกันในเวียงจันทน์ ระหว่างวันที่ 30-31 มี.ค.นี้ การประชุมสุดยอดกลุ่ม GMS จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยเริ่มครั้งแรกในกัมพูชา และครั้งต่อมาในจีน การประชุมครั้งที่ 3 โดยลาวเป็นเจ้าภาพนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “เสริมสร้างขีดความสามารถในแข่งขันโดยการขยายความเชื่อมโยงกว้างขวางขึ้น” (Enhancing Competitiveness through Greater Connectivity)

เริ่มจากการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในอนุภูมิภาค ถึงปัจจุบันกลุ่ม GMS ได้ขยายความร่วมมือกันออกไปอย่างกว้างขวาง ขยายไปสู่การเชื่อมต่อด้านข้อมูลข่าวสาร ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางการพม่าได้ตกลงเชื่อมต่อระบบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงเข้ากับจีน เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลข่าวสารภายใต้กรอบ GMS หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งเป็นของรัฐบาลรายงานเรื่องนี้เมื่อวันพุธ (26 มี.ค.)

หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ได้รายงานสัปดาห์ที่แล้วโดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ทางการว่า ปัจจุบันกำลังมีการสำรวจที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกจำนวน 2 แห่งในพม่า ที่ฝั่งทะเลเบงกอลในรัฐยะไข่ (Rakhine) กับในเขตตะนาวศรีทางภาคใต้ ซึ่งเข้าใจกันว่าจะเป็นเมืองทะวาย

สื่อของทางการกล่าวด้วยว่าท่าเรือทั้งสองแห่งจะเป็น “จุดเชื่อมต่อกับเอเชียตะวันออก”

ไม่เพียงแต่ 6 ประเทศกำลังร่วมกันพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกเพื่ออำนวยให้แก่การค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว ตลอดจนความร่วมมือในแขนงอื่นๆ ขณะนี้กำลังมีการพัฒนายกระดับสนามบินหลายแห่งในภูมิภาค
รวมทั้งสนามบินเมืองกระแจ๊ะ (Kratie) กับ มณฑลคีรี (Mondolkiri) ในกัมพูชา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งทางอากาศอีกด้วย

เจ้าหน้าที่ของไทยกล่าวว่า GMS ห้อมล้อมด้วย 2 เศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกคือจีนกับอินเดีย มีความร่วมมือในอีกหลายกรอบกับ เช่น อาเซียน BIMSTEC รวมทั้ง ACMECS

ประเทศไทยที่ตั้งอยู่กึ่งกลางอนุภูมิภาค มีศักยภาพสูงที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อ และเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น