ผู้จัดการรายวัน-- รัฐบาลเวียดนามสั่งการให้รัฐวิสาหกิจการรถไฟเวียดนามลงมือก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมภาคเหนือกับภาคใต้ความยาวกว่า 1,600 กิโลเมตรในปีนี้ เพื่อบริการในอีก 6 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันก็สั่งการให้เร่งปรับปรุงการขนส่งระบบรางที่มีอยู่ทั้งหมดในทั่วประเทศ
การก่อสร้างและฟื้นฟูบูรณะการขนส่งระบบรางทั้งเก่าและใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ทั่วเวียดนามซึ่งจะเริ่มในปีนี้ รวมทั้งท่าเรือใหม่นับสิบแห่ง สนามบินแห่งใหม่และพัฒนายกระดับสนามบินเก่านับสิบแห่ง
โครงการรถไฟความเร็วสูงหัวกระสุน (Bullet Train) นับเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เริ่มจากกรุงฮานอยไปยังนครโฮจิมินห์รวมระยะทาง 1,630 กิโลเมตร ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 32,600 ล้านดอลลาร์ (หรือกว่า 1 ล้านล้านบาท)
นายโห่เหงียะยวุ๋ง (Ho Nghia Dung) รัฐมนตรีกระทรวงการขนส่งเวียดนามได้ สั่งการไปยังบริษัทรถไฟแห่งเวียดนาม (Vietnam Railway Corporation) ให้เร่งดำเนินการ เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์ข่าวเศรษฐกิจเวียดนาม หรือ TBKTVN (Thoi Bao Kinh Te Vietnam) กล่าว
ระบบรถไฟหัวกระสุนของเวียดนามจะสามารถแล่นด้วยความเร็วได้ 200-300 กม.ต่อชั่วโมง ใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมง ในการเดินทางจากกรุงฮานอยไปยังโฮจิมินห์ เทียบกับรถไฟโดยสารในปัจจุบันที่ต้องใช้เวลา 28-30 ชั่วโมง
ภายใต้โครงการเดียวกันนี้จะต้องมีการพัฒนายกระดับหรือก่อสร้างใหม่สะพานรถไฟจำนวน 44 แห่งตั้งแต่เหนือจรดใต้ รวมทั้งสะพานลองเบียน (Long Bien Bridge) ซึ่งสะพานรถไฟในกรุงฮานอย เพื่อให้สามารถรองรับระบบรถไฟหัวกระสุนได้
รัฐบาลเวียดนามได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปเป็นเงิน 150 ล้านยูโร สำหรับการก่อสร้างสะพานรถไฟลองเบียน TBKTVN กล่าว
นอกจากนั้นจะต้องก่อสร้างทางรถไฟผ่านอุโมงค์ไฮวัน (Hai Van) ช่วงนครด่าหนัง (Danang) กับ จ.กว๋างนาม (Quang Nam) อุโมงค์แห่งนี้เปิดใช้ในปี 2548 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างเจาะทะลุภูเขา 2 ลูก
ภายในอุโมงค์ได้เว้นเนื้อที่เอาไว้สำหรับติดตั้งรางรถไฟในอนาคต อุโมงค์ไฮวันช่วยลดเวลาการสัญจรระหว่างฮานอย-โฮจิมินห์ให้สั้นลง 2 ชั่วโมง
นายกรัฐมนตรีเวียดนามเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ได้สั่งการเมื่อปีที่แล้ว ให้บริษัทรถไฟเร่งก่อสร้างไฮสปีดเทรนพร้อมกันรวดเดียว โดยไม่ต้องแบ่งการก่อสร้างออกเป็นช่วงๆ เพื่อให้แล้วเสร็จตลอดสายในคราวเดียวกัน
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ช่วยเหลือเวียดนามสำรวจความเป็นไปได้กับความเหมาะสมโครงการรถไฟความเร็วสูงมาตั้งแต่ปี 2549 โดยใช้เวลา 18 เดือน ที่ผ่านมามีการลงถึงพื้นที่ตลอดแนว มีการศึกษาผลกระทบต่อสังคมท้องถิ่นและสภาพแวดล้อมด้วย
ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับผลการสำรวจศึกษาดังกล่าว รัฐบาลเห็นว่าเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว การประกวดราคาหาผู้ก่อสร้างจะต้องเริ่มทันทีเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า สื่อของทางการเวียดนามกล่าว
บริษัทต่างชาติหลายแห่งรวมทั้งกลุ่มซีเมนต์ (Seimens) จากเยอรมนี กับอาลสตอม (Alstom) จากฝรั่งเศส รวมทั้งบริษัทจากจีนได้ให้ความสนใจจะเข้าร่วมการก่อสร้างและจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือรวมทั้งเทคโนโลยีของระบบด้วย
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในที่สุดแล้วโครงการรถไฟหัวกระสุนเวียดนามก็อาจจะต้องใช้เทคโนโลยีระบบของญี่ปุ่น เนื่องจากการก่อสร้างโครงการนี้ ศึกษาโครงการโดยบริษัทและหน่วยงานพัฒนาของญี่ปุ่นและจะใช้เงินทุนเกือบทั้งหมดจากรัฐบาลญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นได้ตกลงเมื่อปี 2549 จะให้การสนับสนุนเงินทุนส่วนใหญ่แก่โครงการรถไฟความเร็วสูงของเวียดนาม แต่ยังไม่เคยมีการเปิดเผยเกี่ยวกับการจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนดังกล่าว
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่เวียดนามกล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงอาจจะใช้โมเดลเดียวกันกับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดิน สายแรกในนครโฮจิมินห์ที่ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อเดือนที่แล้ว
รถไฟฟ้าใต้ดินจากตลาดเบ๊นแถ่ง (Ben Thanh) ไปยังสถานีขนส่งเสือยเตียน (Suoi Tien) ความยาวประมาณ 20 กิโลเมตรใช้เงินลงทุนราว 1,000 ล้านดอลลาร์ ในนั้นกว่า 80% เป็นเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางหรือ ODA (Official Development Assistance) กับเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ
รถไฟความเร็วสูงจะสร้างขนานไปกับทางรถไฟปัจจุบันที่ใช้งานมานานกว่า 100 ปี และอยู่ในสภาพทรุดโทรม แต่รัฐบาลยังคงให้รักษาเอาไว้และฟื้นฟูบูรณะให้เป็นทางรถไฟชุมชนแทน
แตกต่างกันก็คือระบบรางใหม่จะมีขนาดความกว้าง 1.435 เมตร ส่วนระบบเก่าที่ใช้ทุกวันนี้กว้างเพียง 1 เมตร
ในปี 2551 นี้บริษัทรถไฟของรัฐกำลังจะเริ่มฟื้นฟูบูรณะและยกระดับทางรถไฟสายเก่าทั้งในภาคเหนือและภาคใต้อีกนับสิบช่วง ด้วยเงินงบประมาณและเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี
การพัฒนายกระดับจะดำเนินไปเป็นระยะๆ จากนี้ไปจนถึงปี 2555 และมีกำหนดแล้วเสร็จตลอดเส้นทางภายในปี 2560 หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันกล่าว
การพัฒนาระบบรถไฟทั้งระบบกำลังจะเริ่มขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาขนส่งทางอากาศ ขนส่งทางน้ำและการก่อสร้างถนนหลวงและมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศซึ่งจะดำเนินไปตลอด 12 ปีข้างหน้า จนถึงปี 2563
เวียดนามจะเริ่มการขยายท่าอากาศยานกรุงฮานอยในปีนี้เพื่อให้รองรับผู้โดยสารปีละ 15-20 ล้านคน ขนส่งสินค้าได้ 80,000 ตันต่อปี โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2553 ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเวียดนาม (VNA)
ประวัติความเป็นมาสั้นๆ ของยานพาหนะระบบรางชนิดนี้ก็คือ ในปี 2507 ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ได้สร้างรถไฟความเร็วสูงขึ้นมาแบบสร้างความแปลกใจให้แก่คนทั้งโลก ด้วยความเร็วสูงสุด 201 กม.-ชม.
ปัจจุบันชินกันเซนสายกรุงโตเกียว-นาโงยา-เกียวโต-โอซากา ในปัจจุบันสามารถแล่นด้วยความเร็วถึง 300 กม./ชม.
รถไฟความเร็วสูงได้รับการพัฒนาต่อๆ มาทั้งในจีนและในยุโรป เมื่อปีที่แล้วฝรั่งเศสได้นำเข้าใช้การรถไฟความเร็วสูงที่มีความเร็วที่สุดในโลก.