กรุงเทพฯ-- กลุ่มนักศึกษาพลัดถิ่นชาวพม่า ซึ่งส่วนใหญ่รอดชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลทหารในเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อกว่า 20 ปีก่อน พากันกล่าวว่าการประกาศเลือกตั้งของรัฐบาลทหารวันเสาร์ (9 ก.พ.) ที่ผ่านมาเป็นการวางกับดัก เพื่อที่จะได้อยู่ในอำนาจต่อไป
กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกลุ่มอื่นๆ ก็เห็นพ้องกันว่ากลุ่มปกครองทหารในพม่ากำลังสร้างกับดักใหม่ โดยจะใช้ความรุนแรงทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ จะผ่านไปได้ตามแผนการวางไว้
กลุ่มนี้ยังเรียกร้องให้ชาวพม่าทุกชนชาติคว่ำบาตรการลงประชามติดังกล่าว ไม่ตกเป็นเครื่องมือของพวกนายพลที่เมาอำนาจ
เมื่อวันเสาร์รัฐบาลทหารพม่าประกาศผ่านสื่อต่างๆ อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า กำลังจะจัดการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2553 ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายพากันแปลกใจ
แต่ถ้าหากทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ ก็กำลังจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศนี้ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา ซึ่งแนวร่วมสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD (National League for Democracy) ของนางอองซานซูจีมีชัยอย่างท่วมท้น แต่ฝ่ายทหารไม่ยอมลงจากอำนาจ
นักศึกษากลุ่ม 88 (Generation 88) ซึ่งเป็นองค์กรพันธมิตรของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชั้นนำกล่าวว่า ฝ่ายทหารกำลังจะใช้การลงมติรัฐธรรมนูญที่จะจัดขึ้นนี้ ล้มล้างความชอบธรรมและผลของการเลือกตั้งปี 2533 และสร้างความชอบธรรมให้แก่การปกครองของกลุ่มเผด็จการ
กลุ่มชาวพม่าพลัดถิ่นยังกล่าวอีกว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดขึ้นเป็น "การประกาศสงคราม" กับประชาชนโดยฝ่ายทหารเตรียมความพร้อมทุกอย่าง แม้กระทั่งการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน เพื่อให้ผลการลงประชามติออกมาอย่างตั้งใจ
"การจัดลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นจะเป็นสนามรบใหญ่ระหว่างระบอบปกครองทหารที่ต้องการครองอำนาจตลอดไป กับประชาชนชาวพม่าที่ต้องการให้รอดพ้นจากการปกครองของทหาร" กลุ่ม88 ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกในกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ (11 ก.พ.) นี้
รัฐบาลพม่า "กำลังพยายามทำให้อำนาจการปกครองเผด็จการทหารถูกต้องตามกฎหมายด้วยรัฐธรรมนูญจอมปลอม" เป็นความพยายามที่จะล้มล้างชัยชนะของการเลือกตั้งปี 2533 ที่สะท้อนจิตใจและศักดิ์ศรีของประชาชน
อดีตแกนนำของนักศึกษากลุ่ม 88 จำนวนหนึ่งถูกจับกุมไปในเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว หลังจากที่ได้จัดการเดินขบวนอย่างสงบในกรุงย่างกุ้ง ประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า
ในเวลาข้ามเดือนต่อมาการประท้วงกลุ่มเล็กๆ นั้นได้กลายเป็นการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2531 โดยมีพระภิกษุเป็นหัวหอกนำขบวน และมีประชาชนเข้าร่วมนับแสนๆ
องค์การสหประชาชาติรายงานว่า พบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 30 ราย จากการปราบปรามอย่างรุนแรงของฝ่ายรัฐบาลในช่วงปลายเดือน ก.ย. ขณะที่ขององค์การ Human Right Watch ที่สอดส่องดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตมีจำนวนกว่า 100
รัฐบาลทหารพม่าปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2505 และมีการเปลี่ยนตัวคณะผู้นำมาแล้วอย่างน้อย 2 รอบตั้งแต่การปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2531 ซึ่งหลายหน่วยงานกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,000 คน.