xs
xsm
sm
md
lg

มาไม้ไหน? พม่าก็ประกาศเลือกตั้งปี 2553

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



กรุงเทพฯ - หลายวงการเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า คณะปกครองทหารในพม่าจะมาไม้ไหนอีก หลังจากจู่ๆ ก็ประกาศจะจัดให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือน พ.ค.ศกนี้ ก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2553 โดยไม่สนใจว่าพรรคฝ่ายค้านจะเข้าร่วมหรือไม่


“การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีขึ้นในเดือน พ.ค.2551” สถานีวิทยุและโทรทัศน์ทั่วประเทศประกาศคำแถลงของรัฐบาลชิ้นหนึ่งเมื่อวันเสาร์ (9 ก.พ.)

“การเลือกตั้งประชาธิปไตยที่มีการเมืองหลายพรรคจะจัดขึ้นในปี 2553 ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” คำแถลงฉบับเดียวกันระบุ ทั้งยังกล่าวอีกว่านับว่าเหมาะสมแล้วที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากฝ่ายทหารไปสู่ฝ่ายพลเรือน ขณะที่ “ได้มีการจัดตั้งพื้นฐานที่ดีต่างๆ ขึ้นมาแล้ว”

การประกาศดังกล่าวได้สร้างความสงสัยระคนกับแปลกใจให้แก่สันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (National League for Democracy) พรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในประเทศที่มี นางอองซาน ซูจี เป็นหัวหน้าพรรค แต่ถูกกักขังให้อยู่ในบ้านพักติดต่อกันมากว่า 10 ปี ตลอดเวลา 19 ปีมานี้

นายเนียนวิน (Nyan Win) โฆษก NLD กล่าวว่า การประกาศดังกล่าวทำให้พรรครู้สึกแปลกใจ เนื่องจากยังไม่มีใครเคยได้เห็นร่างสุดท้ายของรัฐธรรมนูญเลย ส่วนกลุ่มพม่าพลัดถิ่นในต่างแดนบางกลุ่ม กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นแค่เรื่องหลอกๆ ที่ฝ่ายทหารจัดขึ้นมาเพื่อจะครองอำนาจต่อไป

พรรค NLD ประกาศไม่เข้าร่วมการร่างรัฐธรรมที่จัดขึ้นโดยฝ่ายทหาร ตราบเท่าที่หัวหน้าพรรคยังถูกกักบริเวณและผู้นำอีกจำนวนหนึ่งยังถูกคุมขัง

การประกาศเมื่อวันเสาร์นี้สร้างความแปลกใจให้แก่บรรดาชาวพม่าพลัดถิ่น รัฐบาลชาติตะวันตก รวมทั้งอังกฤษต่างมีความเคลือบแคลงสงสัยว่าทหารพม่าที่ผูกขาดอำนาจการปกครองมานานเกือบครึ่งศตวรรษ จะมาไม้ไหนอีก ในกลเกมรักษาอำนาจและผลประโยชน์มหาศาลจากทรัพยากรของชาติ

การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งสุดท้ายจัดขึ้นเมื่อปี 2533 นางซูจี ยังถูกขังให้อยู่ในบ้านพักตั้งแต่ปี 2532 พรรค NLD ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ๆ ก็ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่ฝ่ายทหารไม่ยอมมอบอำนาจแก่พลเรือน

การเลือกตั้งปี 2533 มีขึ้นหลังเกิดความระส่ำระสายขึ้นทั่วประเทศ จากการปราบปรามทางการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า

ในปี 2531 เกิดการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ทหารได้ปราบปรามอย่างรุนแรงซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่าอาจจะมีผู้ถูกสังหารไปไม่น้อยกว่า 3,000 คน

จากนั้นฝ่ายทหารได้ประกาศจัดร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่การประชุมครั้งแรกมีขึ้นในปี 2536 และขาดๆ หายๆ มาเรื่อย จนกระทั่งกลับมาจริงจังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2547 รวมใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญนานถึง 14 ปี

การประกาศจัดเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อวันเสาร์นี้ มีขึ้นเพียง 4 เดือนเศษหลังเหตุการณ์นองเลือดเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งรัฐบาลใช้กำลังทหาร-ตำรวจอาวุธครบมือเข้าปราบปรามประชาชนนับแสนๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขึ้นราคาน้ำมันโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า

พม่ากำลังตกอยู่ท่ามกลางการกดดัน ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองจากประชาคมระหว่างประเทศที่นำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ทำให้ประสบความยากลำบากรอบด้าน

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ในปัจจุบันรัฐบาลทหารขาดรายได้ในการบริหารจัดการประเทศเนื่องจากเศรษฐกิจล้มเหลว อาศัยเงินรายได้หลักจากการค้าขายข้ามพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและจากการจำหน่ายก๊าซให้กับประเทศไทยเป็นเงินปีละประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์

ทางการพม่ายังมีรายได้จากการเปิดประมูลจำหน่ายหยกพลอยและหินอัญมณีต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันจัดขึ้นอย่างถี่ยิบจากที่เคยจัดปีละ 2 ครั้งเพียง 3 ปีก่อนหน้านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น