ประชาชนไทย ร้อยละ 91.95 บอกว่าอากาศร้อนต่อเนื่อง ส่งผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นมากที่สุด วอนภาครัฐลดราคาค่าไฟเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,305 ราย ระหว่างวันที่ 20 – 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา หัวข้อ “คนไทย..กับภาวะอากาศร้อน” เพื่อต้องการทราบว่าคนไทยได้รับผลกระทบในเรื่องใดจากสภาพอากาศร้อน
ผลสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.95 ประสบปัญหาจากภาวะอากาศร้อน ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 84.33 คือ มีค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น รองลงมาคือ ร้อยละ 71.83 มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันในภาวะอากาศร้อน อันดับ 3 ร้อยละ 52.42 คือ มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น อาการปวดหัว ไมเกรนและโรคลมแดด มีเพียงร้อยละ 8.05 เท่านั้น ที่ไม่ประสบปัญหาจากภาวะอากาศร้อน
ความต้องการให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหา “ภาวะอากาศร้อน” ของประชาชน ได้แก่
1) ต้องการให้ช่วยลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ร้อยละ 79.41
2) ต้องการให้สนับสนุนประชาชนใช้พลังงานสะอาด เช่น รถไฟฟ้า พลังงานโซลาร์เซลล์และนโยบายเพิ่มพื้นที่
สีเขียว เพื่อช่วยลดอุณหภูมิ ร้อยละ 12.74
3) ต้องการให้มีจุดบริการน้ำดื่มในช่วงที่มีอากาศร้อนเพื่อบรรเทาความร้อนแก่ประชาชน ร้อยละ 3.93
4) อื่นๆ ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายและมีบทลงโทษอย่างจริงจังต่อผู้สร้างมลพิษและการพัฒนาแหล่งน้ำระบบชลประทานให้ดี ร้อยละ 3.92
เมื่อสอบถามถึงการประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากปัญหา “ภาวะอากาศร้อน”(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.28 ได้แก่ ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ ร้อยละ 57.14 ได้แก่ การเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มและเครื่องดื่มคลายร้อน เพิ่มมากขึ้น อันดับ 3 ร้อยละ 32.14 ได้แก่ การเสียค่าใช้จ่ายเพื่อไปยังสถานที่อากาศเย็นสบาย เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และคาเฟ่ ต่างๆ
จากปัญหา “ภาวะอากาศร้อน” พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.85 มีการแก้ไขปัญหา(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 85.49 ได้แก่ ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและวัสดุอุปกรณ์สำหรับป้องกันความร้อน รองลงมา ร้อยละ 78.42 ได้แก่ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้รอบบ้านเพื่อป้องกันความร้อน อันดับ 3 ร้อยละ 76.29 ได้แก่ การติดตั้งพลังงานโซลาร์เซลล์ต่างๆ เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า ในขณะที่ร้อยละ 40.15 ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ใช้ชีวิตประจำวันหรือทำงานในสถานที่กลางแจ้งที่เสี่ยงต่ออากาศร้อนจัด
ปัจจุบัน “ภาวะโลกร้อน” ถือเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลก มีสาเหตุมาจากการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการทำอุตสาหกรรมและการขนส่ง รวมถึงการเผาไหม้และการจัดการของเสียที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก ส่งผลให้หลายประเทศมีจำนวนวันที่มีอากาศร้อนต่อปีเพิ่มขึ้นจากในอดีต
ขณะที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบในหลายด้าน เช่น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล อากาศร้อนมากกว่าปกติ และการเกิดภัยพิบัติที่มีความรุนแรงขึ้น กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนจากคลื่นอากาศร้อน ส่งผลให้ประชาชนเกิดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในการบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำดื่ม รวมถึงค่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าสูงตามขึ้นด้วย
จากผลสำรวจดังกล่าว ประชาชนส่วนใหญ่มีความต้องการให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้แก่ การช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบสภาพอากาศร้อน ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะกลายเป็นปัญหาที่กระทบภาคเศรษฐกิจในวงกว้าง จากภาวะต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากสภาพ“อากาศร้อน” ในขณะที่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว ควรมีการเร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยปรับอุณหภูมิ ไม่ให้ร้อนเพิ่มมากขึ้น