xs
xsm
sm
md
lg

กรมโลกร้อน ผนึกพันธมิตร ร่วมปลุกสังคมไทยมุ่งสู่คาร์บอนต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เข้าร่วม เปิดตัวโครงการ Chula Learn-Do-Share 2024 จัดโดยมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ และสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา


ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช ได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ “ความท้าทายในการเดินหน้าอนาคตประเทศ: COP 28 Global Stocktake และความสำคัญของ Supply chain management” ในงานอรุณ สรเทศน์ รำลึก 2567” ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยนวัตกรรม ณ หอประชุมวิศวฯ จุฬาฯ “HALL OF INTANIA” คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ โดยมีผู้รับฟังการบรรยายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน นักวิจัย คณาจารย์ นิสิต กว่า 300 คน

ใจความสำคัญที่กล่าวคือ "ประเทศไทยต้องเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน"

ทั้งนี้ผลลัพธ์ของการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global stocktake: GST) จากการประชุม COP28 ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส การสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี การพัฒนาศักยภาพต่อการปรับตัวของประเทศกำลังพัฒนา ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม

อธิบดีกรมโลกร้อน ย้ำถึงความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานของการผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการกำหนดมาตรฐานการประเมินปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกขององค์กร (CFO) และมาตรฐานการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (CFP) ผ่านการสนับสนุนมาตรการทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาครัฐเพื่อเข้าสู่สังคมแห่งความยั่งยืน

อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านนโยบาย การเงิน/การลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม กฎหมาย/ระเบียบ การพัฒนากลไก ตลาดคาร์บอนเครดิต และที่สำคัญจะต้องมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน




กำลังโหลดความคิดเห็น