ขยะกำพร้า : ขยะที่รถซาเล้งไม่รับซื้อ ต่ออายุให้เกิดคุณค่าได้ ด้วยสองทางเลือกลดขยะต้นทาง หนึ่งแบบสีเขียวอ่อน เดินตามนโยบาย “ไม่เทรวม” ของกทม. เพียงแค่คัดแยกขยะเป็นสองถัง เปียก-แห้ง สองแบบสีเขียวเข้ม คัดแยกต่อจากถังแห้งแล้วส่งไปสู่ 3 เส้นทางเพิ่มคุณค่า นักวิชาการ-ธุรกิจชั้นนำ หนุนออกกม.ตามรอยอียู โดยใช้หลัก EPR หรือการขยายความรับผิดชอบกับผู้ผลิตสินค้า
เนื่องจาก “ขยะกำพร้า” เป็นขยะที่ไม่มีใครเอา เพราะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือทำได้แต่ไม่คุ้มค่า ซึ่งแม้แต่ซาเล้งเองก็ไม่รับซื้อ จึงกลายเป็นขยะที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ “จัดการขยะกลางทาง” หรือการจัดเก็บ รวบรวม คัดแยก ปรับปรุงสภาพให้มีคุณลักษณะเหมาะสมต่อการจัดการ นั่นทำให้ปลายทางของขยะส่วนใหญ่จบที่หลุมฝังกลบ และตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่นขยะทะเลที่เพิ่มขึ้นทุกปี
จากการศึกษาองค์ประกอบขยะมูลฝอยทั่วประเทศ เมื่อปี 2564 ของกองการจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ขยะกำพร้ามีมากกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักของขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด เฉพาะในกรุงเทพฯ มีขยะเกิดขึ้นกว่าวันละ 10,000 ตัน มีองค์ประกอบเป็นพลาสติก และกระดาษที่ไม่สามารถรีไซเคิลถึงร้อยละ 21.7 ของน้ำหนัก
กทม.ปูฐาน ชวนเริ่มต้นง่ายๆ คัดแยกทิ้งขยะสองถัง เปียก-แห้ง
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร ชี้แจงเรื่องการคัดแยกขยะของกทม. ว่า “โดยหลักๆ แล้วมีอยู่ 2 ข้อความที่ต้องการสื่อสาร 1) แยกขยะเป็นเรื่องง่าย ขอแยกแค่ 2 ประเภท : เปียก กับ แห้ง และ 2) ถ้าแยกขยะแล้วต้องไม่เทรวม เนื่องจากขยะทุกชิ้นมีทางไป หนีบ่อฝังกลบ"
สิ่งที่กทม.ช่วยสนับสนุนคือการสร้าง ecosystem ที่สะดวกสำหรับการแยกขยะ ทลายความเชื่อว่า "ถ้าแยกแล้วก็เทรวมอยู่ดี" ทุกวันนี้ รถขยะของกทม.พอท่านคัดแยกเป็นขยะ 2 ส่วน ขยะแห้งและเปียก เรามีที่ไปต่อ หรือให้ท่านช่วยคัดแยกต่อ แล้วเลือกทางไป อย่างขยะแห้ง มี 3 ทางไปต่อ
1. ภาคีมารับซื้อถึงบ้าน
WASTE BUY Delivery รถสะดวกซื้อ มีบริการรับซื้อทุกพื้นที่ในกทม. มีปริมาณขั้นต่ำ 100 กิโลกรัมต่อ 1 แหล่งกำเนิด โดยสามารถโทรแจ้งล่วงหน้าได้อย่างน้อย 1 วัน ซึ่งขยะที่รับนั้นรวมหลายประเภทได้ และยังรับ RDF ได้ด้วย
Recycoex สามารถเรียกไปรับขยะผ่าน application ได้โดยจะต้องมีปริมาณเต็มรถกระบะ 1 คัน (100-300 กก.) และสามารถไปเก็บเดือนละครั้ง พร้อมกับยังสามารถซื้อถุงนมโรงเรียนได้เช่นกัน
Wake Up Waste มีบริการรับซื้อขยะในพื้นที่กรุงเทพฯโดยเริ่มจากการนัดหมายไปสำรวจพื้นที่และนัดหมายเวลาจัดเก็บ ซึ่งเงื่อนไขต้องมีน้ำหนักอย่างน้อย 250 กิโลกรัม
รีไซเคิลเดย์ Recycle Day Thailand พร้อมเข้าไปรับซื้อผ่านการจองใน application ซึ่งสมาชิกจะได้รับคะแนนและสามารถนำคะแนนไปแลกของรางวัลต่างๆได้ ล่าสุดทางบริษัทได้มีการเปิดตัวโครงการรับซื้อเศษอาหารด้วยซึ่งประชาชนสามารถเช่าถังใส่เศษอาหาร นอกเหนือจากนั้นแน่นอนว่ายังมีพี่ซาเล้งที่อยู่ตามพื้นที่อยู่แล้ว
2. รับซื้อ/รับบริจาคตามจุด
Trash Lucky เป็นภาคีที่เปิดรับให้ผู้แยกขยะส่งของมาที่จุดรับได้โดยมีการคิดค่าบริการขั้นต่ำขึ้นกับขนาดของพัสดุแต่ถ้าซื้อกล่องของ trash lucky จะฟรีค่ารับส่งขยะ ซึ่งมาส่งแล้วก็รับแต้มสะสม
สำหรับขยะกำพร้าที่ไม่ค่อยมีคนรับซื้อ เช่น HDPE (ขวดนม ขวดแชมพู แก้วโยเกิร์ต) LDPE (หลอดโฟมล้างหน้า) PP (กล่องอาหารที่ใส่ไมโครเวฟได้) PS (ช้อนส้อมพลาสติก) สามารถส่งต่อให้ YOLO - Zero Waste Your Life หรือไปส่งที่จุดนัดพบของ N15 Technologyได้
3. รับบริจาคจากตามจุด drop off
ปัจจุบันกรุงเทพฯร่วมกับภาคี "มือวิเศษ กรุงเทพฯ" ได้ตั้งจุดรับวัสดุรีไซเคิลในทุกสำนักงานเขตและศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง รับภาชนะเช่น ขวด PET พลาสติกยืด HDPE รวมถึงขยะกำพร้า
“จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นรีไซเคิลหรือไม่ก็ตาม ขยะที่แยกแล้วมีทางไปหมด ซึ่งเราเชื่อว่าการมี ecosystem ส่งเสริมทางไปของขยะแห้งที่ชัดเจน และมีการสื่อสารที่ชัด จะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ประชาชนมองว่าเรื่องแยกขยะเป็นเรื่องง่าย สะดวก และเป็นประโยชน์” นายพรพรหมกล่าว
ปรับเปลี่ยนเป็นคนรักษ์โลก (สีเขียวเข้ม) โดยเรียนรู้ “ขยะกำพร้า” จากภายในบ้าน?
ทุกวันนี้ขยะกำพร้าส่วนใหญ่มาจากอาหารเดลิเวอรี่ เช่น ถาดอาหาร, ถุงฟอยล์, ถุงร้อน, ช้อนส้อมพลาสติก หรือเป็นขยะที่ไม่มีทางไป เช่น ซาเล้งก็ไม่รับซื้อ, โรงงานรับซื้อของเก่าไม่ค่อยสนใจ จึงทำให้หลายๆ คนตัดสินใจเทรวม โดยมัดรวมขยะทุกประเภทลงในถุงเดียว นั่นทำให้คนคัดแยกขยะต่อลำบาก เนื่องจากปนเปื้อน
ลองมาเรียนรู้ เพียงใช้เวลาแยก ‘ขยะกำพร้า’ ที่อยู่ในส่วนต่าง ๆ ของบ้าน
ห้องครัว มองรอบตัวจะพบกับขยะกำพร้าอยู่ เช่น ขวดน้ำอัดลม, กระป๋องน้ำอัดลม, ช้อนส้อมพลาสติก, กล่องพลาสติก, ถุงร้อน, ซองขนม, ซองเครื่องปรุง, แผงไข่, แคปซูลกาแฟ, ฟอยล์ต่าง ๆ, ซองกันชื้น และฟองน้ำล้างจาน
ห้องน้ำ เป็นอีกหนึ่งจุดที่รวมตัวเหล่าขยะกำพร้าไว้ เช่น ขวดน้ำยาต่าง ๆ, แปรงสีฟัน, แปรงขัดโถส้วม (ไม่มีลวด), ถุงมือยาง, สบู่เหลือทิ้ง, ไม้ปั่นหู หรือ ไหมขัดฟันเป็นต้น
ห้องนั่งเล่นมุมชิล ๆ มุมพักผ่อนก็แอบมีขยะกำพร้าซ่อนอยู่ได้ เช่น รูปถ่ายที่ไม่ต้องการเก็บ, ฟิล์มภาพ, ซองพัสดุ(ตัดฉากพลาสติกออก), กล่องโฟม, โฟมกันกระแทก หรือ แผงยาหมดอายุ เป็นต้น
ห้องนอน ห้องแต่งตัวมีขยะกำพร้า เช่น เสื้อผ้าเก่า (ใยสังเคราะห์), ชุดชั้นในชาย, ชุดชั้นในผู้หญิง (เอาโครงเหล็กออก) และ ซิลิโคน เป็นต้น
หรือท่านลองมองหาสัญลักษณ์ขยะพลาสติกประเภทต่าง ๆ ดังนี้ 1-PETE, 2-HDPE, 4-LDPE, 5-PP, 6-PS, 7-O หรือ Other เป็นต้น จาก ขยะกำพร้า ที่ค้นหาเจอในบ้าน ซึ่งก่อนจะส่งต่อไปสร้างประโยชน์ใหม่ๆ ยังต้องจัดการทำความสะอาดให้ดีที่สุด โดยมีขั้นตอนการทำความสะอาด ขยะกำพร้า ดังนี้ (ดูจากรูปกราฟฟิก)
-แกะฉลากพลาสติก หรือนำเศษอาหารให้หมดก่อน
-ล้างให้สะอาด สามารถตัดเพื่อซอง ตัดกล่อง เพื่อล้างภายใน
-ตากให้แห้งสนิท เพื่อลดพลังงานในการเผา
-แยกประเภทขยะให้ชัดเจน เก็บใส่ถุงขยะให้มิดชิด
เมื่อแยกประเภท และทำความสะอาดขยะกำพร้าแล้วสามารถส่งต่อไปยังโครงการต่างๆ ดังนี้
N15 Technology ส่งต่อขยะกำพร้าไปทำพลังงานทดแทนถ่านหิน ติดตามจุดรับ ขยะกำพร้าสัญจร ได้ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/n15technology/
Green Roadส่งต่อขยะกำพร้าไปผลิตเป็นอิฐบล็อก หรือสิ่งก่อสร้าง ติดตามจุดรับ หรือวิธีการส่งขยะกำพร้าได้ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/greenroad.enterprise/
CirPlasส่งต่อขยะกำพร้าไปผลิตเป็น Reusable Material ทำของตกแต่งใหม่ๆ ที่มีมูลค่า ติดตามจุดรับ ขยะกำพร้า ได้ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/cirplas.official/
นักวิชาการ-ธุรกิจชั้นนำ หนุนขับเคลื่อน EPR
Extended Producer Responsibility หรือเรียกสั้นๆว่า EPR คือหลักการในการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปลายปีที่แล้ว ภาครัฐออกมาให้ข้อมูลถึงการเร่งยกร่างกฎหมาย “พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ. ...” โดยหนึ่งในสาระสำคัญจะมีการจัดตั้งองค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์ (Producer Responsibility Organization หรือ PRO) และนำผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าของบรรจุภัณฑ์เข้ามาทำงานร่วมกัน ภายใต้หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility หรือ EPR) ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของ 7 บริษัทชั้นนำที่รวมตัวกันในนามของ “เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” หรือ “PRO-Thailand Network” นำร่องเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท คือ ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่มยูเอชที และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (เช่น ถุงขนม ถุงเติม ซองกาแฟ)
ภาควิชาการผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย EPR ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (Circular Economy for Waste-free Thailand – CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมควบคุมมลพิษ ให้ยกร่าง พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า “ประเทศไทยเรียนรู้หลัก EPR มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จากการที่สหภาพยุโรปเริ่มบังคับใช้นโยบายด้านการจัดการขยะจากเศษซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste Electrical and Electronic Equipment หรือ WEEE) และทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้ศึกษาในระนาบต่าง ๆ เพื่อพัฒนาร่างกฎหมาย
โมเดล EPR ถูกคิดค้นโดยนายโธมัส ชาวสวีเดน เมื่อปี 1992 มี 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น (Liability) ความรับผิดชอบด้านการเงิน (Financial Responsibility) การเพิ่มกิจกรรมทางกายภาพ (Physical Responsibility) และความรับผิดชอบด้านการสื่อสารข้อมูล (Informative Responsibility)
“สององค์ประกอบแรกข้างต้น มุ่งให้ผู้ผลิตเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ บรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ส่วนองค์ประกอบที่ 3 คือ การจัดตั้งจุดรับคืนซากผลิตภัณฑ์เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและสนับสนุนการคัดแยกได้ ส่วนความรับผิดชอบด้านการสื่อสารข้อมูลแก่ประชาชน ถือเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบของผู้ผลิตและเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่นกัน จากองค์ประกอบของโมเดลนี้ จะเห็นได้ว่าความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและความรับผิดชอบด้านการเงินถือเป็นเสาหลักของการดำเนินงานของ PRO-Thailand Network โดยได้สนับสนุนให้ผู้ผลิตเข้ามาร่วมรับผิดชอบต่อการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ซึ่งจากเดิมตกอยู่กับระบบการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อาจต้องรับผิดชอบการจัดการที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและเกินกำลังที่ทางท้องถิ่นจะรับได้”
ส่วนความคืบหน้าข้อกฏหมายด้าน EPR นั้น ขณะนี้ทางกรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างการนำเสนอร่าง พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ไปยังคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยหากผ่านความเห็นชอบแล้ว จะถูกเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบในหลักการ ก่อนส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และส่งให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติต่อไป โดยปกติขั้นตอนเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จึงจะตราเป็นพระราชบัญญัติบังคับใช้