xs
xsm
sm
md
lg

ส่องเทรนด์ EV ครึ่งหลังกลับมาแรง คนเลือกซื้อรถ “ราคามาก่อนโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



•รถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ BEV กำลังชิงส่วนแบ่งตลาดจากรถยนต์สันดาปมากขึ้นทุกที หลักๆ ไม่ใช่เพราะพฤติกรรมคนไทยตอบโจทย์โลก แต่เป็นค่าใช้จ่ายถูกกว่า และมาตรการสนับสนุนภาครัฐ EV 3.5


•สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เร่งเครื่อง R&D เปลี่ยนใจคนเลือกยานยนต์ไร้มลพิษ (ZEV, Zero Emissions Vehicle)


•ส.อ.ท.จับกระแสเชี่ยวรถไฟฟ้าจีนที่ทยอยเข้ามาไทยทั้งผลิตและขาย แต่ยอดครึ่งปีแรกกลับลดลง เผยทิศทางบวกจะกลับมาครึ่งปีหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าภายในปีนี้ รถนั่ง BEV จะคว้าแชร์ถึง 28%

ปัจจุบันยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ใช้น้ำมันร่วมกับระบบไฟฟ้า (HEV&PHEV) ในไทย มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าภายในปีนี้จะมีส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์รวมเพิ่มขึ้นไปสู่ 15% และ 16% ตามลำดับ หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่งยิ่งพบส่วนแบ่งที่สูงขึ้นถึงระดับ 28% และ 31% ตามลำดับ

ส่วนเรื่องราคารถยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV ในปัจจุบันถูกลงมากเนื่องจากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ EV3.5 ต้องการให้คนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น นั่นทำให้ราคานั้นเริ่มจับต้องได้ และขยับลงเทียบเท่ากับรถน้ำมัน

ยกตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาจับต้องได้ง่ายที่สุด อย่าง 'Neta V' ซึ่งราคาเปิดตัวอย่างเป็นทางการเริ่มต้นอยู่ที่ 549,000 บาท ซึ่งเป็นเรทราคาที่คนส่วนมากใช้รถยนต์ระดับนี้ และยกตัวอย่างและเปรียบเทียบค่าพลังงาน (ค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำมัน) จากรถ 3 ประเภท ดังนี้
•รถยนต์ทั่วไป เฉลี่ยอัตรากินน้ำมันอยู่ที่ 10 กม./ลิตร
•รถไฮบริดหรือรถอีโคคาร์ เฉลี่ยอัตรากินน้ำมันอยู่ที่ 15 กม./ลิตร
•รถยนต์ไฟฟ้า Neta V ใช้ไฟฟ้า 100% อัตรากินไฟฟ้าอยู่ที่ 300 กม./38.54kWh


และเนื่องจากราคาน้ำมันมีความผันผวน และราคาค่าชาร์จไฟฟ้าก็แตกต่างกันไปตามเวลาและสถานีชาร์จเช่นกัน จึงใช้การประมาณดังนี้

•ค่าน้ำมัน น้ำมันในปัจจุบันผันผวนอยู่ที่ราวๆ 40 บาท ต่อลิตร
•ค่าไฟฟ้า ชาร์จที่ปั้ม (เวลา On peak) อยู่ที่ 7.5 บาทต่อหน่วย
•ชาร์จที่บ้าน หรือที่ปั้ม (เวลา Off Peak) อยู่ที่ 4.5 บาทต่อหน่วย
•ชาร์จที่บ้าน (Off Peak) และเปลี่ยนมิเตอร์ TOU อยู่ที่ 3 บาทต่อหน่วย


สรุปได้ว่า

•รถน้ำมันทั่วไป เดินทางกิโลเมตรละ 4 บาท
•รถอีโคคาร์ เดินทางกิโลเมตรละ 2.67 บาท
•รถ EV เดินทางกิโลเมตรละ 0.39-0.57-0.96 บาท ขึ้นอยู่กับการชาร์จในแต่ละครั้ง ซึ่งยังไม่ถึง 1 บาท


และเมื่อรวมทั้งหมดจะทำให้ค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าเมื่อใช้ไปเป็นเวลา 8-10 ปี หรือ 200,000 กิโลเมตร จะได้ค่าใช้จ่ายดังนี้


•รถน้ำมันทั่วไป จ่ายค่าน้ำมัน 800,000 บาท
•รถอีโคคาร์หรือรถไฮบริด จ่ายค่าน้ำมัน 530,000 บาท
•รถ EV จ่ายค่าไฟฟ้า เพียง 77,000-120,000-190,000 บาท (ตามสถานที่และเวลาในการชาร์จ)



EVAT เผยอีวีตอบโจทย์ คนและโลกคาร์บอนต่ำ

เป้าหมายของประเทศไทยในการก้าวสู่การเปลี่ยนด้านพลังงานในวงการยานยนต์ นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ย้ำว่าตั้งเป้าหมายในการขยับเข้าไปสู่ Carbon neutrality Target หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยในภาคการขนส่งเป็นอีกมิติหนึ่ง เพราะฉะนั้นทางคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จึงได้ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.2021 ทั้งการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle - ZEV (รถยนต์ไฟฟ้า 100% และ รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ไม่นับรวมรถยนต์สันดาปและรถปลั๊กอิน- ไฮบริด ,รถไฮบริด)

โดยในปี ค.ศ.2025 เป้าหมายในด้านการใช้ คือยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถยนต์นั่ง – รถกระบะไฟฟ้า ในสัดส่วน 30 % หรือประมาณ 225,000 คัน หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2030 เป้าหมายจะอยู่ที่ 50% และ 100% และในปี ค.ศ. 2035 ตั้งเป้าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ZEV ทั้งหมดในทุกประเภท”

นายกฤษฎา กล่าวว่า ภายในปีนี้ และอนาคตอันใกล้มีแนวโน้มที่ดีจากนโยบายรัฐบาลและหน่วยต่างๆ ที่สนับสนุนการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการเดินทางสาธารณะ ในปีนี้จะมีค่ายรถยนต์ต่างๆเข้ามาประกอบและผลิตในประเทศไทย ตามที่ได้เซ็น MOU กันไว้ระหว่างกรมสรรพสามิต และบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า โดยในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์เป็นอันดับ 11 ของโลก บนพื้นฐานของการผลิตในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังขาดในส่วนของการลงทุนเพื่อพัฒนา R&D ในด้านรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคือโจทย์สำคัญของไทย


เขาย้ำถึงข้อดีของรถอีวีว่า “สิ่งแรกเลยคือเรื่องของการลดมลภาวะ เมื่อไม่มีค่าคาร์บอนไดออกไซด์มาจากท่อไอเสียเราก็อยู่ในเมืองที่ลดมลภาวะลดลงได้ร่วมกัน เรื่องที่สอง คือ ต้นทุนการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกกว่ารถยนต์น้ำมัน แน่นอนว่าค่าเติมน้ำมัน เมื่อเทียบออกมาต่อกิโลเมตรแล้ว จะแพงกว่าค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าต่อกิโลเมตรแน่นอน และเรื่องของการบำรุงรักษาต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องหรือของเหลวแทบจะไม่มีในรถยนต์ไฟฟ้า เราเองในฐานะที่เป็นผู้ใช้ก็น่าจะได้ประโยชน์จะยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในเรื่องของมลภาวะและต้นทุนการเป็นเจ้าของ (ownership cost) ก็จะดียิ่งขึ้นด้วย”

ยอดขายรถยนต์ในปี 2024 อาจเพิ่มขึ้น 2 เท่า เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีนเข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในไทยนั้นเพิ่มสูงขึ้น ภายหลังรัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ผู้ผลิตรถที่เข้าร่วมกับรัฐบาลได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งลดภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต และเงินอุดหนุนสำหรับผู้ผลิต โดยมีเงื่อนไขต้องตั้งโรงงานและเดินสายการผลิตในประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและตอกย้ำถึงประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาค

ปัจจุบันประเทศไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายแล้ว 90,000 คัน และอีก 54,000 คันเป็น Plug-in Hybrid โดยทางคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติมีแผนที่จะปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มสถานีชาร์จสาธารณะมากกว่า 8,700 แห่งใน 2,200 สถานที่ทั่วประเทศ

“ปีนี้คงเห็นแล้วจากการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าครั้งแรกในโลกที่ประเทศไทยจากผู้ผลิตหลายรายที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมจากรัฐบาล ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการซื้อของประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าอาจเพิ่มขึ้นเป็น 225,000 คันในปี 2025 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ"

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลายปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย ระยะทางวิ่ง หรือแบตเตอรี่ที่มีความจุมากเพียงพอ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มาช่วยรองรับ เช่น จำนวนสถานีชาร์จที่สะดวก เข้าถึงง่าย พร้อมบริการ และนโยบายอุดหนุนที่รัฐจำเป็นต้องลงมาเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง หากต้องการให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็นฐานการผลิตรถ EV


ในประเด็นระบบนิเวศยานยนต์ หรือ EV- Ecosystem นายกสมาคมฯ หยิบยกข้อกังวลเรื่องสถานีชาร์จ EV หรือ Charging Station ที่หวั่นวิตกว่ายังไม่เพียงพอ ข้อมูล ณ เดือน กันยายน 2566 ไทยมีจุดชาร์จไฟฟ้าสาธารณะทั้งหมด 8,702 หัวจ่าย รวมทั้งแบบไฟฟ้ากระแสตรง (DC) และไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) จากสถานีชาร์จทั้งหมด 2,222 แห่ง ในจำนวนจุดชาร์จไฟฟ้าดังกล่าวแบ่งเป็นสถานีชาร์จ AC สาธารณะ 4,806 หัวจ่าย ขณะที่เป็นแบบชาร์จเร็ว (DC fast charge) 3,896 หัวจ่าย โดยสมาคมฯ ส่งเสริมให้ภาครัฐสนับสนุนสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าต่อสถานีชาร์จสาธารณะในไทยให้อยู่ที่ราว 10 คันต่อ 1 หัวชาร์จไฟฟ้า เพื่อให้การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นไปอย่างสะดวกสบาย ที่สำคัญในอนาคตสมาคมฯ ร่วมกับผู้ให้บริการสถานีชาร์จ ภายใต้ความร่วมมือของ Charging Consortium จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการชาร์จเพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงทำงานร่วมกับผู้ให้บริการสถานีชาร์จต่างๆ เพื่อให้มีโครงการที่สามารถเชื่อมต่อทุกๆผู้ให้บริการได้ และสามารถใช้งานและชำระเงินต่างผู้ให้บริการได้ เพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าสะดวกในการใช้บริการได้ในทุกๆที่

เวลานี้สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่มีส่วนร่วมในการร่างนโยบายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้กับประเทศด้วย และในขณะนี้ คณะอนุกรรมการในแต่ละคณะ กำลังรวบรวมความคิดเห็นรวมถึงความเป็นไปได้ทั้งหมดว่ามีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมอย่างไรบ้าง เช่น โครงสร้างภาษี ซึ่งหลังจากนี้เราก็จะเริ่มกลั่นกรองว่าจะนำเรื่องไหนมาใช้บ้างเพื่อขับเคลื่อนให้เร็วที่สุด

รวมถึงการส่งเสริมการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะสามล้อและจักรยานยนต์ไฟฟ้า, ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย, จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง, เตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย Electric Vehicle Association of Thailand หรือ EVAT รายงานว่า ยานยนต์ไฟฟ้า BEV เติบโตแบบก้าวกระโดด 380% และแซงยานยนต์ไฮบริด HEV แล้ว โดยยานยนต์ไฟฟ้า BEV ใหม่เพิ่มขึ้นจาก 20,816 คันในปี 2022 เป็น 100,219 คันในปี 2023 เติบโต 380%

ลำดับของประเภทยานยนต์ไฟฟ้า BEV ในการจดทะเบียนใหม่จากมากไปน้อย มีดังนี้

รถยนต์ไฟฟ้า BEV (76,366 คัน)
รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า BEV (21,927 คัน)
รถโดยสารไฟฟ้า BEV (1,218 คัน)
รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า BEV (432 คัน)
รถบรรทุกไฟฟ้า BEV (276 คัน)



ส.อ.ท.แจงอีวีทั่วโลกลดลง มีหลายปัจจัยกระทบ

อย่างไรก็ตามยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้สูงมากนัก นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมายืนยันว่าไม่ใช่ความต้องการที่ลดลงเลย แต่โดนปฎิเสธในเรื่องของการให้สินเชื่อ เพราะหนี้ครัวเรือนสูง

ขณะที่กระแสตลาดรถพลังงานไฟฟ้า หรือ EV ที่รัฐบาลไทยคาดหวังไว้มาก ฉายแววโดดเด่นมาแรงเมื่อปี 2566 แต่วันนี้กระแสเริ่มแผ่ว หากดูจากตัวเลขยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง (EV) โดยเฉพาะเดือนเมษายน 4,009 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกือบ 20% จากปี 2566 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่อยู่ที่ 76,538 คัน

แม้ตัวเลขยอดจดทะเบียนสะสม 4 เดือน ตั้งแต่ต้นปี 2567 สูงถึง 26,377 คัน แต่ก็เพราะเดือนมกราคม 2567 ยังได้รับอานิสงส์จากนโยบาย EV 3.0 ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 1.5 แสนบาท ที่ให้ขยายการจดทะเบียนมาถึงสิ้นเดือนมกราคม 2567 ทำให้ยอดจดทะเบียนรถอีวีพุ่งสูงเป็นพิเศษถึง 13,658 คัน แต่หลังจากนั้น เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ยอดจดทะเบียนร่วงเหลือเพียง 3,635 คัน และเดือนมีนาคม จำนวน 5,001 คัน

“การชะลอตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อกำลังซื้อ ยังมีปัจจัยสงครามราคาจากค่ายอีวีจีนที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลต่อราคาขายต่อ ยังมีการวิเคราะห์ถึงปัจจัยอื่นๆ ตั้งแต่การใช้งานที่ต้องมีการวางแผน เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางการวิ่งต่อการชาร์จไฟ รวมถึงปัญหาสถานีชาร์จที่ยังไม่ทั่วถึง เบี้ยประกันภัย ค่าซ่อมและอะไหล่โดยเฉพาะแบตเตอรี่ ที่แพงกว่ารถใช้น้ำมันเป็นเท่าตัว”

ปัญหาตลาดอีวีที่ชะลอตัวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย นักวิเคราะห์ต่างประเทศหลายสำนักมองว่า รถ EV ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงกำลังการผลิตรถ EV ของจีนที่มีมากกว่า 40 ล้านคันต่อปี ถือเป็นกำลังผลิตส่วนเกินที่ทำให้เกิดสงครามราคาขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้วันนี้ยอดขายรถ EV เริ่มชะลอตัวลงทั่วโลก หนุนให้รถยนต์ในกลุ่มไฮบริดกลับขยายตัวได้มากขึ้น แม้กระทั่งทวีปยุโรป ซึ่งกระแสการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดอยู่ในระดับสูงกว่าที่อื่นๆ แต่ยอดขายรถ EV ก็ลดลงจนน่าตกใจ


“ส.อ.ท.ยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ประเทศไทยน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากรัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนรวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต เช่นเดียวกับที่รัฐบาลได้กระตุ้นกำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์ไปก่อนหน้านี้” นายสุรพงษ์กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น