“อาเซียนควรพัฒนาและผลักดันการกำหนดมาตรฐานคาร์บอนเครดิตร่วมกันเป็นมาตรฐานระดับภูมิภาคที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล”
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับเชิญเป็นวิทยากรเสวนาในหัวข้อ “Carbon Tax–The Critical Path for Thailand Decarbonization การออกแบบภาษีคาร์บอนของไทย" แบ่งปันมุมมองของภาคเอกชนในประเด็นการเก็บภาษีคาร์บอนที่จะช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยร่วมเสวนากับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต และ ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในงานสัมมนา EARTH JUMP 2024 THE EDGE OF ACTION จัดโดยธนาคารกสิกรไทย ณ อาคารศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อเร็วๆ นี้
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า จากการที่มาตรการภาษีในอนาคตจะก่อให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้น ภาคการผลิตต่าง ๆ ควรต้องมุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการ รวมถึงใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลง และเสนอว่าภาษีคาร์บอนที่เก็บได้ ควรนำไปใช้เป็นเงินทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ไปสู่เป้าหมาย Net Zero
"ตนมองว่าประเทศไทยน่าจะใช้ทั้งระบบ ETS (Emission Trading Scheme - กำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) และภาษีคาร์บอนควบคู่กันไป โดยให้กลไกตลาดเป็นผู้สะท้อนราคาคาร์บอน นอกจากนี้ อาเซียนควรมีการพัฒนาและผลักดันการกำหนดมาตรฐานคาร์บอนเครดิตร่วมกันในระดับภูมิภาค เพื่อเป็นการผลักดันมาตรฐานกลางให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มอำนาจการต่อรองจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) รวมถึงอาเซียนควรมีการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต และนำกลไกด้านเงินทุนเช่น กองทุนของตลาดหลักทรัพย์ มาสนับสนุน"