“พัชรวาท” ถกมาตรการยกระดับแก้ฝุ่น PM2.5 เคาะตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด “อุบลฯ-นครพนม” แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
เมื่อวันที่ 22 เม.ย.67 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน โดยมี ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ, น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พร้อมกันนี้ยังได้ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ เพื่อรับฟังรายงานความก้าวหน้าสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5
พล.ต.อ.พัชรวาท เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือการดำเนินงานภายใต้มาตรการฉุกเฉินยกระดับการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต โดยได้เห็นชอบร่างคำสั่งการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.นครพนม เนื่องจากมีค่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มากกว่า 75.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องติดต่อกัน 5 วัน อีกทั้ง ยังได้ให้ความเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเพิ่มเติม กรณีปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าตั้งแต่ 75.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำคำสั่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดฯ และดำเนินการเสนอประธานกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืนลงนามต่อไป
นอกจากนี้ยังได้รับทราบผลการดำเนินงานตามมาตรการเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นตามมติคณะรัฐมนตรี และข้อมอบหมายนายกรัฐมนตรี ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผา, การสนับสนุนการเกษตรปลอดการเผา, การห้าม หรือควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผา ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบมาตรการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการกีดกันทางการค้า, การประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ, การตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และประกาศเขตอัคคีภัย ไฟป่า ในพื้นที่ 8 อำเภอ เพื่อควบคุมสถานการณ์ ผสานความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้ความเข้าใจ รวมถึงบังคับใช้มาตรการฉุกเฉิน ควบคู่กับการดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด การดูแลสุขภาพของประชาชน การจัดตั้งห้องปลอดฝุ่นที่รองรับได้มากกว่า 9 แสนคน การสนับสนุนหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คลินิกมลพิษและ Telemedicine การยกระดับความร่วมมือและเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีการเผาอยู่มาก และการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วม 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อให้เกิดการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM.2.5 อย่างใกล้ชิด.