ผู้จัดการรายวัน 360 - ปตท.จับมือธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ ศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบโครงการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงแยกก๊าซฯ กำลังผลิต 1 แสนตัน/ปี คาดได้ข้อสรุปภายในปีนี้
นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.ร่วมกับ ธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ (Thyssenkrupp Uhde) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่ให้บริการด้านการวางแผน การก่อสร้าง และการให้บริการวิศวกรรมแก่โรงงานเคมีและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะนำคาร์บอนไดออกไซด์ทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนได้เป็นเมทานอล (Methanol) เบื้องต้นมีขนาดกำลังผลิต 1 แสนตันต่อปี
ทั้งนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้นในโครงการดังกล่าวพบว่ามีความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยี แต่ในด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากต้นทุนการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนฯ พบว่าสูงกว่าเมทานอลจากก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นในอนาคตหากรัฐมีการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ก็จะทำให้โครงการนี้มีความคุ้มค่าการลงทุนเชิงพาณิชย์ได้
“การตัดสินใจลงทุนโครงการนี้เชิงพาณิชย์ต้องพิจารณาเปรียบเทียบต้นทุนระหว่างการนำคาร์บอนไปกักเก็บในหลุมปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้แล้ว (CSS) กับการนำคาร์บอนไปผลิตเป็นเมทานอล (CCUS) หรือการเสียภาษีคาร์บอน ซึ่งปตท.วางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2040 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050”
ทั้งนี้ โครงการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดกำลังผลิต 1 แสนตัน/ปี คาดว่าใช้เงินลงทุนราว 80 ล้านยูโร หรือราว 3,200 ล้านบาท
ปัจจุบันไทยมีการใช้เมทานอล 7 แสนตันต่อปี แต่เป็นการนำเข้าจากตะวันออกเพราะยังไม่มีการผลิตเมทานอลในไทย โดยเมทานอลเป็นสารสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการนำไปเป็นน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) เป็นต้น