xs
xsm
sm
md
lg

กล้องยืนยัน “เสือโคร่งตัวที่ 4” ในป่ามรดกโลกแก่งกระจาน แจงเสือตัวใหม่โผล่ไม่ซ้ำหน้า บ่งชี้นิเวศป่าสมบูรณ์มาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เสือโคร่งตัวที่ 4 ตัวล่าสุดที่พบ ให้รหัสประจำตัว คือ KKT-004


อช.แก่งกระจาน ชี้แจงหลักฐานจากกล้องดักถ่าย พบเสือลายพาดกลอนตัวที่ 4 (ในคลิป) บริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำเพชรบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยการเปรียบเทียบภาพจากลายเสือ (ลายบนตัวเสือโคร่ง) 

จุดบ่งชี้ว่าเสือโคร่งที่พบในรอบปี 2566 เป็นคนละตัว และยังสะท้อนว่าในพื้นที่มีประชากรสัตว์กีบที่เป็นเหยื่ออุดมสมบูรณ์จนทำให้เสือโคร่งตัวใหม่เข้ามาเพิ่ม

นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รายงานผลการปฏิบัติงานการสำรวจสัตว์ป่าด้วยกล้อง camera trap ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (wcs) ประเทศไทย เผยพบภาพถ่ายเสือโคร่ง ตัวใหม่ในพื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำเพชรบุรี เมื่อวันที่ 8-11 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา และตั้งกล้องดักถ่ายภาพ ได้ภาพเสือโคร่ง 2 เหตุการณ์ ถ่ายภาพได้วันที่ 27 ธันวาคม 2566 และ 31 ธันวาคม 2566 นั้น

เมื่อตรวจสอบภาพและคลิปที่ถ่ายผลการเปรียบเทียบลายเสือพาดกลอน พบว่าเป็นตัวที่ปรากฏใหม่ในพื้นที่ เป็นเสือโคร่งวัยรุ่นๆ ไม่ทราบเพศ จึงให้รหัสประจำตัว เป็น KKT-004

ทั้งนี้ เสือโคร่งตัวที่พบก่อนหน้า 3 ตัว คือ ตัวแรก KKT-001F ชื่อ ”ญาญ่า“ พบตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2563 ตัวที่สอง KKT-002M ชื่อ “ณเดชน์” พบตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน และตัวที่สาม KKT-003 พบเมื่อวันที่ 18,19 และ 23 พฤศจิกายน 2566
จากการปรากฏตัวของเสือโคร่งเพิ่มขึ้นในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดังกล่าว พิสูจน์ได้ว่าบริเวณต้นน้ำเพชรบุรีมีประชากรสัตว์กีบที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง อุดมสมบูรณ์ เช่น กวางป่า กระทิง และ หมูป่า นอกจากนั้นยังมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ป่าอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น จระเข้น้ำจืด ลิง ค่าง สัตว์ตระกูลเสือชนิดอื่นๆ นกชนิดต่างๆ รวมทั้งแมลง กลุ่มป่าแก่งกระจานจึงเป็นสถานทึ่ที่ควรสงวนไว้ให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า และแหล่งต้นน้ำลำธาร

KKT-001F ชื่อ ”ญาญ่า“ พบตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2563

KKT-002M ชื่อ “ณเดชน์” พบตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน

KKT-003 พบเมื่อวันที่ 18,19 และ 23 พฤศจิกายน 2566
เพราะอะไร ถึงใช้เสือโคร่งเป็นดัชนีชี้วัด

อช.แก่งกระจาน ให้ข้อมูลว่าเสือโคร่งต้องการพื้นที่หากินกว้างนับร้อยตารางกิโลเมตร เพราะอย่างนั้น พื้นที่ป่าจำเป็นต้องกว้างขวางและมีเหยื่อเพียงพอ

เสือโคร่งต้องล่าเหยื่อเป็นอาหาร ซึ่งคือประเภทสัตว์กีบหลากหลายชนิด เช่น กวางป่า กระทิง วัวแดง และหมูป่า โดยล่าสุด อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยืนยันการพบเสือโคร่งตัวที่ 4! (พบวันที่ 8-11 มกราคม 2567) พร้อมชี้แจงว่า

“เป็นการยืนยันได้ชัดเจนว่า ป่าแก่งกระจาน อุดมสมบูรณ์เพียงใด และการทำหน้าที่ปกป้องผืนป่าของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าทุกคนเข้มแข็งและทุ่มเทมากเพียงใด เราขอสดุดีในความกล้าหาญและเสียสละของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและผู้มีส่วนร่วมในการปกป้องทรัพยากรของชาติทุกคน และขอมอบของขวัญวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติในวันที่ 14 มกราคม 2567 เป็นเจ้า KKT-004 เสือโคร่งตัวล่าสุดของกลุ่มป่ามรดกโลกแก่งกระจาน”

อ้างอิง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน - Kaeng Krachan National Park


กำลังโหลดความคิดเห็น