ปีนี้ เป็นปีที่ครบวาระตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง 2553–2565 โดยช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา งานอนุรักษ์เสือโคร่งของประเทศไทยถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากผลการติดตามประชากรเสือโคร่งอย่างต่อเนื่องในพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ปี พ.ศ. 2553 บันทึกภาพได้ 42 ตัว มาในปีนี้จนถึงวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก (29 ก.ค.2565) สามารถบันทึกภาพได้ถึง 100 ตัว
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่าแม้ประสบผลสำเร็จ บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง 2553–2565 แล้ว แต่การอนุรักษ์สัตว์ป่าและเสือโคร่งทั้งในธรรมชาติและกรงเลี้ยง ก็ต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายต่อไปเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งในอนาคต 12 ปีข้างหน้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชน ได้จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง พ.ศ. 2565 – 2577
12 ปี ที่ผ่านมา นอกจากการเพิ่มขึ้นของประชากรเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง แล้วนั้น ยังได้พบเสือโคร่งที่ขยายพื้นที่หากินจากพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ไปยังพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นในกลุ่มป่าตะวันตก เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นต้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 สามารถบันทึกภาพของเสือโคร่งได้ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งล่าสุดของประเทศไทย คือ มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทย มีประชากรเสือโคร่งจากการประเมินในธรรมชาติ จำนวน 148-189 ตัว
ในวันเสือโคร่งโลก พ.ศ. 2565 จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะเดินหน้าแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง พ.ศ. 2565–2577 โดยมีเป้าหมาย “ประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติเพิ่มขึ้นภายใต้ความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่ในกลุ่มป่าที่เป็นถิ่นอาศัย โดยยกระดับระบบการจัดการพื้นที่และการติดตามตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577”
ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เครดิตคลิป ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช