xs
xsm
sm
md
lg

ราช กรุ๊ป เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ชูการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ถือเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการปกป้องความหลากหลายทางทรัพยากร เพื่อคืนความสมดุลระบบนิเวศ

ทั้งนี้ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชานุญาตให้ร่วมสนองพระราชดำริฯ ใน “โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา





กิจกรรมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อจัดเก็บข้อมูลทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น ในโครงการ อพ.สธ. สนองพระราชดำริ โดย บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (เมื่อวันที่ 22 - 25 สิงหาคม 2566)

ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์
ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการและเลขานุการคณะกรรมการดำเนินงาน อพ.สธ. เล่าถึงความเป็นมาของ อพ.สธ. ว่า เป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบสานพระราชปณิธานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในงานด้านการพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 โครงการฯ เริ่มจากการศึกษาและอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และจากพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ให้ทำงานตั้งแต่ยอดเขาถึงใต้ทะเล นำมาสู่การอนุรักษ์ 3 ฐานทรัพยากร ได้แก่ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เนื่องจากทุกสิ่งล้วนมีความเกี่ยวพันกัน หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปก็จะกระทบต่อการดำรงอยู่ของประชาชนและประเทศ ซึ่งเป้าหมายสำคัญของ อพ.สธ. คือการสร้างเสริมจิตสำนึกให้คนเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลและสร้างระบบฐานองคความรู้ด้านทรัพยากรที่เชื่อมโยงถึงกันได้ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติที่นำผลประโยชน์มาถึงประชาชนชาวไทย

“ทาง อพ.สธ. ต้องขอขอบคุณทาง ราช กรุ๊ป ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานสนองพระราชดำริในกรอบการสร้างจิตสำนึกในกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร ด้านการสนับสนุนการอบรมงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และสนับสนุนการอบรมงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น เนื่องจากการทำงานของโครงการฯ อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรนั้นไม่สามารถทำได้ในวันเดียว แต่ต้องมีกระบวนการสร้างจิตสำนึก โดยงานจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สำรวจทรัพยากรต่าง ๆ ในท้องถิ่นของตัวเอง ได้เรียนรู้และตระหนักถึงประโยชน์ของทรัพยากร ส่วนงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จะนำพรรณพืชในโรงเรียนมาประยุกต์เป็นสื่อการเรียนการสอน อยู่ในวิชาเลข วิชาเคมี วิชาศิลปะ ฯลฯ ทำให้เยาวชนได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้ซึมซับโดยไม่รู้ตัว ก็จะทำให้พวกเขาเกิดความรัก ความหวงแหน เป็นการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์โดยอัตโนมัติ”

ชูศรี เกียรติขจรกุล
ด้าน นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ราช กรุ๊ป มีความตระหนักและส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมป่าชุมชนผ่านโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ที่ดำเนินการร่วมกับกรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “ปลูกป่าในใจคน” มาใช้เป็นแนวทางเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ส่งเสริมการปลูก อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า เพื่อคาร์บอนเครดิต รวมพื้นที่ 50,100 ไร่ ด้วย

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่บริษัทฯ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตเข้าร่วมสนองพระราชดำริ โครงการ อพ.สธ. เพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานของทั้งสองพระองค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตั้งแต่แผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่ 6 (ตุลาคม 2559 - กันยายน 2564) และดำเนินการต่อเนื่องมาถึงแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่ 7 (ตุลาคม 2564 – กันยายน 2569) โดยได้ส่งเสริมองค์ความรู้การดำเนินงาน ภายใต้กรอบการสร้างจิตสำนึก อพ.สธ. ผ่านการอบรมปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาการสร้างเครือข่าย และนำองค์ความรู้ไปเป็นแนวทางในการวางแผนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีคุณค่านี้ ให้เราทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและส่งต่อเป็นมรดกจากรุ่นสู่รุ่นตลอดไป” นางสาวชูศรี กล่าว

ตลอดการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2561-2566 โครงการ อพ.สธ. สนองพระราชดำริ โดย บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินกิจกรรมอบรมปฏิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จำนวน 10 รุ่น มีผู้เข้าร่วมอบรมรวม 667 คน และกิจกรรมอบรมปฏิบัติการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น จำนวน 10 รุ่น มีผู้เข้าร่วมอบรมรวม 657 คน ซึ่งผู้ร่วมอบรมเหล่านี้จะเป็นผู้นำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดต่อ ขยายผลออกไปเป็นวงกว้าง ทั้งในสถาบันการศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ

“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” สุภาษิตที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยที่มีทั้งทรัพยากรชีวภาพ ได้แก่ พรรณพืช สัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ทรัพยากรกายภาพ เช่น ดิน น้ำ แร่ธาตุ อุณหภูมิ ฯลฯ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ในด้านเกษตรกรรม หัตถกรรม ศิลปกรรม ประเพณี ฯลฯ ซึ่งรวมกันทำให้ประเทศไทยมีแหล่งอาหาร ทรัพยากร และแหล่งน้ำที่เป็นรากฐานในการดำรงชีพของชุมชนและสังคม ตลอดจนวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น อีกทั้งยังสะท้อนถึงความหลากหลายทางทรัพยากรที่สร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศของประเทศและโลกอีกด้วย

เนื่องจากว่าปัจจุบัน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มากเกินพอดี นำมาซึ่งความต้องการใช้พื้นที่ป่ามากขึ้น มีการปล่อยมลภาวะและก๊าซเรือนกระจก ก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ พืชและสัตว์บางชนิดตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ทรัพยากรกายภาพเสื่อมโทรม ขณะที่วัฒนธรรมและภูมิปัญญาบางส่วนก็ถูกละเลย ซึ่งสุดท้ายผลกระทบก็ย้อนกลับมายังมนุษย์ดังที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน ทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลงจนเข้าสู่ภาวะการขาดแคลน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันฟื้นฟู และอนุรักษ์ความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติให้เพิ่มขึ้นและคงอยู่จากรุ่นสู่รุ่น

อรรถกร ภัทรจิตติกรกุล

ว่าที่ ร.ต. หญิง ภาวิณี ไชยรักษ์
“การได้รับโอกาสเข้ามาอบรมในครั้งนี้เหมือนได้กลับมาทบทวนสิ่งที่เคยศึกษามาและได้รู้รายละเอียดเพิ่มขึ้น รู้สึกดีใจมากที่ได้มารับความรู้อย่างลึกซึ้งจากวิทยากรต้นฉบับซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือที่ผมได้นำมาอ้างอิงในการสอนและทำกิจกรรมกับนักศึกษา การอบรมมีทั้งการบรรยายและกิจกรรมลงพื้นที่เก็บข้อมูลฝึกปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นเหมือนการให้เข็มทิศนำทางกับผู้ปฏิบัติงานที่จะสามารถนำมาใช้ได้ด้วยความมั่นใจไม่หลงทิศทาง ได้ข้อมูลที่ตรงประเด็นและมีความถูกต้อง” นายอรรถกร ภัทรจิตติกรกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี หนึ่งในผู้เข้าอบรมในโครงการฯ เล่าถึงความประทับใจ

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า องค์ความรู้ที่ได้รับจะนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนกับนักศึกษาครูและศาสตร์อื่น ๆ ซึ่งตนสอนในรายวิชาจิตวิทยาชุมชนและสังคม มุ่งเน้นให้นักศึกษามีความสุขและสนุกกับการทำงานร่วมกับชุมชนด้วยความเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาได้ จะช่วยทำให้นักศึกษาเห็นภาพในการปฏิบัติงานในอนาคตได้อย่างชัดเจนขึ้น ขอบคุณการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ที่มีกิจกรรมภาคสนามให้ผู้เข้าอบรมเก็บรวบรวมข้อมูลฐานทรัพยากรของโครงการ อพ.สธ. ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งตนเองและถ่ายทอดต่อเพื่อพัฒนาสังคมให้ยั่งยืนต่อไป

ขณะที่ ว่าที่ ร.ต. หญิง ภาวิณี ไชยรักษ์ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานงานโครงการ อพ.สธ. มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ผู้เข้าอบรมอีกท่าน ซึ่งทำงานทั้งด้านประสานงานและเป็นวิทยากรให้ความรู้ เผยว่า ความรู้ที่ได้รับช่วยให้มองเห็นแนวทางที่จะไปสนับสนุนและผลักดันหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ทางศูนย์ฯ ดูแลอยู่ เพื่อให้ได้ฐานทรัพยากรของท้องถิ่นที่สมบูรณ์และถูกต้องตามกระบวนการของ อพ.สธ. ให้เจ้าหน้าที่โครงการมีความเข้าใจกระบวนการที่ชัดเจน สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ละเอียดถูกต้องยิ่งขึ้น ส่วนงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จะมีทั้งไปบรรยายให้ความรู้ ให้คำแนะนำ รวมทั้งร่วมตรวจสอบการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนของสถานศึกษาด้วย

“จากที่ได้เข้าไปสัมผัสกับชุมชน วิถีชีวิตของชุมชนเมืองจะต่างจากชุมชนชนบทอยู่พอสมควร หากเป็นในเมือง แต่ละบ้านก็จะไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกัน ทำให้การทำกิจกรรมหรือประเพณีบางอย่างหายไปในบางพื้นที่ แต่ในพื้นที่ชนบท ชุมชนยังมีประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม มีผู้นำชุมชนเป็นบุคคลสำคัญที่ยังพาลูกหลานสืบทอดประเพณีอยู่

ชุมชนบางแห่งมีวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาที่ใกล้จะสูญหาย เนื่องจากไม่มีลูกหลานสืบทอด พอเราเข้าไปเก็บข้อมูล จัดทำเป็นหนังสือหรือวิดีโอ เพื่อที่จะเป็นตำราของเขาโดยเฉพาะ เขาก็บอกว่า ดีใจที่มีคนมาสืบทอด มาเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งมารับทราบสิ่งที่เขาทำ เพราะเป็นสิ่งที่เจ้าของภูมิปัญญาทำมาตั้งแต่สมัยรุ่นบรรพบุรุษแล้ว ไม่อยากให้มาหมดไปที่รุ่นของเขา จึงมีความภูมิใจเล็กๆ ว่า เราก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ช่วยในการสืบทอดภูมิปัญญาของเขา” ว่าที่ ร.ต. หญิง ภาวิณี กล่าว