รายงานพิเศษ ชุด เรื่องเล่าจากห้วยฮ่องไคร้ ศาสตร์พระราชา มรดกล้ำค่าจากในหลวงรัชกาลที่ ๙
“ตอนนั้นผมอายุ 30 ปี ทำหน้าที่เพาะชำกล้าไม้เพื่อฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมที่ห้วยฮ่องไคร้ พอได้เห็นพระองค์ท่าน ทรงงานด้วยความเหน็ดเหนื่อย ได้รับฟังพระราชดำริต่างๆ จากพระองค์ท่านด้วยตัวเอง ก็ตั้งใจเลยว่า จะต้องทำงานให้สำเร็จตามพระประสงค์ของในหลวงให้ได้”
ระพีพล ทับทิมทอง หรือ อาจารย์เงาะ เล่าถึงความหลังในปี 2527 ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาที่ห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งแรก หลังมีพระราชดำริให้เริ่มโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ มาตั้งแต่ปี 2525 ด้วยหลักการ การพัฒนาพื้นที่ป่าโดยใช้ระบบชลประทานเป็นปัจจัยสำคัญ
“วันที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จมาครั้งแรก ในความรู้สึกของผมคือ พระองค์ท่านเป็นกันเองมาก ทรงขับรถมาด้วยพระองค์เองจากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยในพื้นที่หน้างาน ให้มีเก้าอี้แค่ 2 ตัว กับโต๊ะเล็กๆ ไว้วางแก้วน้ำสำหรับท่านกับสมเด็จพระเทพฯ (สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) จากนั้นพระองค์ท่านก็เสด็จไปทรงงานทันทีด้วยการเดินท่ามกลางแดดที่ร้อนจัด ทั้งไปที่อ่างเก็บน้ำ เข้าไปเดินป่าอีกประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วจึงเสด็จไปดูงานด้านการทำปศุสัตว์และการประมงต่อ”
ปัจจุบัน (2566) อาจารย์เงาะ อายุ 70 ปี ทำหน้าที่เป็นวิทยากรอาวุโสให้กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสรับเสด็จ ครบทั้ง 8 ครั้ง ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาที่ห้วยฮ่องไคร้ ตั้งแต่ปี 2527-2536
“ตอนนั้นผมยังเป็นเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆครับ ไม่มีโอกาสได้จดบันทึกอะไรลงสมุด สิ่งที่ทำได้ก็มีแค่การ “จดจำ” สิ่งที่พระองค์ท่านตรัสไว้”
และคำว่า “บูรณาการ” กับ “One Stop Service” ซึ่งมาจากพระกระแสรับสั่งของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อปี 2527 เป็นหนึ่งในความทรงจำอันน่าประทับใจของชายคนนี้ที่มีต่อพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง เพราะสิ่งที่ทรงมีพระราชดำริ ถือว่าเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้ามากในยุคนั้น และกลายเป็นแนวทางการบริหารบ้านเมืองที่สำคัญในอีกหลายปีต่อมา
“ครั้งแรกที่พระองค์ท่านเสด็จมา ทรงไปที่อ่างเก็บน้ำที่ 1 ทันที โดยมีทีมงานของกรมชลประทานเป็นทีมหลักในการพาพระองค์ท่านเสด็จไปที่จุดต่างๆ แต่ที่ผมจำได้แม่นเลย คือ พระองค์ท่านตรัสว่า งานที่ห้วยฮ่องไคร้ต้องทำงานกันด้วยวิธี “บูรณาการ” หลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพราะที่นี่จะต้องเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ด้านการพัฒนาป่าจากทุกด้าน ทั้งชลประทาน ป่าไม้ เกษตรกรรม ประมง ปศุสัตว์ ถือว่าเป็น “One Stop Service” จะมาดูงานด้านไหนก็ได้ ซึ่งในตอนนั้นคือปี 2527 เรายังไม่เข้าใจคำว่าบูรณาการ หรือ One Stop Service กันเลยด้วยซ้ำ แต่พระองค์ท่านนำมาใช้แล้ว จนมาถึงวันนี้ผมก็รู้สึกทึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ที่มีสายพระเนตรยาวไกลล่วงหน้าไปนับสิบปี”
อีกตัวอย่างความก้าวหน้าที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้เกิดขึ้นที่ห้วยฮ่องไคร้ ก็คือ การใช้ระบบชลประทานในการฟื้นฟูและพัฒนาป่าต้นน้ำ ซึ่งทำให้ ห้วยฮ่องไคร้ เปลี่ยนจากพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม มากลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์อย่างมากในอีกหลายปีต่อมา โดยมีหัวใจสำคัญ คือ ราษฎร ต้องได้ประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย
“พระองค์ท่าน พระราชทานพระราชดำริไว้ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2525 แล้วครับ นั่นคือการวางแผนให้สร้างฝายต้นน้ำลำธารควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ เพราะถ้าไม่มีฝาย จะเกิดตะกอนทับถามมากขึ้นเรื่อยๆ ที่อ่างเก็บน้ำ ซึ่งเดิมทีเจ้าหน้าที่ของเราก็ไปทำ ฝายหินเรียงแกนดินเหนียวขึ้นมา เพราะเป็นหลักการเดียวกับการสร้างเขื่อน มีความแข็งแรง แต่เมื่อพระองค์ท่านเสด็จมา ก็ให้แนวทางใหม่ว่า ฝายแบบที่เราทำดีเกินไป และมีราคาแพงเกินไป คือ ประมาณลูกละ 35,000 บาทในสมัยนั้น ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้หรือทำตามได้ จึงทรงให้แนวทางให้เราเปลี่ยนไปทำฝายจากไม้ ซึ่งมีราคาเพียงลูกละประมาณ 350 บาท และยังทรงแนะนำให้ใช้ไม้ล้มในป่ามาทำแทนได้ด้วย เพราะจะไม่มีต้นทุนค่าวัสดุเลย จะทำให้ชาวบ้านมีความสามารถที่จะทำตามได้” ระพีพล กล่าว
การมีโอกาสได้ติดตามรับเสด็จพระราชดำเนินที่ห้วยฮ่องไคร้ครบทั้ง 8 ครั้งอย่างใกล้ชิด ทำให้ ระพีพล ทับทิมทอง มีความตั้งใจที่แน่วแน่ที่จะสานต่อพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้สำเร็จ
“ผมเห็นคนที่มีสถานะเป็นพระมหากษัตริย์ มาเดินตากแดดร้อนๆ ทั่วพระวรกายเต็มไปด้วยเหงื่อ แต่ก็ยังคงทำงานไม่หยุด ผมก็ตั้งใจตั้งแต่วันแรกที่พระองค์ท่านเสด็จมาที่ห้วยฮ่องไคร้เลยว่า ผมจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้คุ้มค่าที่สุด ทำให้สมกับความหวังของพระมหากษัตริย์ให้ได้มากที่สุด ยิ่งมารู้ในเวลาต่อมาว่าห้วยฮ่องไคร้ เป็นเพียง 1 ใน 4,000 โครงการที่พระองค์ทำ ผมยิ่งอยากทำให้สุดชีวิต ทุกครั้งที่รับเสด็จ ผมจึงพยายามตั้งใจฟัง เพื่อจดจำให้หมดว่าพระองค์ทรงมอบหมายอะไรไว้บ้าง”
“สิ่งที่กลัวที่สุดทุกวันนี้ คือ ผมกลัวเป็นอัลไซเมอร์ ผมกลัวว่าผมจะลืมว่าเราได้เห็นพระองค์ท่านทรงทำอะไรไว้บ้าง ผมกลัวว่าจะไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งนี้ออกมาได้อีก” ระพีพล กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามเรื่องราวของระพีพล ต่อได้ในรายงานพิเศษ ชุด เรื่องเล่าจากห้วยฮ่องไคร้ ศาสตร์พระราชา มรดกล้ำค่าจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ EP.2 : คนปลูกต้นไม้ของพระราชา วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2566 ทาง MGR Online