xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากห้วยฮ่องไคร้ EP.2 : ระพีพล ทับทิมทอง คนปลูกต้นไม้ของพระราชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ ชุด เรื่องเล่าจากห้วยฮ่องไคร้ ศาสตร์พระราชา มรดกล้ำค่าจากในหลวงรัชกาลที่ ๙

อ่านประกอบ : เรื่องเล่าจากห้วยฮ่องไคร้ EP.1 : รัชกาลที่ ๙ สอนให้เรารู้จักคำว่า “บูรณาการ” มาตั้งแต่ 40 ปีก่อน

“ความกลัวของผม คือ ผมกลัวเป็นอัลไซเมอร์ ผมกลัวว่าจะจดจำสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงทำไว้ไม่ได้ เพราะตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ผมใช้ความทรงจำเหล่านี้เพื่อสืบสานพระราชปณิธานมาโดยตลอด”

เขาเป็นคนปลูกต้นไม้ที่ห้วยฮ่องไคร้ คนปลูกต้นไม้ของพระราชา

ระพีพล ทับทิมทอง หรือ อาจารย์เงาะ เกิดและเติบโตที่กรุงเทพมหานคร เรียนช่าง เรียนวิทยาลัยครู ก่อนจะมาทำงานที่สำนักงานการเกษตรในภาคเหนือในฐานะช่าง แต่ด้วยความที่เขาเติบโตมากับการทำสวนตั้งแต่เด็ก เขาจึงนำความเชี่ยวชาญมาช่วยส่งเสริมการปลูกไม้ดอก ช่วยเกษตรกรปลูกสตอร์เบอรี่ขาย จึงได้รับข้อเสนอทาบทามให้ไปช่วยงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงหลังเปิดศูนย์ใหม่ๆ เมื่อปลายปี 2525 ในฐานะ “เจ้าหน้าที่เพาะกล้าไม้” เพื่อเปลี่ยนห้วยฮ่องไคร้จากป่าเสื่อมโทรมให้ฟื้นคืนเป็นป่าขึ้นมาใหม่

และนั่นทำให้ระพีพล เป็นหนึ่งในกี่คนที่มีโอกาสได้รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครบทั้ง 8 ครั้ง ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาติดตามงานที่ห้วยฮ่องไคร้







ระพีพล ทับทิมทอง
“ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จมาครั้งแรกเมื่อปี 2527 ครับ หลังจากที่ท่านไปทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำมาแล้ว พระองค์ท่านก็ทรงมาดูจุดการเพาะชำกล้าไม้ที่ผมทำอยู่ ซึ่งในเวลานั้นเราเพิ่งทำไปได้ไม่นาน จึงมีคนเสนอให้นำกล้าไม้ต่างๆ มาวางให้เต็มพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นยูคาลิปตัส ... แต่เมื่อเห็นเช่นนั้น พระองค์ท่านก็ทรงให้แนวทางว่า ไม้ที่จะนำมาปลูกที่ห้วยฮ่องไคร้ต้องมีประโยชน์ 3 อย่าง คือ เป็นไม้ที่กินได้ เป็นไม้ที่ใช้สอยได้ และใช้เพื่อทำฟืนได้ นั่นหมายความว่า ป่าที่จะเกิดขึ้นในห้วยฮ่องไคร้ ต้องเป็นป่าไม้ที่ราษฎรในพื้นที่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้” ระพีพล เล่าถึงความทรงจำแรกที่ทำให้เขาเห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของพระมหากษัตริย์ที่เขาเคารพศรัทธามาทั้งชีวิต

การฟื้นป่าห้วยห้องไคร้ ต้องเกิดประโยชน์กับราษฎร ต้องหาเก็บของป่าไปสร้างรายได้ได้ เพราะถ้าราษฎรได้ประโยชน์จากป่า เขาก็จะช่วยดูแลรักษาป่าเป็นอย่างดี ... นี่เป็นแนวคิดที่ระพีพล จดจำไว้อย่างแม่นยำว่า เป็นหลักการใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่มีหน้าที่พลิกฟื้นผืนป่าในโครงการห้วยฮ่องไคร้

“แม้แต่ไม้ที่ตายแล้ว ก็ต้องเป็นประโยชน์ เราเรียกว่า ไม้ล้มหมอนนอนไพร ซึ่งประโยชน์แรกที่พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางไว้คือ ให้นำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำฝายต้นน้ำลำธาร เพราะช่วยลดต้นทุน ไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้ชาวบ้านทำกันเองได้ และประโยชน์อีกอย่างคือ หากมีคนในชุมชนเสียชีวิต ก็สามารถทำเรื่องมาที่ศูนย์ เพื่อขอนำ ไม้ล้ม ไปเป็นฟืนเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาได้”

ปรัชญาการปลูกป่าที่ห้วยฮ่องไคร้ คือ ต้องเป็นป่าที่ให้ประโยชน์กับราษฎร และต้องเป็นป่าจริงๆ คือสิ่งที่ ระพีพล จดจำไว้อย่างแม่นยำ เพราะการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไม่ใช่การปลูกที่ทำกันอยู่ทั่วไป

“ช่วงปี 2527-2530 พระองค์ท่านเสด็จห้วยฮ่องไคร้ทุกปี เพื่อติดตามการเติบโตของป่า และจุดเริ่มต้นของการปลูกป่า ก็เริ่มด้วยการปลูกต้นไม้ตามหลักวิชาการ คือ ปลูกเป็นแถวเป็นแนว ซึ่งในช่วงปี 2529 ระหว่างที่ทรงทอดพระเนตรป่า พระองค์ท่านตรัสว่า “ที่ห้วยฮ่องไคร้ เราจะไม่จัดต้นไม้เข้าแถว เพราะถ้าจัดต้นไม้เข้าแถว ก็เรียกว่าสวน ไม่ใช่ป่า” ซึ่งนั่นเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้พวกเราเข้าใจแนวพระราชดำริของพระองค์”

“ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินครั้งหนึ่ง เป็นช่วงที่ผมปลูกไม้ผล ปลูกไม้กินได้ในป่า ผมก็ไปหาผลไม้ต่างๆ มาปลูก และต้องดูแลเป็นพิเศษ ต้องทำระบบการหยดน้ำลงไปที่ต้นไม้ทุกต้น พอพระองค์ท่านเสด็จมาถึง ก็ทรงตรัสว่า ... ทำไมไม่ปลูกไม้ดั้งเดิมก่อน ... เพียงเท่านี้เราก็เปลี่ยนแนวทางได้ทันที โดยการนำมีดไปฟันตอไม้ต่างๆ เพื่อมาดูว่าเป็นต้นอะไร และเริ่มเพาะกล้าไม้พันธุ์ดั้งเดิมก่อน ซึ่งก็ทำให้ป่าเติบโตได้เร็ว จากนั้นเราก็ค่อยนำไม้ผลมาปลูกแซม”








40 ปี คือ ช่วงเวลาที่ อาจารย์เงาะ ระพีพล ทับทิมทอง ยังคงปฏิบัติตัวเป็น “คนปลูกต้นไม้ของพระราชา” อยู่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แม้จะมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่กรุงเทพมหานครก็ตาม เขาบอกว่า ความหวังของเขา คือ แนวทางตามพระราชดำริที่เขาทุ่มเทชีวิตทำลงไปที่ห้วยฮ่องไคร้ จะถูกนำไปสืบสานและต่อยอดในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

“ตลอด 40 ปี ผมรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาแล้ว 8 ครั้ง แต่ละครั้งหัวหน้าก็เปลี่ยนไป อธิบดีต่างๆ ก็เปลี่ยนไป ผู้ว่าฯ ก็เปลี่ยนคนไป แต่แนวพระราชดำริของพระองค์ท่านยังเป็นเช่มเดิม ซึ่งทำให้ผมกังวลว่า เมื่อต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารอยู่เสมอ งานที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ วางไว้ ก็จะทำได้อย่างไม่ต่อเนื่อง ต้องกลับมานับ หนึ่ง สอง สาม กันใหม่อยู่เรื่อยๆ ดังนั้น ผมก็เลยตั้งใจไว้ว่า ผมจะอยู่ช่วยงานที่นี่ต่อไป เพื่อช่วยบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในอดีตให้กับคนที่เข้ามาใหม่ทุกคน จนกว่าร่างกายผมจะไม่สามารถทำได้อีก”
ระพีพล กล่าวทิ้งท้ายถึงความมุ่งมั่นของเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น