xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพัฒน์ เผยผลสำรวจ ESG ของกิจการไทยปี 66 มอบ 132 รางวัล “การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วานนี้ (21 ธ.ค. 2566) สถาบันไทยพัฒน์ เผยผลสำรวจ 904 กิจการไทย พบคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.53 จาก 10 แต่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งแสดงถึงการใส่ใจต่อประเด็นความยั่งยืนที่มากขึ้น


พร้อมจัดพิธีมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ Sustainability Disclosure ประจำปี 2566 มีองค์กรที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณ (Award) 54 แห่ง ประกาศเกียรติคุณ (Recognition) 50 แห่ง และกิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) 28 แห่ง รวมทั้งสิ้น 132 รางวัล

ESG Performance by Industry Group
ผลสำรวจปี 66 ครอบคลุม 904 องค์กร

ในปี 2566 สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนจากบริษัทจดทะเบียน 805 แห่ง กองทุนและองค์กรอื่น ๆ อีก 99 ราย รวมทั้งสิ้น 904 ราย (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่ทำการสำรวจ 854 ราย) พบว่า การเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีสัดส่วนมากสุดอยู่ที่ด้านสิ่งแวดล้อม 52.25% ด้านเศรษฐกิจ 24.33% และด้านสังคม 23.41% ตามลำดับ

หากวิเคราะห์ข้อมูลกิจการที่สำรวจ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กิจการที่ได้คะแนนการดำเนินงาน ESG รวมสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ กิจการในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (4.91 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10) รองลงมาเป็นกิจการในกลุ่มเทคโนโลยี (4.60 คะแนน) และกิจการในกลุ่มบริการ (4.05 คะแนน) ตามลำดับ

สำหรับประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ 96.46% การฝึกอบรมและการให้ความรู้ 48.12% ความหลากหลายและโอกาสแห่งความเท่าเทียม 48.01% ส่วนการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 เศรษฐกิจและการจ้างงาน และเป้าหมายที่ 16 สังคมและความยุติธรรม ตามลำดับ

ไฮไลต์ผลสำรวจ ESG ที่น่าสนใจ


ในการประเมินสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการที่ทำการสำรวจทั้งหมด 904 ราย พบว่า ในปี 2566 มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.53 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วและปีก่อนหน้าที่มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.46 คะแนน (ปี 2565 จากการสำรวจ 854 ราย) และ 2.2 คะแนน (ปี 2564 จากการสำรวจ 826 ราย)

เมื่อพิจารณาผลสำรวจโดยใช้ประเด็นความยั่งยืนที่อ้างอิงจากมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) พบว่ามีเพียง 2.32% ที่มีการรายงานเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และมากถึง 66.37% ที่ไม่มีการเปิดเผยประเด็นมลอากาศ (Emissions) นอกจากนี้ ยังพบว่ามีไม่ถึง 9% ที่เปิดเผยเรื่องการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของผู้ส่งมอบ (Supplier Environmental/ Social Assessment)

ขณะที่การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัจจัย ESG ที่อ้างอิงตามแนวทางและชุดตัวชี้วัดของ WFE (World Federation of Exchanges) จากผลสำรวจพบว่า มีประเด็นที่เข้าใหม่ในสิบอันดับแรกที่กิจการเปิดเผย ได้แก่ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (50%) และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (49.23%) ส่วนประเด็นที่เคยอยู่ในสิบอันดับเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่อยู่ในปีนี้ ได้แก่ ประเด็นด้านแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก

และเมื่อสำรวจข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อ SDGs ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดย ISAR (International Standards of Accounting and Reporting) พบว่า มีประเด็นที่เข้าใหม่ในสิบอันดับแรกที่กิจการเปิดเผย ได้แก่ สัดส่วนหญิงในตำแหน่งจัดการ (91.15%) และประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (53.32%) ส่วนประเด็นที่เคยอยู่ในสิบอันดับเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่อยู่ในปีนี้ ได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ และชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมต่อปีต่อคน

วรณัฐ เพียรธรรม


มอบ 3 ประเภทรางวัล รวม132 รางวัล

นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ย้ำถึงวัตถุประสงค์ของโครงการประกาศรางวัลที่จัดขึ้นเป็นหนึ่งในกิจกรรมของประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) เนื่องในงานมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ประจำปี 2566 ว่า “รางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่เป็นสมาชิกของ SDC ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน ซึ่งแสดงถึงความยั่งยืนของธุรกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12.6 ร่วมกัน”

โดยการมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ในปี 2566 แบ่งออกเป็น 3 ประเภทรางวัล ได้แก่ Sustainability Disclosure Award มีองค์กรที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณ จำนวน 54 แห่ง Sustainability Disclosure Recognition มีองค์กรที่ได้รับประกาศเกียรติคุณ จำนวน 50 แห่ง และ Sustainability Disclosure Acknowledgement มีองค์กรที่ได้รับกิตติกรรมประกาศ จำนวน 28 แห่ง ตามลำดับ

สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้เกณฑ์ 3 ด้าน ที่อ้างอิงจาก Ceres-ACCA ประกอบด้วย ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนน 45% ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนน 35% ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) เนื้อหา น้ำหนักคะแนน 20% ตามลำดับ

ทั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ คัดเลือกบริษัทที่ได้รับรางวัล โดยพิจารณาจากข้อมูลความยั่งยืนที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ อาทิ รายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมบูรณาการในรายงานประจำปี หรือรายงานในรูปแบบอื่น ทั้งที่เป็นรูปเล่มรายงาน ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ อินโฟกราฟิก ฯลฯ โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม

สำหรับกิจกรรมการมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ประจำปี 2566 ภายใต้ประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (SDC) ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 154 องค์กร นอกจากจะเป็นการส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่องค์กรที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนต่อสาธารณะแล้ว ยังต้องการเชิดชูองค์กรธุรกิจที่ได้รับรางวัลทั้ง 132 แห่ง ในการเข้าร่วมตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Target 12.6 ที่ระบุให้มีการผลักดันกิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในรอบการรายงานประจำปีของบริษัท

หมายเหตุ :
* CERES ย่อมาจาก Coalition for Environmentally Responsible Economies หรือแนวร่วมกลุ่มเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และ ACCA ย่อมาจาก the Association of Chartered Certified Accountants หรือสมาคมผู้สอบบัญชีรับอนุญาต



กำลังโหลดความคิดเห็น