จากผลสำรวจของ GRI และ Support the Goals ที่เผยแพร่ในเอกสาร State of Progress: Business Contributions to the SDGs ระบุว่า สี่ในห้าของกิจการที่สำรวจมีการให้คำมั่นในรายงานแห่งความยั่งยืนต่อการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)แต่มีกิจการไม่ถึงครึ่งที่มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานสำหรับใช้วัดผล
โดย 83% ของกิจการที่ทำการสำรวจ จำนวนกว่า 200 แห่งทั่วโลก มีการสนับสนุน SDGs และเห็นคุณค่าในการเชื่อมโยงรายงานให้ตอบสนองต่อเป้าหมายดังกล่าว ขณะที่ 69% มีการแสดงชุดเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ และ 61% ระบุถึงข้อปฏิบัติในการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ดี มีกิจการในสัดส่วน 40% ที่เปิดเผยตัววัดที่ใช้บรรลุเป้าหมาย และมีจำนวน 20% ที่แสดงหลักฐานสนับสนุนผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้น
ในรายละเอียดของผลการวิจัยฉบับดังกล่าว ได้ประเมินธุรกิจที่ทำการสำรวจโดยแบ่งผลคะแนนออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีแผน (Plans) ในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุน SDGs (1 ดาว) กลุ่มที่มีการให้คำมั่น (Commitments) โดยแสดงให้เห็นเป้าหมายขององค์กรสำหรับใช้วัดผลที่เชื่อมโยงกับ SDGs ที่เกี่ยวข้อง (2 ดาว) กลุ่มที่มีการระบุถึงรายละเอียดการดำเนินงาน (Actions) ในการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว (3 ดาว) กลุ่มที่มีการเปิดเผยข้อมูลหลักฐานที่เป็นตัวเลขหรือในเชิงปริมาณซึ่งแสดงความก้าวหน้า (Progress) ของการดำเนินงาน (4 ดาว) และกลุ่มที่มีการผลักดันให้คู่ค้าหรือผู้ส่งมอบ (Suppliers) สนับสนุน SDGs (5 ดาว)
โดยจากการสำรวจ กลุ่มบริษัทที่มีแผนหรือได้ 1 ดาว มีสัดส่วนอยู่ที่ 7.3% กลุ่มบริษัทที่มีคำมั่นหรือได้ 2 ดาว มีอยู่ 13.6% กลุ่มบริษัทที่มีรายละเอียดการดำเนินงานหรือได้ 3 ดาว มีอยู่ 14.1% กลุ่มบริษัทที่มีข้อมูลแสดงความก้าวหน้าหรือได้ 4 ดาว มีอยู่ 34.9% และกลุ่มบริษัทที่มีการผลักดันคู่ค้าให้ร่วมดำเนินการหรือได้ 5 ดาว มีอยู่ 0.5% ส่วนบริษัทที่มีการรายงานด้านความยั่งยืนแต่มิได้เอ่ยถึง SDGs มีสัดส่วนอยู่ที่ 29.6%
ในแง่ของการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบที่มีต่อ SDGs พบว่า มีบริษัทจำนวน 20.4% ที่มีการรายงานผลกระทบทางบวกด้วยข้อมูลหลักฐานผลการดำเนินงานที่แสดงการตอบสนองต่อ SDGs ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ มีบริษัทเพียง 6.3% ที่มีการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางลบจากการดำเนินงานซึ่งอาจส่งผลต่อการบรรลุ SDGs
ในส่วนของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 อันดับแรก ที่กิจการมีการเชื่อมโยงการดำเนินงานมากสุดจากการสำรวจ ได้แก่ เป้าที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ และเป้าที่ 13 การดำเนินการทางสภาพภูมิอากาศ
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลจากการสำรวจข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านรายงานแห่งความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI ในรอบปี ค.ศ.2020 ขององค์กรผู้จัดทำรายงาน 206 แห่ง โดยประกอบด้วย กิจการ 86 แห่งในภูมิภาคยุโรป 19 ประเทศ ภูมิภาคเอเชีย 40 แห่งใน 17 ประเทศ ภูมิภาคอเมริกาเหนือ 39 แห่งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ภูมิภาคแอฟริกา 13 แห่งใน 5 ประเทศ ภูมิภาคอเมริกาใต้ 11 แห่งใน 5 ประเทศ ภูมิภาคโอเชียเนีย 7 แห่งในออสเตรเลีย เป็นต้น
สำหรับภาพรวมการตอบสนอง SDGs ของกิจการไทยที่ทำการสำรวจ 854 ราย ในปี พ.ศ.2565 โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีความคืบหน้าในการดำเนินงานอยู่ที่ 28.2% อ้างอิงจากการเปิดเผยข้อมูลตามรายการและตัวชี้วัดหลัก GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR)
ทั้งนี้ ISAR ได้มีการเผยแพร่เอกสาร Guidance on Core Indicators for Sustainability and SDG Impact Reporting ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นแนวทางการใช้ชุดตัวชี้วัดหลัก GCI ในการจัดทำรายงานการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในรูปแบบ SDG Impact ที่บริษัทจดทะเบียนสามารถใช้เชื่อมโยงข้อมูลที่เปิดเผยในรายงาน 56-1 One Report ให้ตอบสนองต่อเป้าหมาย SDGs และใช้ตอบสนองต่อ SDG ในเป้าหมายที่ 12.6 ได้ด้วย
ในการนี้ สถาบันไทยพัฒน์ จะจัดให้มี Thaipat Runners-up 2023 Online Forum ในหัวข้อ SDG Impact Disclosure แนวทางสำหรับรายงานการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่ตอบสนองต่อเป้าหมาย SDGs ในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level SDGs) เพื่อประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ในรูปแบบ Webinar (ไม่มีค่าใช้จ่าย) โดยสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์สถาบันไทยพัฒน์ https://thaipat.org
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์