กระแสเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) ที่แต่เดิม ถูกขับเคลื่อนอยู่ภายในแวดวงตลาดทุน โดยเป็นเครื่องมือที่ผู้ลงทุนสถาบันใช้ผลักดันให้บริษัทที่ตนเข้าไปลงทุนมีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เอาจริงเอาจังกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ได้ถูกหยิบมาใช้ในวงกว้าง ไม่เว้นในแวดวงการตลาดที่ ESG ถูกใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์และการสร้างภาพลักษณ์อย่างแพร่หลาย จนในปัจจุบัน ถูกตีความว่า ส่วนใหญ่เป็นการฟอกเขียว (Green Washing)
กระทั่ง หน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศ ต้องออกนิยามศัพท์ (Terminology) และการจัดหมวดหมู่ (Taxonomy) ที่เกี่ยวกับเรื่อง ESG เพื่อป้องกันการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้การฟอกเขียวเกิดได้ยากขึ้น
จากมาตรการดังกล่าว ทำให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหารที่ติดป้าย ESG ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องมาในทุกปี มีมูลค่าลดลงเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2022
และด้วยภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในทุกภูมิภาค มีการเติบโตที่หดตัวลง ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยจากแรงกดดันของปัจจัยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ที่มีผลตอบแทนลดลง ทำให้ความแตกต่างในเชิงผลตอบแทนระหว่างหุ้นกลุ่ม ESG กับหุ้นโดยทั่วไป มิได้สร้างแรงจูงใจผู้ลงทุนได้เหมือนในช่วงตลาดขาขึ้น
จากการสำรวจของ GSIA สัดส่วนของมูลค่าการลงทุนที่ยั่งยืน มีตัวเลขคิดเป็นร้อยละ 24.4 ของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารทั้งหมด ที่จำนวน 124.49 ล้านล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด (ณ สิ้นปี 2565) ลดลงจากร้อยละ 35.9 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด (ณ สิ้นปี 2563)
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ ได้ทำการสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ เพื่อนำเสนอทิศทางและกระแสนิยมของการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนขององค์กร ทั้งในมุมมอง GRI, ESG และ SDG โดยริเริ่มสำรวจเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 ครอบคลุมกิจการจำนวน 100 แห่ง และได้ดำเนินการเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
ผลสำรวจปี 66 ครอบคลุม 904 องค์กร
ในปี 2566 สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนจากบริษัทจดทะเบียน 805 แห่ง กองทุนและองค์กรอื่นๆ อีก 99 ราย รวมทั้งสิ้น 904 ราย (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่ทำการสำรวจ 854 ราย) พบว่า การเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีสัดส่วนมากสุดอยู่ที่ด้านสิ่งแวดล้อม 52.25% ด้านเศรษฐกิจ 24.33% และด้านสังคม 23.41% ตามลำดับ
หากวิเคราะห์ข้อมูลกิจการที่สำรวจ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กิจการที่ได้คะแนนการดำเนินงาน ESG รวมสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ กิจการในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (4.91 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10) รองลงมาเป็นกิจการในกลุ่มเทคโนโลยี (4.60 คะแนน) และกิจการในกลุ่มบริการ (4.05 คะแนน) ตามลำดับ
ESG Performance by Industry Group
สำหรับประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ 96.46% การฝึกอบรมและการให้ความรู้ 48.12% ความหลากหลายและโอกาสแห่งความเท่าเทียม 48.01% ส่วนการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 เศรษฐกิจและการจ้างงาน และเป้าหมายที่ 16 สังคมและความยุติธรรม ตามลำดับ
ไฮไลต์ผลสำรวจ ESG ที่น่าสนใจ
ในการประเมินสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการที่ทำการสำรวจทั้งหมด 904 ราย พบว่า ในปี 2566 มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.53 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วและปีก่อนหน้าที่มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.46 คะแนน (ปี 2565 จากการสำรวจ 854 ราย) และ 2.2 คะแนน (ปี 2564 จากการสำรวจ 826 ราย)
เมื่อพิจารณาผลสำรวจโดยใช้ประเด็นความยั่งยืนที่อ้างอิงจากมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) พบว่ามีเพียง 2.32% ที่มีการรายงานเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และมากถึง 66.37% ที่ไม่มีการเปิดเผยประเด็นมลอากาศ (Emissions) นอกจากนี้ ยังพบว่ามีไม่ถึง 9% ที่เปิดเผยเรื่องการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของผู้ส่งมอบ (Supplier Environmental / Social Assessment)
ขณะที่การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัจจัย ESG ที่อ้างอิงตามแนวทางและชุดตัวชี้วัดของ WFE (World Federation of Exchanges) จากผลสำรวจพบว่า มีประเด็นที่เข้าใหม่ในสิบอันดับแรกที่กิจการเปิดเผย ได้แก่ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (50%) และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (49.23%) ส่วนประเด็นที่เคยอยู่ในสิบอันดับเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่อยู่ในปีนี้ ได้แก่ ประเด็นด้านแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก
และเมื่อสำรวจข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อ SDGs ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดย ISAR (International Standards of Accounting and Reporting) พบว่า มีประเด็นที่เข้าใหม่ในสิบอันดับแรกที่กิจการเปิดเผย ได้แก่ สัดส่วนหญิงในตำแหน่งจัดการ (91.15%) และประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (53.32%) ส่วนประเด็นที่เคยอยู่ในสิบอันดับเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่อยู่ในปีนี้ ได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ และชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมต่อปีต่อคน
ข้อมูลผลสำรวจข้างต้น สถาบันไทยพัฒน์จะจัดงานแถลง “ผลสำรวจข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทไทย ปี 2566” และการเสวนา “Double Materiality: The Financial + Impact Disclosure” โดยจะมีการเผยแพร่เนื้อหาการสำรวจทางเว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ (https://thaipat.org) ต่อไป
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์