xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก “เคเอ็มพี พาร์ทเนอร์” ต้นแบบธุรกิจเอสเอ็มอียุคยั่งยืน ผลสำเร็จจากโครงการ “Smart Business Transformation”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


  นายปิติพัฒน์ มงคลอริยนันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคเอ็มพี พาร์ทเนอร์ จำกัด ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเพื่อร้านรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจร
“เคเอ็มพี พาร์ทเนอร์” หนึ่งในต้นแบบธุรกิจเอสเอ็มอี ที่สามารถนำความรู้ คำแนะนำ และเครื่องมือดิจิทัล ไปใช้ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้ไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น สามารถแก้โจทย์ใหญ่ เห็นทางออก และเพิ่มโอกาสใหม่ๆ มากมาย หลังผ่านการติวเข้มจากโครงการ “Smart Business Transformation” ของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

นายปิติพัฒน์ มงคลอริยนันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคเอ็มพี พาร์ทเนอร์ จำกัด ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเพื่อร้านรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจร กล่าวถึง การเข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation หรือ SBTP ของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ที่ช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การขับเคลื่อนสู่แนวทางความยั่งยืน และการตระหนักถึงการมี ส่วนร่วมของลูกค้า เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไป การเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทำให้ได้เรียนรู้ 3 เรื่องสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Digitalization, Sustainability และ Employee Wellness
 


นายปิติพัฒน์ กล่าวถึงการนำความรู้ด้านดิจิทัลไปใช้ว่า ช่วยให้เกิด 2 แพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์และสำคัญอย่างมาก แพลตฟอร์มแรกใช้ชื่อว่า “Buy Big Lot” เป็นแพลตฟอร์มสำหรับทำเงินหรือสร้างรายได้ ด้วยการใช้ application LINE สำหรับร้านค้าวัสดุก่อสร้างและผู้รับเหมา เป็นการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถ ”ร่วมกันซื้อ” เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองหรือ power of purchasing ให้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาการจัดซื้อ ทำให้ได้ต้นทุนราคาสินค้าและค่าขนส่งต่ำลง สามารถแข่งขันได้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนแพลตฟอร์มที่สอง ใช้ชื่อว่า “การประมูล” KanPramool.com เป็นแพลตฟอร์มเสริมให้ร้านค้าและผู้รับเหมาสามารถมาหางานใหม่ๆ ได้ใน 2 ช่องทางคือ “เว็บไซต์” กับ “LINE” โดยจะมีข้อมูลงานประมูลต่างๆ จากทั่วประเทศรวบรวมไว้ให้ดูได้ตลอด ซึ่งเมื่อได้งานก็ต้องมีการสั่งวัสดุก่อสร้าง จึงเป็นแพลตฟอร์มที่เข้ามาเสริม เพื่อสอดรับความต้องการและตอบโจทย์ธุรกิจแบบครบวงจร


รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนจากเดิม ซึ่งต้องลงทุนสต๊อกสินค้าเพื่อพร้อมขายแบบ B to C เปลี่ยนเป็น B to B to C เชื่อมโยงร้านค้าหรือธุรกิจ เป็นชุมชนสร้างเครือข่ายภาคต่างๆ เป็น group buying เริ่มจากภาคใต้ก่อนใช้เวลาประมาณ 1 ปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมาณ 2,000 ราย และมีเป้าหมายขยายไปภาคอื่นๆ รวม 4 กลุ่มภาค เป็นเครือข่ายทั่วประเทศภายในปีหน้าหรือปี 2567

เมื่อได้เครือข่ายธุรกิจแล้ว ยังสามารถเพิ่มรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ได้ด้วย เช่น การเช่าเครื่องจักรที่ว่างจากการใช้งาน เป็น sharing economy ในแบบ win-win อยู่ในระหว่างหาโซลูชันที่เหมาะสม นอกจากการรวมกันซื้อทำให้สามารถใช้รถขนส่งร่วมกันเป็นการแบ่งปันและประหยัดทรัพยากร และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ ได้อีกด้วย ขั้นต่อไปจึงคิดจะเพิ่มแนวทางใหม่ด้วยการเชื่อมโยงรถบรรทุกเปล่า หลังจากส่งของแล้วมีที่ว่าง มาใช้ประโยชน์ต่อไป ส่วนการดูแลพนักงาน หลังจากนำระบบ ERP มาใช้บริหารงาน ทำให้สามารถวัดประสิทธิภาพการทำงานได้ไม่ว่าพนักงานจะอยู่ที่ไหน จึงเกิดแนวทางการทำงานใหม่ แบบ work anywhere เริ่มเป็นจริงได้

“โครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้เรื่อง Big Data การใช้ Business Intelligence นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ นอกจากจะสามารถบริหารงานในปัจจุบันได้ดีขึ้น ยังรู้ได้เลยว่าลูกค้าเป้าหมายในอนาคตมีความสนใจเรามากน้อยแค่ไหน ทำให้วางแผนการทำงานได้ดีขึ้นอย่างมาก ตามปกติเทคโนโลยีแบบนี้ใช้ในธุรกิจใหญ่เพราะต้องลงทุนมาก แต่เมื่อเราได้เรียนรู้หลักการและมีเทคโซลูชันมาช่วย แม้จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กแต่เรามีช่องทางช่วยคอนเน็กได้ง่ายขึ้น”

นายปิติพัฒน์ กล่าวเสริมว่า สำหรับร้านวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของรุ่นพ่อแม่ เมื่อรุ่นลูกได้เข้าไปช่วยปรับการบริหารใหม่อย่างที่บอกไปแล้วหลังจากมาเข้าโครงการนี้ ยอดขายเพิ่มขึ้น 4-5 เท่าอย่างชัดเจน เดิมเคยสั่งซื้อเหล็กเดือนละ 1 คัน เพิ่มเป็น 40 คัน ในเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ตอนแรกไม่ได้คาดหวังมากว่าจะได้ประโยชน์มากขนาดนี้เพราะเป็นโครงการเรียนฟรี แต่ตั้งใจเรียนและทดลองใช้ทุกโซลูชัน เพราะคิดว่าถ้าไม่ลองก็อยู่ที่เดิมแน่ๆ แต่ถ้าใช้ได้ก็จะเป็นโอกาสที่ดี


“นอกจากเทคโซลูชัน ในเรื่อง Sustainability ทำให้คิดว่าทำอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เพราะแม้เราจะไม่ขยับ แต่ eco system ก็ขยับให้ เพราะเราไปทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่อง win-win และในเรื่องของคน รุ่นพ่อแม่สอนให้ประหยัดทุกเรื่อง เรื่องของพนักงานก็เหมือนกัน แต่เมื่อได้มาเรียนในโครงการนี้ทำให้เห็นชัดว่าธุรกิจต้องขับเคลื่อนด้วยคนที่มีความสามารถ ทำให้เปลี่ยนความคิดเริ่มหาคนเก่งๆ ไปทำงานด้วย และยกระดับค่าตอบแทนให้กับพนักงาน เช่น ให้ระดับปริญญาตรีเริ่มที่เดือนละ 2 หมื่นบาท และระดับบริหารอยู่ที่ 6-7 หมื่นบาทถึงหลักแสน เพื่อให้สามารถขยายงานใหม่ในอนาคต แม้จะเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ ในต่างจังหวัด”

นายปิติพัฒน์ ทิ้งท้ายถึงการเข้าร่วมโครงการฯ ว่า ทำให้กล้าฝันมากขึ้น เพราะผลลัพธ์ที่ได้คือภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนไป จาก “ธุรกิจเล็กๆ” ไม่มีเทคโนโลยีในการจัดการ เปลี่ยนเป็นธุรกิจที่ใช้ “เทคโนโลยีดิจิทัล” เต็มตัว สามารถเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการ และแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่

นายบัลลังก์ ว่องธวัชชัย Head of Digital Engagement and FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
นายบัลลังก์ ว่องธวัชชัย Head of Digital Engagement and FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ Smart Business Transformation เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ไม่เพียงสำหรับลูกค้าของยูโอบีเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไปเข้าร่วมอบรม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วประมาณ 4,000 ราย ในจำนวนนี้มีมากกว่า 900 รายที่สามารถนำเทคโซลูชันไปใช้ และปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและการแข่งขันที่มากขึ้น สำหรับ “เคเอ็มพี พาร์ทเนอร์” เป็นตัวอย่างหนึ่งในความสำเร็จของโครงการฯ ที่สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อย่างดี


ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนของการเข้าร่วมโครงการ ผู้ประกอบการได้เพิ่มความรู้และทักษะทางดิจิทัล ได้นำโซลูชันดิจิทัลและเครื่องมือที่เกี่ยวข้องไปปรับใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในตลาด รวมทั้งเรียนรู้แนวทางการทำธุรกิจและแนวคิดด้านความยั่งยืน มีวิธีการบูรณาการความยั่งยืนให้เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจของตนเอง และยังได้รู้จักกับระบบการเงินสีเขียวเพื่อความสำเร็จในระยะยาวได้ ภายใต้คำแนะนำของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และพันธมิตรในโครงการ ที่ช่วยให้สามารถเดินหน้ากระบวนการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เพื่อแก้โจทย์ที่กำลังเผชิญอยู่ และเตรียมความพร้อมรองรับความท้าทายใหม่ได้

“นับเป็นความสำเร็จในการสร้าง Ecosystem คือการทำให้ธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอี หรือสตาร์ทอัพ รวมทั้งบริษัทใหญ่ทั้งหลาย สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะโลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็วมากการปรับตัวจึงสำคัญ ยูโอบีเห็นความต้องการและความจำเป็นของบริษัทต่างๆ จึงเข้ามาสนับสนุนทั้งให้ความรู้ แนะนำแนวทาง สร้างเวที และด้วยการเป็น regional bank จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการก้าวเข้าสู่ระดับโลกได้มากขึ้น ไม่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น”