การบินไทย ร่วมกับ OR ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) สำหรับเที่ยวบินนำร่อง และความร่วมมือกันในอนาคต ย้ำจุดเด่นคือ การมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดวงจรชีวิตน้อยกว่าเชื้อเพลิงอากาศยานโดยทั่วไป และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงโดยปกติ
นายทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจด้านน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน สำหรับเที่ยวบินนำร่อง และความร่วมมือในอนาคต ระหว่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) โดยมี นายทรงพล เทพนำโสมนัสส์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจเอนเนอร์ยี่โซลูชัน OR และนายรัฐ รักสำหรวจ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม Multiverse อาคาร Enco ปตท. ถ.วิภาวดีรังสิต
นายทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท การบินไทยฯ เปิดเผยว่า การบินไทย ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ในการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน : Sustainable Aviation Fuel (SAF) มาใช้กับเครื่องบินของการบินไทย เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วม ส่งเสริม และสนับสนุน ให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบินลงได้ รวมทั้ง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความยั่งยืนในด้านการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ เพื่อนำมาใช้ทดแทนน้ำมันอากาศยานที่ผลิตจากซากฟอสซิลในปัจจุบัน โดยเชื้อเพลิง SAF สามารถผลิตขึ้นได้จากวัตถุดิบหลายชนิด เช่น used cooking oil , Ethanol จากชานอ้อย และขยะ เป็นต้น
โดยจุดเด่นของเชื้อเพลิง SAF คือ การมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดวงจรชีวิตน้อยกว่าเชื้อเพลิงอากาศยานโดยทั่วไป และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงโดยปกติ และด้วยเหตุนี้ หลายธุรกิจและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ จึงหันมาให้ความสนใจในเชื้อเพลิง SAF และพยายามผลักดันให้มีการใช้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสามารถนำมาใช้งานโดยผ่านการผสมในน้ำมันเครื่องบินที่ทำจากฟอสซิสในปัจจุบัน (Jet A1) ได้ทันที โดยไม่ต้องมีการปรับปรุงเครื่องยนต์ให้รองรับการใช้งาน อีกทั้ง เชื้อเพลิง SAF มีการกำหนดมาตรฐานการผลิตตามแต่ละประเภทของวัตถุดิบเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
การบินไทยมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความคิดริเริ่มในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 หรือ ค.ศ. 2050 และเป็นการปฏิบัติตามมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ทั้งยังสอดคล้องกับที่สหภาพยุโรปกำหนดสัดส่วนการผสมเชื้อเพลิง SAF ในน้ำมันอากาศยานที่จะทำการบินออกจากสนามบินในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง OR และการบินไทยในครั้งนี้ เป็นการนำน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ไปใช้ในอุตสาหกรรมการบินสำหรับเที่ยวบินนำร่องของการบินไทย ซึ่งจะมีพิธีเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ณ ท่าอากาศยานภูเก็ตในเดือนธันวาคมนี้ อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของ OR หรือ OR SDG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน “G” หรือ “GREEN” ที่มุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) เพื่อตอบโจทย์การตั้งเป้าที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-Neutrality) ภายในปี 2030
ประกอบกับการที่ OR ในฐานะหนึ่งในสมาชิกที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการศึกษา พัฒนาและลงทุนผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ระหว่างกลุ่ม ปตท. ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (Thai Oil), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) ที่ผ่านมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่มีความตั้งใจเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อดำเนินธุรกิจที่เติบโตควบคู่กับความยั่งยืนของโลก มุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2050