xs
xsm
sm
md
lg

Learn to Earn หนุน “ต้นกล้าเป็ด” ปลุกชุมชน นำร่องท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สตูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เดินเที่ยวสัมผัสพันธุ์ไม้ที่ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ ดูความสมบูรณ์ของผืนป่า บริเวณอ่าวทุ่งนุ้ย และพายเรือแคนู เลาะป่าชายเลน
อีกหนึ่งตัวอย่างต้นกล้าชุมชน กับแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ปีที่ 2 โดยมูลนิธิเอสซีจี พาไปสัมผัสแนวทางทำงานท่องเที่ยวเชิงนิเวศของ ต้นกล้าเป็ด-นายจักรกริช ติงหวัง เขาเป็นต้นกล้ารุ่น 4 ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจแก่คนในชุมชน มาร่วมนำร่องวิถีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เดียวของจังหวัดสตูล

ต้นกล้าเป็ด อธิบายถึงจุดท่องเที่ยว ที่ปันหยาบาติก
ต้นกล้าเป็ด-นายจักรกริช ติงหวัง ปัจจุบันอายุ 40 ปี เขาเป็นลูกหลานชาวประมงที่เกิดและเติบโตในพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ย บ้านหลอมปืน ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้เริ่มทำงานชุมชนตามรอยพ่อในงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในระดับท้องถิ่น โดยการจัดกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน ช่วยกันเก็บขวด สางป่า กวาดขยะ ตกแต่งชายหาด เพื่อใช้เป็นที่จัดกิจกรรมแข่งกีฬาพื้นบ้าน ใช้เป็นสถานที่จัดประชุมเวทีชาวบ้าน จัดค่ายลูกเสือ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ฯลฯ

ต่อมาภายหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นที่โล่งไม่มีต้นไม้และมีอากาศร้อน ทางผู้นำและชุมชน นำโดยนายอารีย์ ติงหวัง หรือใหญ่หลี สจ.เขต1 อำเภอละงู ซึ่งเป็นบิดาของเขา ได้ช่วยกันปลูกป่า จนกระทั่งสภาพป่ากลับมา จึงเกิดเพื่อเป็นแหล่งการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชาวบ้านดังเช่นที่เคยเป็นมา

ต้นกล้าเป็ด เล่าว่า ผมและทางชุมชนบ้านหลอมปืน มีแนวคิดที่จะต่อยอดโดยการพัฒนาพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ยให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศทั้งกับคนในชุมชนเองและคนนอกชุมชน เพื่อให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่สร้างรายได้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน



แผนที่ บอกเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ต้นกล้าเป็ดนำร่องสร้างรายได้แก่ชุมชน
เขาอธิบายถึงการจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของเราจะยึดแนวทางการจัดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ โดยคำนึงถึง 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

1. ด้านสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ และร่วมมือกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในท้องถิ่น รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

2. ด้านสังคม และวัฒนธรรม โดยการจัดการท่องเที่ยวที่ส่งเสริม และสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้มาเยือนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต รวมถึงรูปแบบความเป็นอยู่ เพื่อการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดการตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตในแหล่งที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน

3. ด้านเศรษฐกิจชุมชน ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนในแหล่งท่องเที่ยว มีการกระจายรายได้สู่ชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรม

ต้นกล้าเป็ด บอกว่า หลังจากการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสร้างรายได้แล้ว ผมและคนในชุมชนได้ร่วมกันสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวในชุมชนตามเส้นทางต่างๆ ซึ่งตอนนี้มี 4 เส้นทางด้วยกัน แต่ละโปรแกรมท่องเที่ยวมีบริการอาหารกลางวันและอาหารว่าง ที่เป็นอาหารพื้นบ้าน รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เป็นของฝากสำหรับคนมาท่องเที่ยวในชุมชนของเรา

ขณะเดียวกัน พวกเราคงตระหนักถึงการพัฒนาคนในชุมชนแต่ละช่วงวัยให้นำศักยภาพมาช่วยอย่างเหมาะสม เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชน จึงได้รับการฝึกและพัฒนาให้เป็นนักสื่อความหมายชุมชน หรือ “มัคคุเทศก์น้อย” ที่จะได้มีความรู้เกี่ยวกับชุมชนของตนเองและถ่ายทอดต่อไปยังคนนอกชุมชนได้รับรู้และเข้าใจ พร้อมกับสร้างรายได้เป็นขวัญและกำลังใจให้กับการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ลดปัญหาการเข้าไปสู่แหล่งอบายมุข 

ส่วนกลุ่มผู้สูงวัยจัดให้เป็นผู้ถ่ายทอดแนะแนวทางของภูมิรู้เฉพาะเรื่อง และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันออกแบบการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ และพัฒนาให้เกิดการสร้างรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนต่อไป

ทั้งนี้เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จะพาไปสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอละงู จังหวัดสตูล เช่น แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ ชุมชนหลอมปืน ในบริเวณอ่าวทุ่งนุ้ย ซึ่งมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ปันหยาบาติก ณ บ้านปากละงู สัมผัสการทำผ้ามัดย้อมสกัดจากสีดินท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทย (ใช้สีจากดินปูนผุ หรือดินเทอราโรซ่า พบในหมู่บ้านชุมชน และในเขตพื้นที่อุทยานธรณีโลก จ.สตูล เท่านั้น) นั่งเรือชิลชิลไปชมเกาะลิดี (ในเขต อช.หมู่เกาะเภตรา อ.ละงู จ.สตูล) ที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้บนเขา ป่าชายเลน โขดหินรูปร่างประหลาด หาดทรายที่สวยงาม สะพานข้ามเวลา (อช.หมู่เกาะเภตรา) พาเดินชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติริมทะเลที่พาย้อนกลับไปส่องยุคที่โลกยังไม่มีมนุษย์ พร้อมกับพาเดินผ่านยุคโบราณกาล 2 ยุคจากรอยสัมผัสของหิน คือ หินทรายสีแดงยุคแคมเบรียน (อายุประมาณ 541– 485 ล้านปี) และ หินปูนยุคออร์โดวิเชียน (อายุประมาณ 485-444 ล้านปี)

นายจุมพล โชติกุล ขุดดินในสวนยาง โดยนำดินสีแดงมาสกัดทำผ้ามัดย้อม เป็นการย้อมสกัดจากสีดินท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทย


สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี เปิดมุมมองผ่านแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ว่าเป็นการขยายแนวคิด Learn to Earn ที่สามารถสร้างเด็กและเยาวชน รวมถึงคนในชุมชนให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ซึ่งในเคสของต้นกล้าเป็ด ตอบโจทย์ในพันธกิจหลักของมูลนิธิเอสซีจี ในการส่งเสริมความมุ่งมั่นการสร้าง ‘คน’ ให้เติบโตเป็นคน ‘เก่งและดี’ มีน้ำใจช่วยเหลือสังคม

“ปัจจุบันต้นกล้าเป็ด ต่อยอดสู่ภาคการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เดียวของชุมชนในพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ย บ้านหลอมปืน ซึ่งในอนาคตอันใกล้คาดว่าจะส่งผลดีต่อเนื่องต่อคนในชุมชน และจังหวัดสตูล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

มูลนิธิเอสซีจี และต้นกล้าเป็ด สรุปประโยชน์ที่ชุมชนพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ย บ้านหลอมปืน ได้รับ ณ ปัจจุบันว่า


- มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นกว่า 20 ไร่
- ลดขยะ เพิ่มความสะอาดบริเวณชายหาดความยาว 700 เมตร และพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 150 ไร่
- เกิดระเบียบการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน และการจัดการขยะของชุมชน
- สร้างเด็กและเยาวชนรู้รักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ รักษ์บ้านเกิด กว่า 30 คน
- สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชน ร้านค้า แม่บ้าน ชาวประมง ผู้สูงอายุ และเด็กเยาวชน กว่า 70 คน
(มีรายได้คนละประมาณ 3,000 – 5,000 บาทต่อเดือน)
- เป็นศูนย์การเรียนรู้ นิเวศป่าชายเลน มีเด็กและเยาวชน และผู้สนใจ เข้ามาดูงาน และร่วมกิจกรรม Work Shop ประมาณ 500 คน ใน 1 ปี ที่ผ่านมา
- ให้บริการนำเที่ยวชุมชนกว่า 300 คนต่อปี สร้างรายได้ให้กับตัวเอง ประมาณ 15,000 บาท ต่อเดือน