มหาวิทยาลัยรังสิต เดินหน้าปรับกลยุทธ์สอดรับยุค Generative AI มุ่งเป้าเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งความหลากหลาย”ล่าสุดผนึกเครือข่ายครูแนะแนว โชว์วิสัยทัศน์พร้อมแชร์ประสบการณ์ ผ่านกิจกรรม “โครงการแนะแนวสัมพันธ์” สานพลังโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ ผลิตเยาวชนคุณภาพยุคใหม่ เข้าใจความเป็นตัวตนและชีวิตในโลกความเป็นจริง พร้อมเป็นกำลังสำคัญของประเทศและพลเมืองที่ดีของโลก
ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิตในปี 2567 ว่า จะดำเนินการด้วยวิสัยทัศน์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านแผนและพัฒนา ด้านวิจัย ด้านวิชาการ และด้านกิจการนักศึกษา เพื่อปรับให้มหาวิทยาลัยเป็นมากกว่า “สถาบันการศึกษา” โดยมุ่งเป้าเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งความหลากหลาย” ที่เข้าใจความเป็นตัวตน และหล่อหลอมดูแลคุณภาพชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักศึกษาในการดำเนินชีวิตในโลกความเป็นจริง เนื่องด้วยสถานการณ์สังคมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้เด็กไทยมีรูปแบบความคิดและมุมมองการใช้ชีวิติที่มีความเป็นตัวตนมากขึ้น
“การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยไทยต้องรีบปรับตัว เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตคนไปเป็นกำลังสมองของประเทศแบบมีคุณภาพ หมายถึงการมีความรู้ความสามารถทางสติปัญญาตามวิชาชีพได้ดี ประกอบด้วยเป็นผู้ที่มีจริยธรรม มหาวิทยาลัยรังสิตมีการปรับตัวจากเดิมที่มุ่งเน้นการปรับปรุงหลักสูตรให้นักศึกษา ได้เปลี่ยนสู่ยุค Generative AI คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติเพิ่มขึ้น เพิ่มศักยภาพให้บุคลากรผู้สอน สนับสนุนปัจจัยเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”
“มหาวิทยาลัยรังสิตจึงเน้นให้ความสำคัญกับการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มีประสิทธิภาพแตกต่างออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยและสภาวะของโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยเดินหน้าพัฒนามหาวิทยาลัยทั้งระบบ โดยวางแนวทางการดำเนินการให้ได้ตาม Key Result ที่วางแผนไว้และความต้องการที่อยากจะพัฒนาให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นก่อน มีการกำหนดให้ทุกวิทยาลัย ทุกคณะ ทุกสาขาวิชา และหน่วยงานของมหาวิทยาลัย นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีที่จะสร้างกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างให้นักศึกษามีความเป็นเลิศทางการศึกษา หรือ Excellence in Education ในอนาคต”
จากแนวทางดังกล่าว มหาวิทยาลัยรังสิตได้ส่งต่อองค์ความรู้และวิธีการที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีไปยังโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศซึ่งเป็นเครือข่ายสำคัญ เนื่องจากการบ่มเพาะเยาวชนหรือพัฒนาคนให้ประสบความสำเร็จรอบด้านจะทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้น ม.รังสิตกับโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศจึงร่วมกันหล่อหลอมกำลังสมองที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรังสิตยังมีนโยบายในการดูแลนักศึกษาอย่างครบรอบด้าน ให้มีสุขภาพกาย-ใจที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีตำรวจมหาวิทยาลัยแห่งแรกของมหาวิทยาลัยเอกชนไทย การจัดพื้นที่ให้นักศึกษาเรียน-ทำงานสามารถใช้ชีวิต 24 ชั่วโมง รวมทั้ง การดูแลให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ซึ่งในอนาคตมีการวางแผนการลงทุนเพื่อสร้างศูนย์สุขภาพจิตโดยเฉพาะ เพื่อดูแลนักศึกษาให้ครบวงจรเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน (Family Learning)
๐ เชื่อมโยงโรงเรียนทั่วประเทศต่อเนื่อง
การเชื่อมโยงเครือข่ายโรงเรียนที่ม.รังสิตดำเนินการมาอย่างยาวนานได้รับการตอบรับจากโรงเรียนอย่างดี ล่าสุด มีการจัดโครงการแนะแนวสัมพันธ์ “แนะแนวยุค Generative AI” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับทิศทางการศึกษาในอนาคต ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2566 โดยมีครูแนะแนวจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 65 คน ร่วมงาน ณ โรงแรมเมอเวนพิค สยามโฮเทล นาจอมเทียนพัทยา จังหวัดชลบุรี
“ยุคสมัยที่เปลี่ยนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การเรียนการสอนต้องมีการปรับตัว “ครูแนะแนว” มีความสำคัญมากในการให้ทิศทาง เป็นผู้ที่ทำให้เด็กค้นพบตัวเอง เมื่อมีแนวทางที่ถูกต้องจะสามารถต่อยอดไปสู่ความสำเร็จหรือแก้ไขปัญหาในชีวิตได้ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยรังสิตกับโรงเรียนดำเนินงานด้วยกันมาตลอดในฐานะมหาวิทยาลัยพี่โรงเรียนน้อง และการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้าและการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเพื่อร่วมดูแลนักเรียนนักศึกษาไปด้วยกัน จนกว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในชีวิต จบไปมีวิชาชีพที่ดี รวมถึงคุณภาพด้านอื่นๆ ด้วย”
ภายในงาน มีการบรรยายในหัวข้อต่างๆ ดังนี้ “วิสัยทัศน์ใหม่มหาวิทยาลัยรังสิต ด้านแผนและพัฒนา” โดย ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา ประเด็น The Future of Education โดยทุกคณะ/ สาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยรังสิต มีการวางกลไกการเรียนการสอนแบบ Transformative Learning นักศึกษาจะมีส่วนร่วมในการวางความคิด กลไก ค้นหาตัวเอง นำไปสู่ความสำเร็จโดยใช้ระยะเวลาที่สั้นขึ้น โดยจะมีความเข้าใจและได้ลิ้มรสความสำเร็จของชีวิตที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเกรด แต่เป็นความสำเร็จของชีวิตที่จะได้รับตั้งแต่ปี 1 ในสายวิชาชีพของตนเอง ได้เป็นอะไรก็ได้ในสิ่งที่เขาอยากเป็น
ประเด็น“ทิศทางยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม” โดย ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย โดยมีงานวิจัยที่พัฒนาศักยภาพอาจารย์ รวมทั้งการส่งเสริมการตีพิมพ์บทความวิจัย จดสิทธิบัตรและการบ่มเพาะธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาแบรนด์ม.รังสิต มีการจดทรัพย์สินทางปัญญา มีความพยายามในการเข้าสู่เชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันก็เป็นงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถลงสู่ชุมชน และพัฒนาชุมชนได้แบบยั่งยืน
ประเด็น “ความเป็นเลิศด้านการศึกษา (Excellence in Education)” โดย ผศ.ดร.ปถมาพร สุกปลั่ง กล่าวว่า การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิต เราสอนให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตจากกระบวนการ Transformative Learning ซึ่งผลลัพธ์จะได้ Change Agent เป็นบัณฑิตที่จบไปและสามารถทำอะไรก็ได้ เพื่อนำสังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เป็นเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรังสิต และประเด็น “การบูรณาการกิจกรรม-วิชาการ พัฒนาทักษะ Hard Skill & Soft Skill” โดย รศ.ดร.กฤษณ์ ทองเลิศ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตมีการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงออกทางความคิดโดยไม่ปิดกั้น และสามารถใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข รวมทั้งมีการดูแลให้คำปรึกษาแนะนำการเรียนหรือปัญหาในทุกด้าน ให้นักศึกษาได้รู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัยในรั้วมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายใน หัวข้อ “แนะแนวด้วย Chat GPT และ Generative AI” โดย ผศ.ดร.ธรรณพ อารีพรรค วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี และกิจกรรมการแนะแนวด้วยสัมผัสหัวใจของความเป็นมนุษย์ โดย ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ และการบรรยายเรื่อง “นวัตกรรมจากการแพทย์แผนตะวันออก : ทางเลือกอาชีพและโอกาสต่อยอดธุรกิจ” โดยอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
“โครงการนี้จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของครูแนะแนว ที่จะสามารถนำข้อมูลความรู้ ทั้งในเรื่องหลักสูตร สื่อการเรียนการสอนต่างๆ ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งความรู้อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ก้าวทันยุคสมัยไปประยุกต์ใช้หรือบอกต่อนักเรียนในการได้เลือกเรียนในสิ่งใช่คณะที่ชอบ เพื่อต่อยอดอนาคตของตนเองในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป และยังเป็นการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวการแนะแนวให้ครูแนะแนวทั่วประเทศอีกด้วย”
๐ เสียงสะท้อนจากครูมืออาชีพ เครือข่ายสำคัญ
สอาด ชัชวาลยางกูร ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม ตัวแทนครูแนะแนว กล่าวถึงมหาวิทยาลัยรังสิตว่า เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำที่จัดการเรียนการสอนไม่แพ้มหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐ จึงมีนักเรียนของโรงเรียนฯ เข้ามาเรียนต่อปีละกว่า 10 คน ส่วนใหญ่เรียนในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมทั้ง สาขาอื่นๆ ในสายวิชาชีพ เช่น เชฟ ซึ่งสอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยสามารถนำความรู้และทักษะต่างๆ ไปประกอบอาชีพได้อย่างดี นอกจากนี้ ยังมีการมอบทุนการศึกษาซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อให้กับเด็กได้อย่างมาก และยังทำให้เกิดบุคลากรรุ่นใหม่ที่ช่วยพัฒนาประเทศต่อไป
ด้วยการเป็นครูแนะแนว เมื่อม.รังสิตเปิดโอกาส จึงนำนักเรียนเข้ามาเรียนรู้การเรียนและงานในอาชีพเพื่อให้ค้นพบตัวเอง โดยมีการติดตามผลอย่างดี รวมทั้ง มีการจัดค่ายที่โรงเรียนเพื่อเปิดโลกทัศน์ของครูและนักเรียน ให้มีข้อมูลและมุมมองใหม่ๆ เพื่อใช้ตัดสินใจในการเลือกเรียนต่อได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ม.รังสิตยังมีกว่า 100 สาขาอย่างหลากหลายให้เลือกเรียนสอดรับกับความต้องการที่หลากหลายเช่นกัน ครูกล่าวเสริมว่า “กิจกรรมเช่นนี้ทำให้เด็กได้เห็นแนวทางหรือทางเลือกที่เหมาะสมกับตนเอง เพราะการรู้ตัวเองเป็นจุดสำคัญที่สุด เช่น บางคนอยากเป็นแพทย์ แต่เมื่อได้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเป็นแพทย์แล้ว จึงกลับไปทบทวนตัวเองใหม่ และพบว่ามีงานอื่นที่เหมาะสมกว่า เป็นต้น”
เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลที่ส่งผลให้เยาวชนสามารถหาความรู้และเรียนรู้ได้เอง ดังนั้น ครูต้องปรับเปลี่ยนให้ตามทัน ซึ่งม.รังสิตเข้ามาเสริมสร้างและสนับสนุนให้ครูพัฒนาไปพร้อมๆ กับการดูแลนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การอยู่ในเครือข่ายและทำกิจกรรมร่วมกับม.รังสิตมากว่า 20 ปี จึงเป็นประโยชน์อย่างมาก
“จากประสบการณ์การเป็นครูยาวนานถึง 37 ปี เห็นความสำคัญของการพัฒนาตัวเองอย่างมาก ยิ่งในยุคหลังๆ เด็กๆ ในยุคดิจิทัลต่างจากเด็กยุคก่อน เราต้องตามให้ทัน ต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ยิ่งการเป็นครูแนะแนวจำเป็นต้องชี้แนะแนทางที่เหมาะสมให้กับเด็กๆ ได้ ซึ่งกิจกรรมของม.รังสิตครั้งนี้ได้นำความรู้และข้อมูลที่ทันสมัยมาถ่ายทอด เช่น เรื่องเทคโนโลยีในการจัดการศึกษายุคใหม่ รวมทั้ง การได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเครือข่ายครูที่มาร่วมกิจกรรมด้วยกัน เป็นการแนะแนวทางและเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง” ตัวแทนครูแนะแนว กล่าวทิ้งท้าย