xs
xsm
sm
md
lg

ม.รังสิต ให้คำตอบอนาคต “คนดนตรี” เจาะลึกประสบการณ์ 2 มืออาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิทยาลัยดนตรี ม.รังสิต ตอบโจทย์เยาวชนคนรุ่นใหม่ชี้ข้อดีการเรียนดนตรีอย่างเป็นระบบ เปิดหลายทางเลือกเพิ่มโอกาสสร้างอาชีพ ค้นหาตัวตนและความต้องการที่แท้จริง "ปวีณ วงษ์รัตน์" หรือ "ปินปิน” ศิษย์เก่าสร้างชื่อ ให้มุมมองและประสบการณ์ ด้าน “ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ ตระกูลฮุ้น ” นักวิชาการแถวหน้า ย้ำวิธีสร้างความสำเร็จ ปลื้มช่วยยกระดับความรู้ด้านดนตรีคลาสสิก ช่วยคนไทยรู้ลึกศาสตร์สากล

ดนตรีมีบทบาทต่อคนรุ่นใหม่เพราะเป็นเครื่องมือหรือใช้เป็นคอนเท้นต์ที่นำไปสร้างความสนใจในสังคมออนไลน์ได้อย่างดี และจะยิ่งทำให้น่าสนใจมากขึ้นเมื่อได้เรียนหรือมีความรู้อย่างแท้จริง เพราะจะทำให้สามารถเล่นดนตรีที่ตัวเองชื่นชอบได้ดีขึ้นหรือแก้ไขจุดบกพร่องได้ด้วย ทำให้ความนิยมในการเรียนดนตรีมีมากขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ ตระกูลฮุ้น รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย บรรณาธิการบริหารวารสารดนตรีรังสิต วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “แม้การร้องหรือเล่นดนตรีจะเรียนรู้ได้เอง แต่การได้เรียนรู้อย่างถูกต้องในสถาบันการศึกษาที่มีมาตรฐาน จะทำให้มีความเข้าใจศาสตร์และมีหลักการมีพื้นฐานที่ถูกต้องนำไปสร้างสรรค์และพัฒนาความคิดความสามารถได้ดี ขณะที่ การเรียนรู้ทฤษฎีดนตรีต่างๆ ยิ่งรู้มากยิ่งทำให้มีทางเลือกในการสร้างดนตรีได้กว้างขึ้น การรู้ทฤษฎีดนตรีใหม่ก็ทำให้เราสามารถแต่งดนตรีในรูปแบบใหม่ออกมา ไม่ใช่ดนตรีในรูปแบบเดิม”


วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต มีการเปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต โดยแบ่งเป็น 4 สาขา 1) สาขาการแสดงดนตรี (Instrumental Performance) คือ ดนตรีคลาสสิกและดนตรีเชิงสร้างสรรค์ (Classical Music & Creative Practice) กับดนตรีแจ๊สและดนตรีสมัยนิยม (Jazz and Commercial Music) 2) สาขาการผลิตดนตรี (Music Production) ได้แก่ Producer / Songwriter / Sound Engineering 3) สาขาการประพันธ์เพลง (Composition) ได้แก่ Traditional Composition / Film Scoring / Sound Design / Media Composition และ4) สาขาการแสดงขับร้อง (Vocal Performance)ได้แก่ Classical / Jazz / Musical Theatre / Singer-Songwriter

เยาชนที่ต้องการเข้ามาเรียน ม.รังสิตมีหลายสาขาให้เลือก เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกความเป็นตัวตน นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงกับพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อเปิดโลกทัศน์ มีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากต่างประเทศมานำเสนอผลงานและร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้ง มีการจัดแสดงคอนเสิร์ต กิจกรรมสำคัญเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้นักศึกษาซ้อมอย่างจริงจัง และใช้ประโยชน์จากเวทีนี้ในการต่อยอด นำเสนอผลงานทั้งในโลกโซเชียลและใช้เป็นโปรไฟล์เพื่อสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในต่างประเทศ รวมทั้ง ขอรับทุนเรียนฟรี

ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ ตระกูลฮุ้น ได้รับตำแหน่ง “ศาสตราจารย์สาขาดุริยางคศิลป์ คนที่ 6 (ดนตรีสากล) ของประเทศไทย” มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นผู้รอบรู้หรือนักวิชาการที่เชี่ยวชาญผู้เผยแพร่ดนตรีศตวรรษที่ 20 ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย และมีงานเขียนด้านวิชาการเป็นหนังสือออกมาแล้วทั้งหมด 7 เล่ม โดย “ดนตรีศตวรรษที่ 20”เป็นเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้มากที่สุด และในวันนี้มีความตั้งใจว่าก่อนเกษียณจะเขียนให้ครบ 10 เล่ม เพื่อเป็นมรดกชิ้นสำคัญในชีวิต

วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
ที่มาของหนังสือ “ดนตรีศตวรรษที่ 20” มาจากการที่เห็นว่าความรู้ด้านดนตรีของประเทศไทยล้าหลังมาก ขาดความรู้ด้านดนตรีไปถึง 100 ปี เพราะประเทศไทยไม่เคยสอนดนตรีหลังปีค.ศ.1900 ในหลักสูตรดนตรีมีสอนถึงศตวรรษที่19 เท่านั้น ดังนั้น เมื่อเริ่มรู้จักดนตรีศตวรรษที่ 20 และได้ไปเรียนต่างประเทศ จึงเขียนหนังสือเรื่องดนตรีในศตวรรษที่ 20 ออกมา 2 เล่ม เป็นผลงานทางวิชาการ เพราะความรู้นี้มีมานานมากแล้ว แต่ประเทศไทยไม่รู้จัก ดังนั้น การนำความรู้นี้มาเผยแพร่ทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยในการสร้างงานดนตรีใหม่ๆ ซึ่งเป็นศิลปศาสตร์ที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง

สำหรับ “ศาสตราจารย์” ตำแหน่งสูงสุดในวิชาชีพอาจารย์ มีความยากเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องวิชาการ ซึ่งคนดนตรีเขียนงานวิชาการไม่ค่อยได้ ขณะที่ต้องเขียนงานวิชาการให้เข้าใจและต้องมีความลึกซึ้งด้วย ซึ่งงานวิชาการดนตรีของไทยมีการพัฒนาจริงจังเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ปัจจุบัน มีนักวิชากรด้านดนตรีสากลที่มีตำแหน่งสูงสุด 6 คนเท่านั้น และเกษียณไปแล้ว 5 คน เหลือเพียง 1 คนเท่านั้นที่ยังทำงานอยู่ ขณะที่ นักวิชาการดนตรีไทยที่มีตำแหน่งสูงสุดก็มีไม่มาก ซึ่งการผลิตผลงานทางวิชาการมีข้อดีคือช่วยเผยแพร่หรือยกระดับความรู้ความสามารถได้ในวงกว้าง

ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ กล่าวถึงความสำเร็จในวิชาชีพว่า “ต้องมีความลึกซึ้งในสิ่งที่ตัวเองเป็น ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดจริงๆ และทำตรงนั้นให้ลึกที่สุด เพื่อจะยกระดับความรู้ความเชี่ยวชาญของตนเอง เพราะดนตรีมีหลากหลายมุม ผมอ่านเปเปอร์มาก หลายคนเขียนงานที่ไม่ได้รู้จริง ผมไม่แตะแจ๊สเลยเพราะไม่รู้จริง ผมทำแต่เรื่องดนตรีคลาสสิก เรื่องดนตรีในศตวรรษที่ 20 ทำในเรื่องที่ตัวเองรู้จริงมากที่สุดเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เราศึกษามากขึ้น มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และลึกซึ้งทำให้สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดี ในเรื่องนั้น นำเสนอความเก่งของตัวเองในมุมนั้นออกมา”

หนังสือ “ดนตรีศตวรรษที่ 20” และบางส่วนของหนังสือที่แต่งโดย  ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ ตระกูลฮุ้น
ปวีณ วงษ์รัตน์ หรือ ปินปิน ศิษย์เก่า วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ก่อตั้ง Pinpin Studio ห้องบันทึกเสียงที่มีจุดเริ่มต้นจากความรัก และความใส่ใจในทุกๆ รายละเอียด เล่าถึงการเลือกเรียนด้านดนตรีและอาชีพที่เลือกทำว่า ย้อนไปเมื่อประมาณ 13 ปีที่ผ่านมา หรือในปีพ.ศ.2553 ตัดสินใจสมัครเรียนในวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต เพราะหลังจากถามตัวเองและหาข้อมูลก็ได้คำตอบว่า ชอบร้องเพลงและเล่นเปียโนมาตั้งแต่เด็กๆ แม้จะเรียนสายวิทย์-คณิตในช่วงมัธยมปลาย แต่เพราะวิทยาลัยดนตรี ม.รังสิต มีการเปิดสอนสาขาการผลิตดนตรี นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญอย่างมาก เป็นคนที่อยู่ในวงการผลิตดนตรี การประพันธ์เพลง ทำงานกับค่ายเพลงดังๆ รวมทั้ง มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัยและครบครัน

“ก่อนสมัครสอบ มาดูก็เห็นความพร้อมของคณะนี้ จึงตัดสินใจเรียน อาจารย์มีความสำคัญมาก พอเสิร์จชื่อในกูเกิลก็เห็นว่ามีเครดิตทำเพลงดังในประเทศไทยหลายเพลง เพราะอยากเรียนกับคนที่อยู่ในสายงานนี้จริงๆ เช่น อาจารย์อาจารย์วีรภัทร์ อี้งอัมพร ซึ่งเป็นหัวหน้าภาคฯ และสอนด้วย และทำงานให้กับแกรมมี่ กับศิลปินดังๆ เช่น พี่โอ๊ต ปราโมทย์ หรือพี่เบล สุพล ฯลฯ อาจารย์อยู่เบื้องหลังคนดังๆ มากมาย แล้วเราก็อยากมีคอนเน็กชั่นที่เอาไปต่อยอดได้จากอาจารย์ เพราะเมื่อเรียนจบก็จะได้มีโอกาสไปทำงานจากคอนเน็กชั่นของอาจารย์ที่อาจจะช่วยแนะนำให้ หรือให้คำปรึกษาได้”

การเลือกเรียนสาขาผลิตดนตรี มีโอกาสทำงานได้มากมายทุกแขนงในวงการบันเทิง และในการโฆษณา มีตัวอย่างเช่น ร้านอาหารบุฟเฟต์แห่งหนึ่งอยากมีดนตรีของตัวเอง เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าอยากหยุดกินของคาวแล้ว อยากมากินของหวาน เพราะดนตรีช่วยทำให้เกิดความรู้สึกหรือมีอารมณ์ต่างๆ ได้ ดนตรีมีผลกับชีวิตของเรา หรือเมื่อเราอยู่ในห้างฯ ก็มีเสียงดนตรีคลออยู่ตลอด ดนตรีที่อยู่ในที่ต่างๆ เป็นอาชีพของพวกเราทั้งนั้น

ปวีณ วงษ์รัตน์ หรือ ปินปิน ศิษย์เก่า วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
ยิ่งเรื่องลิขสิทธิ์มีความสำคัญมากขึ้น และผู้จ้างอยากมีเอกลักษณ์เฉพาะ ก็ต้องสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่เอง เพื่อจะได้เป็นของตัวเองและสามารถใช้ไปได้ตลอดหรือถ้าใช้ในธุรกิจ 5 ปี 10 ปี กว่าจะเบื่อ จึงยอมลงทุนส่วนนี้ เพราะรู้สึกคุ้มค่าแล้วกับเงินที่จ่ายไป เช่น ใครที่ไปเดินห้างไอคอนสยาม เมื่อเข้าไปจะได้ยินเสียงดนตรีไทยซึ่งมีเฉพาะที่ไอคอนสยาม เป็นความตั้งใจทำขึ้นมาใหม่เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งอาจจะทำให้ลูกค้าซึมซับแบบไม่รู้ตัว จำได้และรู้สึกมีความสุข

ดนตรีมีความต้องการสร้างสรรค์ใหม่อยู่เสมอ มีโอกาสมากมาย ตลาดใหญ่มาก ดนตรีสามารถทำได้หลายแบบ อย่างในธุรกิจโฆษณาเม็ดเงินใหญ่มาก ทำให้สามารถจัดสรรปันส่วนมาทำดนตรีได้ หรือแบบเล็กๆ เช่น อินดี้ โฮมสตูดิโอ หรือเป็นโปรดักชั่นเล็กๆ หรือเป็นระดับประเทศ หรือระดับโลก

นอกจากนี้ “เทคโนโลยี” มีส่วนสำคัญมาก เพราะสมัยก่อนการทำดนตรีต้องเข้าห้องอัด มีอุปกรณ์มากมาย ไม่ได้ทำง่ายๆ แต่ตอนนี้ทั้งอุปกรณ์ใหม่ๆ ราคาไม่สูง ใช้งานง่าย หลายคนทำงานในห้องนอน สามารถผลิตงานดนตรีได้สบายๆ หรือเรื่องค่ายเพลงเมื่อก่อนต้องเป็นค่ายเพลงใหญ่ๆ จึงจะผลิตงานดนตรีได้ดี มีรายได้มาก แต่สมัยนี้ไม่จำเป็นเพราะค่ายเพลงเล็กๆ หรือศิลปินอิสระสามารถผลิตงานดนตรีและมีรายได้มากๆ ได้


ปวีณ เล่าถึงเป้าหมายหลังจากเรียนจบว่า เมื่อก่อนก็คล้ายๆ กัน เรียนจบอยากจะเป็นโปรดิวเซอร์ค่ายใหญ่ให้ได้ ตอนเรียนปี 3 ได้ไปฝึกงาน แต่ก็เปลี่ยนไปตอนเรียนจบปี 4 เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ศิลปินค่ายใหญ่เริ่มหมดสัญญาและออกมาทำเอง เริ่มมีค่ายเล็กๆ มากขึ้น ขณะที่ ค่ายใหญ่เริ่มไม่มีโปรดิวเซอร์ที่ทำงานประจำ ตอนนั้นก็กังวลกลัวจะไม่มีงานทำ เพราะโปรดิวเซอร์ใหญ่ๆ เริ่มเป็นฟรีแลนซ์ แต่พอดีเป็นช่วงเริ่มมีดิจิทัลทีวี ต้องการผลิตซีรี่ส์มากมาย ทำให้ได้ทำงานซีรี่ส์ตั้งแต่เรียนจบมาจนถึงวันนี้ 9 ปีแล้ว เป็นโปรดิวเซอร์ผลิตเพลงประกอบซีรี่ส์ มีผลงานมากมาย ซึ่ง“ทฤษฎีสีชมพู” เป็นซีรี่ส์ที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด เพราะมีโอกาสได้ทำเพลงประกอบมากถึง 12 เพลง ในอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เช่น น้อยใจ ดีใจ แค้น ฯลฯ และได้รางวัลต่างๆ เช่น T POP Stage เป็นต้น ขณะที่ วงการซีรี่ส์พัฒนาไปเร็วมาก ตอนนี้แต่ละเดือนมีนับสิบเรื่องและเพลงประกอบก็มีมากมาย ยิ่งวันนี้มีช่องทางมากมาย ถามน้องๆ ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่มีใครคิดจะไปค่ายใหญ่ มีแต่อยากทำผลงานเป็นอิสระของตัวเอง

ในการเรียน 4 ปีมีข้อดีที่ทำให้ได้คลุกคลีกับดนตรีตลอด เป็นช่วงเวลาดีๆ ที่มีความสุข และไปทำงานในสายอาชีพ แต่บางคนเรียนจบก็เบื่อแล้ว เต็มที่กับดนตรีแล้ว ไม่อยากไปต่อกับดนตรีทั้งชีวิต อยากไปทำอย่างอื่น หรือบางคนเมื่อไปทำงานแล้วกลับไม่มีความสุข เพราะไม่ได้อยากทำดนตรีตามโจทย์ที่ได้หรือจากงานที่มีให้ทำ แม้ว่าจะทำได้แต่ไม่มีความสุขหรือต้องฝืนทำ ทำให้เครียด ในที่สุดจึงเลือกทำงานอื่นเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ได้ทำงานดนตรี ปล่อยให้ดนตรีเป็นงานอดิเรกหรืออยู่กับส่วนที่เป็นความสุขของชีวิตดีกว่า

แต่อีกส่วนหนึ่ง “คนรุ่นใหม่” วันนี้ หลายคนมีอาชีพในอนาคตอยู่แล้ว ตั้งใจมาเรียนเพื่อจะเอาวิชาที่อยากรู้โดยเฉพาะเพื่อไปใช้ประกอบอาชีพจริงจัง เช่น อยากเป็นซาวน์เอนจิเนียร์ หรือบางคนอยากพัฒนาฝีมือเพื่อไปทำงานต่อ เช่น เป็นยูทูปเบอร์ เพื่อให้ได้ความรู้ที่ถูกต้องได้มาตรฐาน ดังนั้น การเรียนที่นี่จะมีโอกาสดีๆ ในด้านอาชีพมากขึ้น และมีความสุขท่ามกลางสังคมคนรักดนตรีแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น