ฟอร์ด ประเทศไทย ระดมอาสาสมัครครั้งใหญ่ร่วมกิจกรรม Ford Global Caring Month พร้อมกับอาสาสมัครฟอร์ดทั่วโลกในเดือนกันยายน โดยที่ประเทศไทย ฟอร์ดร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (พีดีเอ) สานต่อกิจกรรม ‘Water Go Green’ หรือการจัดการน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8
ในปีนี้ฟอร์ดจัดกิจกรรมที่โรงเรียนบ้านหมอมุ่ย ตำบลละหาร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ฟอร์ด ฟันด์) และมีอาสาสมัครจากฟอร์ด ประเทศไทย โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) โรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย (เอเอที) พนักงานของผู้จำหน่ายฟอร์ด และสื่อมวลชนร่วมกิจกรรมกว่า 70 คน
นายรัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า “การออกไปช่วยเหลือชุมชนเป็นพันธกิจสำคัญของอาสาสมัครฟอร์ดทั่วโลก เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับชุมชนควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ครั้งนี้นับเป็นปีที่ 8 ที่เราได้ให้การสนับสนุนโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานฟอร์ดในจังหวัดระยองด้วยการส่งมอบความรู้ในการจัดการทรัพยากรน้ำด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาระบบจัดการน้ำของโรงเรียนและช่วยลดค่าไฟฟ้า ทั้งยังร่วมกันปรับพื้นที่ในโรงเรียนให้เป็นแปลงเกษตรผสมผสานเพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชน โดยนำผลผลิตที่ได้มาใช้บริโภคภายในโรงเรียนและสร้างรายได้เสริมแก่ชุมชน”
ฟอร์ด ฟันด์ เป็นหน่วยงานเพื่อสังคมของฟอร์ด ที่ช่วยระดมความร่วมมือจากอาสาสมัครฟอร์ดทั่วโลกมาดำเนินโครงการ Global Caring Month ร่วมกันในเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกแก่ชุมชนต่างๆ ทั่วโลก ปีนี้ฟอร์ด ฟันด์ ได้สนับสนุนงบประมาณราว 1,350,000 บาท เพื่อให้ฟอร์ด ประเทศไทย จัดกิจกรรม Water Go Green ที่โรงเรียนบ้านหมอมุ่ย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นต้นแบบแก่ชุมชนรอบข้าง โดยเน้นย้ำความสำคัญของการมอบองค์ความรู้ด้านการนำนวัตกรรมมาช่วยจัดสรรทรัพยากรน้ำให้แก่ชุมชน เพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภค และยังนำมาสร้างรายได้เสริมได้
อาสาสมัครฟอร์ดและสื่อมวลชนได้ร่วมกันติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 10 แผง พร้อมแบตเตอรี่ให้แก่โรงเรียนบ้านหมอมุ่ย ซึ่งระบบโซลาร์เซลล์จะต่อเข้ากับแปลงปลูกผักและระบบส่องสว่างในโรงเรียน ช่วยให้โรงเรียนประหยัดค่าไฟฟ้าลงประมาณ 30%
นอกจากนี้ได้ร่วมกันขุดลอกและล้อมรั้วรอบสระน้ำยาวกว่า 110 เมตร รวมถึงปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการสร้างแปลงเกษตรในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำแปลงปลูกผักด้วยอิฐบล็อกรวม 20 แปลง ประกอบโรงเรือนเพาะเห็ด 1 หลัง และนำก้อนเชื้อเห็ดเข้าโรงเรือน ติดตั้งแปลงปลูกผักยกสูงพร้อมเชื่อมต่อระบบจ่ายน้ำ ผสมดินเพาะปลูกและนำต้นกล้าผักลงปลูกในเข่งและตะกร้า รีไซเคิลยางรถยนต์ใช้แล้วเป็นภาชนะปลูกผัก ติดตั้งรถเข็นสูบน้ำด้วยระบบโซลาร์เซลล์
ทั้งนี้ผลผลิตที่ได้จากแปลงเกษตรจะนำไปบริโภคภายในโรงเรียนและจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ โครงการนี้ถือเป็นต้นแบบกิจกรรมเพื่อสังคมที่ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนซึ่งสามารถนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ในอนาคตได้