xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ นำร่อง 11 จังหวัด ใช้มาตรการ 4 ด้าน ดิน น้ำ ลม ไฟ คุมเข้มด้านสิ่งแวดล้อมรอบโรงงานทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรม ชูนโยบาย MIND ผนึกกำลังโรงงานอุตสาหกรรม ภาคประชาชน และชุมชน เดินหน้าภารกิจ "อุตสาหกรรมรวมใจ รักษ์น้ำใส ใส่ใจชุมชน" ฟื้นฟูคุณภาพน้ำในลำคลองรอบโรงงาน นำร่อง 11 จังหวัดรอบปริมณฑล หวังชุมชนเกิดมุมมองที่ดีกับโรงงาน


ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จัดกิจกรรม "อุตสาหกรรมรวมใจ รักษ์น้ำใส ใส่ใจชุมชน” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการดิน น้ำ ลม ไฟ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความร่วมมือให้ภาคอุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสามารถอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยเริ่มกิจกรรมใน 4 จังหวัดรอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ คลองบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ คลองเปรมประชากร จังหวัดปทุมธานี คลองบ้านใหม่ จังหวัดนนทบุรี และคลองรางเตย จังหวัดนครปฐม โดยเริ่มจากการสำรวจตรวจสอบว่าโรงงานมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างถูกต้อง มีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลองว่าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่

พร้อมสำรวจพื้นที่และเก็บตัวอย่างน้ำในคลองในจุดที่มีความเสี่ยง เพื่อตรวจวัด วิเคราะห์คุณภาพน้ำ พร้อมกับการดำเนินการฟื้นฟูสภาพน้ำให้มีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ทั้งการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องบำบัดน้ำเสียเครื่องเติมอากาศกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ การมอบถังดักไขมันให้แก่ชุมชนและสถานประกอบการต่าง ๆ โดยรอบลำคลอง การดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาและจัดทำแนวปิดกั้นหรือจุดพักผักตบชวาให้เหมาะสม การขุดลอกคลอง รวมถึงการจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาน้ำในคลองให้กับชุมชนที่อยู่อาศัย และประสานความร่วมมือกับ หน่วยงานในพื้นที่ในการขอความร่วมมือดูแลรักษาสภาพน้ำในคลอง

“กระทรวงฯ เดินหน้าตามนโยบาย MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ดำเนินนโยบาย 4 มิติ มุ่งสร้างความสำเร็จให้ภาคธุรกิจ ดูแลสังคมโดยรอบโรงงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดย 1 ในโครงการที่ช่วยผลักดันนโยบายนี้คือ โครงการ "อุตสาหกรรมรวมใจ รักษ์น้ำใส ใส่ใจชุมชน" โดยจะมีการติดตามประเมินผลทั้ง 4 จังหวัดในอีก 1 เดือนข้างหน้าเพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินการก่อนและหลังด้วย โครงการตั้งเป้าดำเนินการใน 11 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง อยุธยา สระบุรี และปราจีนบุรี และเตรียมการขยายผลต่อไปให้ครอบคลุมในทุกจังหวัดทั่วประเทศในอนาคต เพื่อทำให้ชุมชน สังคมโดยรอบ เกิดมุมมองที่ดีกับโรงงานอุตสาหกรรม” ดร.ณัฐพล กล่าว


กิจกรรมใน 4 จังหวัดรอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีการติดตามประเมินผลในอีก 1 เดือนข้างหน้า



คลองบางเสาธง เป็นคลองสายหลักใน จ.สมุทรปราการ มีความยาวประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นคลองธรรมชาติ โดยในช่วงฤดูแล้งน้ำคลองจะแห้ง แต่หน้าน้ำก็จะมีน้ำท่วมมาก บริเวณพื้นสองฝั่งคลองเป็นทุ่งนาโล่งมีบ้านเรือนอาศัยอยู่เป็นช่วง ๆ และมีความหนาแน่นของชุมชนตั้งแต่ปากคลองด้านใต้ไปจนถึงวัดเสาธงกลาง รวมถึงมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่บริเวณปากคลองจำนวน 15 โรงงาน จึงเป็นจุดที่ต้องมีการเฝ้าระวังการก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม

คลองเปรมประชากร
จ.ปทุมธานี มีระยะทางทั้งหมด 50.8 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 12 เมตร ระยะทางที่ผ่าน จ.ปทุมธานี ประมาณ 20 กิโลเมตร เนื่องด้วยเป็นคลองสายหลักที่ผ่านชุมชนจำนวนมากจึงทำให้เกิดผลกระทบจากการปล่อยน้ำทิ้ง ส่วนการปล่อยน้ำทิ้งจากสถานประกอบการนั้นพบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพน้ำโดยรอบชุมชน จึงได้มีการติดตั้งเครื่องเติมอากาศ กังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ คาดว่าจะช่วยฟื้นฟูคุณภาพน้ำภายในคลองเปรมประชากรโดยตรง และจะช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดิน (Water Quality Index : WQI) ในระยะพื้นที่การพัฒนาให้มีค่าดัชนีที่ดีขึ้น


คลองบ้านใหม่ จ.นนทบุรี เป็นคลองกั้นระหว่าง จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี มีความยาวประมาณ 3,800 เมตร เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองเปรมประชากร ทั้งนี้การดำเนินโครงการฯ จะช่วยกำกับ ดูแล การระบายน้ำทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ พัฒนาฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลองสาขาให้มีคุณภาพดีขึ้น และร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการ อาทิ การขุดลอกกำจัดตะกอนดิน การสร้างฝายน้ำล้น การสร้างความตระหนักรู้ในการลดการปล่อยของเสียลงสู่แหล่งน้ำ


คลองรางเตย จ. นครปฐม เป็นคลองสาขาที่เชื่อมระหว่างคลองวัดท่าพูด กับคลองอ้อมใหญ่ มีความกว้างประมาณ 5 เมตร ความยาวประมาณ 2.4 กิโลเมตร ปัจจุบันสภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก จึงได้ดำเนินการลอกคลองเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร โดยได้รับความร่วมมือทั้งจาก สอจ.นครปฐม หน่วยงานราชการท้องถิ่น ภาคประชาชน และโรงงานอุตสาหกรรมในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในคลองรางเตย ปัจจุบันคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดิน (WQI) อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น