xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ชำแหละ! โปรเจกต์บ่อบำบัดน้ำเสียท้องถิ่น 1.3 พัน ล. 4 จังหวัดกลางตอนบน เฉพาะ “ทม.อุทัยธานี” พื้นที่ ส.ส.ชื่อดัง ร้างถาวร!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง. ชำแหละ! โปรเจกต์บ่อบำบัดน้ำเสีย ท้องถิ่น 4 จังหวัดกลางตอนบน มูลค่า 1.3 พันล้าน งบประมาณในกำกับมหาดไทย ที่เจียดพ่วงงบ อปท. พบ 5 ใน 8 แห่ง เดินระบบไม่ต่อเนื่อง จากสารพัดปัญหา เฉพาะบ่อบำบัดร้าง ของ “เทศบาลเมืองอุทัยธานี” มูลค่า 500 ล้าน หยุดเดินระบบอย่างถาวร เผย ทุก อปท. ติดปม ยกร่างเทศบัญญัติจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”

วันนี้ (24 ก.ค.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า สตง.เผยแพร่ ผลตรวจสอบ “การบริหารระบบบำบัดน้ำเสียแบบรวมชุมชน 7 แห่ง และรูปแบบบำบัดน้ำเสียแบบกลุ่มอาคาร จำนวน 1 แห่ง”

ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

“วงเงินงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมทั้งหมด 1,346,431,000 บาท ทั้ง 8 แห่ง สามารถในการรองรับน้ำเสียรวมทั้งหมด 76,179 ลูกบาศก์เมตร/วัน”

โครงการดังกล่าว อยู่ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพนํ้าและอนุรักษ์ทรัพยากรนํ้า ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน

สตง. พบว่า 5 ใน 8 แห่ง ไม่พบว่า มีการใช้ประโยชน์และมีการเดินระบบอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีก 3 แห่ง แม้จะมีการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบปัญหามีปริมาณน้ำเสียเข้าสู่ระบบน้อยกว่าความสามารถของระบบ

และอุปกรณ์บางส่วน “ชำรุด” ไม่สามารถใช้งานได้ และยังพบว่าคุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดของระบบบำบัดน้ำเสียบางส่วน ยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด

พบว่า ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่บริหารโดย “เทศบาลเมืองอุทัยธานี” มูลค่า 500 ล้านบาท ได้หยุดเดินระบบอย่างถาวร เนื่องจากระบบรวบรวมเดิมมีโครงข่ายท่อระบายนํ้า ไม่เพียงพอกับปริมาณนํ้าเสีย และนํ้าฝนที่เกิดขึ้นท่าให้เกิดการท่วมขังของนํ้าในพื้นที่บางจุด

อีกทั้งที่ตั้งของระบบบำบัดนํ้าเสียรวม “ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าสะแกกรัง” ซึ่งเสี่ยงต่อการท่วมล้นจากแม่นํ้าในช่วงหน้าฝน ประกอบกับระบบดังกล่าว “ไม่มีการออกแบบให้มีสถานีสูบนํ้า”

ทำให้ไม่สามารถรวบรวมนํ้าเสียเข้าบ่อบำบัดได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการบล็อกท่อรวบรวมนํ้าเสีย เพื่อก่อสร้างระบบใหม่ด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการนี้ เกิดขึ้น ในปี 2550 ยุค นางเตือนจิตรา แสงไกร (อดีตภรรยา นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี) ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี

และ ต่อเนื่อง โดย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ (น้องสาวนายธาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี) ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอุทัยธานี เป็นผู้ดำเนินการ

สตง. ยังพบว่า มี 4 แห่ง ระบบรวบรวมและระบบบำบัดนํ้าเสีย ที่มีการเดินระบบไม่ต่อเนื่อง ประกอบด้วย

1) ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่บริหารโดย “เทศบาลเมืองชุมแสง จ.นครสวรรค์ อยู่ในช่วงปรับปรุงระบบให้สามารถใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อให้นํ้าเสียที่ผ่านการบำบัดมีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และมีเครื่องวัดอัตราการไหลของนํ้า (Flow meter) ซึ่งตั้งแต่จัดซื้อมาไม่มืการใช้ประโยชน์

2) ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่บริหารโดย “เทศบาลตำบลท่าตะโก” จ.นครสวรรค์ เนื่องจากปอบำบัดเดิม ได้มีการปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ. 2563

ทำให้สภาพของบ่อมีขนาดเล็กลงกว่าขนาดเดิม นํ้าเสียไม่สามารถไหล หลังพบว่า มีตกตะกอนสารแขวนลอยและสารอินทรีย์ ที่ตกตะกอนขาดการดูแลรักษา

3) ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่บริหารโดย “เทศบาลตำบลสลกบาตร” อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร พบว่า มีการปล่อยนํ้าเสียจากโรงฆ่าสัตว์เข้าสู่ระบบบำบัดนํ้าเสีย มีความสกปรกสูงกว่านํ้าเสียชุมชนโดยทั่วไป

ยังมีสภาวะการเจริญเติบโตของสาหร่ายอย่างหนาแน่นในบ่อบำบัดนํ้าเสียและเกิดกลิ่นเหม็นรุนแรงกว่าระบบปกติทั่วไป

4) เทศบาลเมืองพิจิตร เนื่องจากเครื่องสูบนํ้าแบบจุ่ม (Submersible pump) ซึ่งมี จำนวน 7 เครื่อง ชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ทั้งหมด

สตง. ยังพบว่า ในปี 2565 เครื่องสูบน้ำ (ระบบบำบัด) ของเทศบาลนครนครสวรรค์ ชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ 9 เครื่อง จากทั้งหมด 20 เครื่อง รวมถึงมีปัญหาขยะสะสมอุดตันหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ

อย่างไรก็ตาม “เทศบาลนครนครสวรรค์” มีการซ่อมแซมแก้ไขอย่างรวดเร็ว จนเป็นตัวอย่างใก่ อปท.ในพื้นที่ ทำให้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ท่องเที่ยวที่รู้จักของคนในและนอกพื้นที่ในชื่อ “คลองญวนชวนรักษ์”

แถมยังได้รับรางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน พ.ศ. 2557 : เมืองแห่งน้ำสะอาด (CLEAN WATER)

กรณีของ “เทศบาลเมืองกำแพงเพชร” พบว่า ไเรังบประมาณสนับสนุนจาก “องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ในการบริหารจัดการระบบ ปีละ 1,500,000 บาท

แต่จากการตรวจสอบ อจน. ยังไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบำบัด ของเทศบาลเมืองกำแพงเพชร ได้ตามที่ได้บันทึกข้อตกลงกันไว้หลายกรณี

เช่น การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการยกร่างเทศบัญญัติการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำเสีย และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้

ใน “เทศบาลเมืองตะพานหิน” จ.พิจิตร พบว่า เครื่องสูบน้ำแบบจุ่มชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ 3 เครื่อง จากทั้งหมด 6 เครื่อง รวมถึงเครื่องตักขยะ ซึ่งติดตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันชำรุดไม่สามารถใช้งานได้

สตง. ยังสรุปว่า ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่บริหารโดย อปท. 7 แห่ง ยังไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบและจำนวนประชากรในเขตรับผิดชอบได้ทั้งหมด

เช่นเดียวกับผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัด จากระบบบำบัดน้ำเสียของ อปท.บางแห่ง ยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

เช่น ค่าปริมาณสารแขวนลอย (SS) ค่าน้ำมันและไขมัน (Fat Oil and Grease) และค่าไนโตรเจนทั้งหมด (TN) ในน้ำทิ้งออกจากระบบมีค่าสูงกว่าน้ำเสียเข้าระบบ ซึ่งโดยปกติแล้วค่าตัวเลขของน้ำเข้าระบบต้องมากกว่าตัวเลขของน้ำออกจากระบบ

สำหรับกรณีที่ ปัจจุบัน อปท. ทั้งหมด ยัง “ไม่สามารถ” ดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดนี้าเสียเป็นไปตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” (Polluter Pays Principle : PPP)

“สตง. เห็นว่า กรณีนี้ จนถึงปัจจุบันระยะเวลาผ่านมา มากกว่า 8 ปี แล้ว อจน. ยังไม่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการยกร่างเทศบัญญัติการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำเสีย และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมน้ำเสียและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้”

ดังนั้น เมื่อไม่สามารถดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนงบประมาณในการเดินระบบและบำรุงรักษาระบบให้มีประสิทธิภาพ และต้องนำงบประมาณส่วนอื่นมาใช้จ่าย

ทำให้เสียโอกาสแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือพัฒนาด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน .


กำลังโหลดความคิดเห็น