xs
xsm
sm
md
lg

‘อ.ธรณ์’ เตือนภัยเอลนีโญ กระทบน้ำทะเลร้อน! มีโอกาสสูงลากยาวถึง มี.ค.-เม.ย.67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ #อัปเดทปรากฎการณ์เอลนีโญ ผ่านเฟซบุ๊ก Thon
Thamrongnawasawat
 
เมื่อวานนี้ (7 ส.ค.2566) โดยเน้นเรื่องทะเลเป็นพิเศษ

ผมอธิบายโดยใช้ภาพเดียวเท่านั้น เป็นแผนที่ของแปซิฟิก เห็นเมืองไทยอยู่สุดขอบซ้าย ภาพมีหลายแผนที่ ไล่ตามเดือน ตั้งแต่สิงหาคม ปีนี้ ไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า

สีคืออุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเล เหลือง/แดง/แดงเข้ม/น้ำตาล คืออุณหภูมิที่สูงกว่าปรกติไล่ไปเรื่อย ลองดูสเกลได้ครับ

เดือนสิงหาคม ภาพบนสุด น้ำในอ่าวไทยบ้านเรายังสีเหลือง หมายถึงเอลนีโญมาแล้วแต่ยังไม่มาก ขณะที่น้ำร้อนกลางมหาสมุทรเริ่มกินพื้นที่มากขึ้น

น้ำจะร้อนขยายวงกว้างจริงจัง ตั้งแต่ตุลาคมถึงธันวาคม แล้วจะเริ่มลดลง สอดคล้องกับการคาดการณ์ครั้งก่อนๆ ว่าเอลนีโญจะแรงสุดช่วงปลายปี จากนั้นจะเบาลง

ถ้าดูทะเลไทย จะเห็นว่าเราจะเริ่มเข้าสู่สีแดงในเดือนกันยายน กลายเป็นแดงทั้งหมดในตุลาคม จากนั้นจะยิงยาวไปจนถึงกุมภาพันธ์ อ่าวไทยยังแดงอยู่ แม้เอลนีโญในภาพรวมอาจเบาลง


แล้วเราจะร้อนถึงเมื่อไหร่ ? ส่งผลกระทบอะไรบ้าง ?


ลองดูภาพผมใส่ไว้ เป็นกราฟจากหลายแบบจำลองนำมาเปรียบเทียบกันไปจนถึงเดือนมีนาคม 2567

สรุปง่ายๆ ว่าการทำนายส่วนหนึ่งบอกว่ายังไม่จบในเดือนมีนาคม น้ำอาจร้อนต่อไป ซึ่งในวันนี้ยังบอกไม่ได้แน่ชัด ต้องรอให้เวลาผ่านไป เราจะเขยิบการทำนายออกไปได้เรื่อยๆ

สักเดือนตุลาคมนี้ เราก็น่าจะบอกได้แล้วว่าเอลนีโญจะสิ้นสุดช่วงมีนาคม-เมษายนไหม ภาวนาให้จบครับ ไม่งั้นทะเลเดือดแน่ บนแผ่นดินอาจเจอแล้งซ้ำซ้อน


คราวนี้ขออธิบายเรื่องน้ำร้อน น้ำร้อนในที่นี้หมายถึงร้อนกว่าปรกติ ไม่ใช่ร้อนจี๋ตลอดเวลา

เมื่อลองดูภาพอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลอ่าวไทย 3 ปี น้ำร้อนสุดในบ้านเราอยู่ช่วงเมษายน-มิถุนายน ช่วงพีคของน้ำร้อนในทะเลแต่ละแห่งไม่พร้อมกัน ทะเลเขตอบอุ่นอาจร้อนสุดช่วงกรกฎาคม

สิ่งที่น่าติดตามคือเมื่อถึงเดือนกันยายน/ตุลาคม น้ำทะเลปีนี้จะร้อนผิดปรกติจากปีก่อนๆ หรือไม่ จากนั้นเราต้องลุ้นว่า เมื่อถึงเดือนมีนาคม/เมษายน/พฤษภาคม ปีหน้า เอลนีโญจะอ่อนแรงหรือจบหรือเปล่า

เพราะช่วงนั้นเป็นพีคน้ำร้อนในอ่าวไทย เจอเบิ้ลเข้าไป ปะการัง ระบบนิเวศ สัตว์น้ำ อาจเจอปัญหาใหญ่

ตอนนี้ทีมตามปะการังฟอกขาวกำลังเตรียมตัว เราพยายามติดตามข้อมูลทั้งต่างประเทศและไทยอย่างใกล้ชิด อีกไม่นานคณะประมงจะติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม เพื่อเป็นอีกแรงที่ช่วยกันเก็บข้อมูล

นี่คือการเตรียมตัวรับมือที่ผมเคยบอกไว้ เราสามารถยกระดับได้ สามารถเรียนรู้ให้มากขึ้นได้ เพราะเราต้องเจอสถานการณ์แบบนี้อีกแน่ และจะแรงขึ้นตามโลกร้อนที่ยังไม่ทีท่าว่าจะหยุด

เรายังอาจทำนายทะเลไม่ได้ถึงขนาดนั้น แต่สักวันเราจะทำได้ หากเราไม่ปล่อยให้โอกาสเรียนรู้หมดไป สักวันเราจะช่วยแจ้งเตือนหรือหาทางปรับตัวต่อโลกร้อนได้ดีกว่านี้ ช่วยรักษาธรรมชาติได้มากขึ้น และช่วยพี่น้องคนทำมาหากินกับทะเลสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น