xs
xsm
sm
md
lg

ซัดชายหาดภูเก็ต-พังงา กว่า 125 กม. สังเวยลูกเต่าทะเลแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทะเล เกาะติดผลกระทบคราบน้ำมันดำในทะเลฝั่งอันดามัน ซัดขึ้นหลายหาดที่ภูเก็ต และพังงา เป็นระยะทาง 125 กิโลเมตร ล่าสุด ลูกเต่าทะเล เกยตื้นที่ภูเก็ตตาย 1 “ดร.ธรณ์” หวั่นคนแอบทิ้ง เพราะฝั่งอันดามันแทบไม่มีอุปกรณ์รับมือ เนื่องจากกิจการพลังงาน/โลจิสติกส์ทางทะเลของเราอยู่ในฝั่งอ่าวไทย


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เผยความคืบหน้าสถานการณ์ชายฝั่งได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันลอยไปตามฝั่งตะวันตก เข้าหลายหาด เป็นระยะทาง 125 กิโลเมตร ตั้งแต่หาดคึกคัก จังหวัดพังงา ทางตอนเหนือในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ไปจนถึงตอนใต้ของจังหวัดภูเก็ต บริเวณเกาะราชาใหญ่ (ขึ้นฝั่งวันที่ 6 สิงหาคม 2566) โดยคราบน้ำมันถูกพัดขึ้นฝั่งตลอดเวลาทุกวัน

จากการตรวจสอบที่มาของคราบน้ำมัน กรมเจ้าท่าโดยสำนักงานเจ้าท่าสาขาภูเก็ต ตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ พบว่า มีเรือเดินสมุทรแล่นผ่านทางตะวันออกของภูเก็ตระยะห่าง 80 ไมล์ทะเล จำนวน 18 ลำ เป็นเรือสินค้า 10 ลำ เรือบรรทุกน้ำมัน 7 ลำ และเรืออื่นๆ 1 ลำ และไม่พบการขออนุญาต ballast exchange กรม ทช. ดำเนินการวิเคราะห์แบบจำลองย้อนหลังเพื่อหาช่วงเวลาและพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อนำข้อมูลไปประกอบกับข้อมูลของกรมเจ้าท่าในการหาที่มาของน้ำมัน สำหรับการวิเคราะห์ชนิดและที่มาของน้ำมันดิน ซึ่งขณะนี้ได้มีการส่งตัวอย่างนำ้มันไปวิเคราะห์ที่ห้องปฎิบัติการการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน และก้อนน้ำมันดิน สคพ.13 (ชลบุรี) กรมควบคุมมลพิษ ทั้งนี้รายละเอียดเพิ่มเติมจะมีการรายงานให้ทราบต่อไป

ล่าสุด วันนี้ (8 ส.ค.2566) ทางเจ้าหน้าที่กรมทช. ยังเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่องในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งโดยเฉพาะระบบนิเวศปะการัง รวมถึงการติดตามการปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเล เพื่อประเมินผลกระทบต่อคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง


ส่วนวานนี้ (7 ส.ค.2566) สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 (สทช.10) โดยศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดภูเก็ต ปฏิบัติการเก็บคราบน้ำมัน ณ พื้นที่เกาะราชาใหญ่ ตำบลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับทัพเรือภาค 3 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 เทศบาลตำบลราไวย์ สำนักงานเจ้าท่าภูเก็ต และกลุ่มผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวเกาะราชา จำนวน 45 คน โดยได้รับแจ้งจากครูสอนดำน้ำพบคราบน้ำมันบริเวณชายหาดอ่าวปะตก และอ่าวสยาม เกาะราชาใหญ่ ถูกคลื่นซัดขึ้นมาตกค้างบริเวณชายหาด 

ผลการตรวจสอบ พบคราบน้ำมันส่วนใหญ่ถูกคลื่นซัดขึ้นบริเวณชายหาดไปติดขยะและพันธุ์ไม้บริเวณแนวผักบุ้งทะเล และพบก้อนน้ำมันสีดำบางส่วนขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ (20 ซม.) ถูกคลื่นซัดมาตกค้างบริเวณชายหาด ระยะทางรวม 700 เมตร จึงได้เก็บคราบน้ำมันดังกล่าว สามารถเก็บได้ ประมาณ 800 กิโลกรัม นำคราบน้ำมันที่ได้ลำเลียงขึ้นฝั่งและจัดการตามกระบวนการ และพบซากลูกเต่าทะเล(ตาย) จำนวน 1 ตัว บริเวณชายหาดอ่าวปะตก

ทั้งนี้ ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายวิษณุ แจ้งใจ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 นายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน และเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต ได้ลงพื้นที่ร่วมติดตามสถานการณ์การปนเปื้อนของน้ำมัน ร่วมกับนายสรศักดิ์ รณะนันทน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ


อาจารย์ธรณ์ ชี้แก้ต้นเหตุ คือทำอย่างไรให้ไม่มีคราบน้ำมัน

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ถึงเรื่องนี้ บนเพจเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

ตอนนี้คราบน้ำมันลอยไปตามชายฝั่งตะวันตก เข้าหลายหาด บางส่วนไปที่เกาะราชา หวังว่าคงไม่มีน้องเต่าตัวต่อไป หากเพื่อนธรณ์ไปแถวนั้น ช่วยกันเป็นหูเป็นตาด้วย เจอรีบแจ้งกรมทะเลครับ

ทั้งหมดนั้นเป็นปลายเหตุ ต้นเหตุคือทำอย่างไรให้ไม่มีคราบน้ำมัน ตรวจการณ์/ป้องกัน/จับกุมอย่างไร เพราะนอกจากสัตว์หายาก ยังรวมถึงแนวปะการังมากมายแถวนั้น ชายหาดที่โด่งดังไปทั่วโลก

ความสูญเสียเกิดทั้งระบบนิเวศ สัตว์หายาก และเศรษฐกิจท่องเที่ยว

ตอนนี้เท่าที่ทราบ เรากำลังเช็คเรือที่ผ่านไปมาแถวนั้น อีกทั้งนำน้ำมันไปวิเคราะห์ อาจเป็นดีเซลหรือน้ำมันเครื่อง
เมื่อไม่มีข่าวเรือเกิดอุบัติเหตุ เป็นไปได้ว่าอาจแอบทิ้ง

ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุหลักของคราบน้ำมันในไทย อีกทั้งจัดการยากเย็น เพราะบางครั้งทิ้งไหลแต่คลื่นลมพัดเข้ามา เช่นช่วงมรสุมอันดามันในตอนนี้

จะยังไงก็แล้วแต่ เราก็ต้องพยายามทำอะไรให้ได้ดีกว่านี้ จะให้กรมเจ้าท่าทำเพียงลำพังคงไม่ไหว อีกหลายหน่วยงานต้องช่วยกัน

ในส่วนของกรมทะเล ทีมคุณหมอพร้อม หากมีอะไรต้องเสริม เราจะหาทางต่อไป

ผมเป็นประธานคณะสัตว์ทะเลหายาก ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการ กจน. (กำจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน/เคมีภัณฑ์) จะพยายามเท่าที่ทำได้ แต่ถึงตอนนี้ ยังไม่ได้ประชุมเลย เพราะมีนายกรัฐมนตรีหรือรองหรือรมต. เป็นประธาน ต้องรอความชัดเจน

ตอนนี้ที่ทำได้คือแจ้งเพื่อนธรณ์ให้ช่วยดู พยายามสนับสนุนคุณหมอกรมทะเลและอื่นๆ ติดตามสถานการณ์ระบบนิเวศที่หลายหน่วยงานคงช่วยกัน

สักวันคงมีโอกาสได้หาทางเสนอยกเครื่องระบบของเราบ้าง เช่น การบูรณาการร่วมกัน การใช้อุปกรณ์/เทคโนโลยีเฝ้าระวัง การลาดตระเวนชายฝั่งเป็นประจำ การตามหาผู้กระทำผิดให้สำเร็จสักครั้ง ฯลฯ

สิ่งสำคัญอีกประการคือฝั่งอันดามันแทบไม่มีอุปกรณ์รับมือ เพราะกิจการพลังงาน/โลจิสติกส์ทางทะเลของเราอยู่ในฝั่งอ่าวไทย
เราต้องหาทางออกในเรื่องนี้ แม้ไม่สามารถออกพรวดในทันที แต่อย่างน้อยก็เห็นทางไปประตูบ้าง

เพราะเราคงไม่สามารถมาตามเช็ดเต่าได้ทีละตัวไปเรื่อยๆ ครับ




ช่วยเต่าทะเลอย่างปลอดภัย คือแจ้งกรมทะเล

คราบน้ำมันเข้าที่ภูเก็ต เต่าโดนน้ำมันเท่าที่ทราบตอนนี้ 2 ตัวแล้วครับ

ลูกเต่าตัวแรกที่เป็นข่าว เจอที่หาดภูเก็ต ส่งให้โรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก กรมทะเล เช็ดจนตัวสะอาดแล้วติดตามอาการต่อ
เต่าตัวสองเจอที่เกาะราชา เมื่อเช้า เพื่อนธรณ์แจ้งมา เนื่องจากอยู่ห่างฝั่ง จึงปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการเช็ดด้วยน้ำมันพืชและน้ำยาทำความสะอาดสัตว์ที่ปลอดภัย

จุดบอบบางคือนัยน์ตา ต้องระวังเป็นอย่างมาก ตอนนี้ส่งน้องเต่าไปโรงพยาบาลภูเก็ตแล้ว หวังว่าคงปลอดภัยครับ

สิ่งหนึ่งที่ภูมิใจคือช่วยกับพี่น้องกรมทะเลในเรื่องสัตว์หายากมาตลอด 10 ปี น้องเต่ามีรถพยาบาลสัตว์หายากมารับ คุณหมอพร้อมรับมือ ในเรื่องการดูแล เราพัฒนามาไกลในช่วง 10 ปี ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันมาตลอด

คำแนะนำคือเมื่อเจอเต่าเปื้อนคราบน้ำมัน ติดต่อคุณหมอตามโรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก กรมทะเล (มีหลายแห่ง) หรือเจ้าหน้าที่กรมทะเลให้ช่วยประสาน การรักษาเบื้องต้นควรปรึกษาคุณหมอเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น