บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ผู้นำในอุตสาหกรรมนมพาสเจอร์ไรส์ของประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญ “ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น” เชิญชวนประชาชนส่งแกลลอนนมเมจิ ซึ่งเป็นพลาสติกแบบขุ่น (HPDE) และเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายมากที่สุดของซีพี-เมจิ เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ตั้งเป้าเก็บ 15,000 แกลลอน แปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อนำมาผลิตเป็น “ถังขยะ เพื่อแยกขยะ” จำนวน 500 ถัง มอบให้จังหวัดสระบุรี ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566
ซีพี-เมจิ มีเจตนารมณ์ขององค์กรและนโยบายการพัฒนาความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “เพิ่มคุณค่าชีวิต – Enriching Life” และหนึ่งในประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน คือการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกประเภท HDPE (High Density Polyethylene) หรือพลาสติกแบบขุ่น ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์นมเมจิ จึงเปิดตัวโครงการ “ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น” เพื่อรณรงค์ให้คนไทยร่วมกันส่งแกลลอนนมที่ใช้แล้ว เข้าสู่กระบวนการจัดการที่ถูกต้อง และเพิ่มคุณค่าด้วยการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีประโยชน์ต่อชุมชน
นางสาวชาลินี พูนลาภมงคล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด กล่าวว่า โครงการ ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ และเป็นก้าวแรกของซีพี-เมจิ ในการดำเนินการด้านขยะพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศและระดับโลก
พลาสติก HDPE นั้นสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ยังไม่ได้มีการทำอย่างแพร่หลายนัก เนื่องจากซีพี-เมจิ มีการใช้บรรจุภัณฑ์ประเภท HPDE เป็นจำนวนมาก เราจึงริเริ่มโครงการนี้ขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างความร่วมมือกับลูกค้าและผู้บริโภคของเราในการแยกขยะพลาสติก โดยเฟสแรกนี้ เราตั้งเป้าในการเก็บแกลลอนพลาสติกจำนวน 15,000 แกลลอน นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และแปรรูปเป็นถังขยะสีเหลืองสำหรับขยะรีไซเคิล จำนวน 500 ถัง ส่งมอบให้กับจังหวัดสระบุรี เพื่อกระจายไปยังพื้นที่ชุมชนและพื้นที่สาธารณะทั่วจังหวัด ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างถูกต้องให้กับทุกภาคส่วนต่อไป
ด้านนายทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร CirPlas ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการขยะพลาสติก กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากถึง 2 ล้านตัน โดยขยะมากกว่า 75% ไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งมักจะถูกนำไปฝังกลบ หรือเผาทำลาย ส่งผลให้เกิดการหลุดรอด และตกค้างในสิ่งแวดล้อม ส่วนพลาสติกที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลสูงที่สุดคือพลาสติกประเภท PET อยู่ที่ 70% รองลงมาคือ PP 25% และบรรจุภัณฑ์ประเภท HDPE อยู่ที่ 20% ซึ่งโครงการซีพี-เมจิ รีไซขุ่น จะทำตัวเลขตรงนี้มีการเปลี่ยนแปลงให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ไปในทางที่ดีขึ้น
โดยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ด้วยการแยกขยะอย่างถูกต้อง เพียงแค่นำแกลลอนพลาสติกไปทิ้ง ณ จุดรับทิ้งของ CirPlas กว่า 60 จุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล บริษัทฯ จะทำการเก็บและนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ ซึ่งจะถูกนำไปผลิตเป็นถังขยะต่อไป โดยลูกค้าสามารถค้นหาข้อมูลของจุดรับทิ้งได้ที่ เฟสบุค CirPlas หรือ Line Official (@cirplas) และลูกค้าสามารถสังเกตเครื่องหมายแคมเปญ ซีพี-เมจิ รีไซขุ่นได้ทุกจุดรับทิ้งแกลลอน