ปัจจุบันภัยไซเบอร์มีหลากหลายรูปแบบ แม้แต่ภัยที่เกิดจากการหลอกลวงก็ยังมีอยู่หลายรูปแบบ บางรูปแบบมีผลต่อทรัพย์สินเงินทอง บางรูปแบบเป็นปฏิบัติการ “จู่โจมเพื่อล้างสมอง” ซึ่งเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกไม่เฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น โดยการจู่โจมเพื่อล้างสมองมักจะมาจากผู้ประสงค์ร้ายที่วางแผนอยู่เบื้องหลัง
ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงภัยไซเบอร์ที่เป็นความผิดปกติของข้อมูลข่าวสารหรือ Information Disorder
Information Disorder คืออะไร?
ภัยในรูปแบบ Information Disorder คือ เป็นข้อมูลข่าวสารที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยน ยกตัวอย่างเช่น เราได้เห็นข่าวสารข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 มีการให้ข้อมูลข่าวสารผิดๆ ที่ทำให้คนเชื่อว่า ฉีดวัคซีนแล้วจะทำให้ถึงแก่ความตาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วมีผลงานการวิจัยออกมายืนยันว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้เพียง 0.0018 % เท่านั้น
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ได้บัญญัติศัพท์ออกมาใช้สื่อถึงการระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อนหรือบิดเบือนเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา คือคำว่า การแพร่ระบาดของข่าวสาร หรือ “Infodemic” เป็นการรวมคำสองคำเข้าด้วยกันจาก Information (ข่าวสาร) และ Epidemic (การระบาด) โดยข้อมูลในลักษณะนี้ถือเป็นความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร (Information Disorder)
นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังได้ขยายความ Information Disorder ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. Misinformation หรือข้อมูลที่ผิด 2. Disinformation หรือข้อมูลบิดเบือน และ 3. Malinformation หรือข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย อธิบายรายละเอียด ดังนี้
1. Misinformation หรือข้อมูลที่ผิด คือ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือข้อมูลเท็จ โดยผู้ส่งอาจไม่รู้หรือไม่ได้เจตนาต้องการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด ไม่ได้ตั้งใจในการบิดเบือนข้อมูล แต่เป็นกรณีที่ผู้ส่งเผยแพร่ไปด้วยความเข้าใจว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น มีข้อมูลส่งมาว่ายาสมุนไพรรักษาโรคมะเร็งหาย เราแชร์ออกไปด้วยความหวังดี แต่จริงๆ แล้วข้อมูลนั้นผิด ไม่เป็นความจริง
2. Disinformation หรือข้อมูลที่ถูกบิดเบือน เป็นข้อมูลที่ผู้ส่งตั้งใจสื่อสารออกมา อาจเป็นข้อมูลจริงบางส่วนที่เรียกว่า “ความจริงครึ่งเดียว” (Half-truth) แต่ถูกตกแต่งบิดมุมซึ่งหันด้านไม่ดีออกมาพูดถึง ตีแผ่ ให้เกิดความเข้าใจผิดและความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่รู้ว่าข้อมูลผิดก็ยังเผยแพร่ ยกตัวอย่างเช่น นำเสนอว่าอย่าไปฉีดวัคซีน COVID-19 เพราะฉีดวัคซีนแล้วตาย ทั้งที่มีโอกาสเสียชีวิตเพียงแค่ 0.0018% เท่านั้น แต่ไม่เอาความจริงด้านดีมาพูด ซึ่งด้านดีก็คือ ฉีดวัคซีนแล้วมีภูมิคุ้มกัน COVID-19 และส่วนใหญ่ไม่เสียชีวิต
3. Malinformation หรือข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย อาจเป็นข้อมูลที่นำมาจากข้อเท็จจริงเพื่อนำมาทำร้ายเป้าหมาย โดยการนำข้อมูลความลับที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นออกมาเปิดเผยในที่สาธารณะ เพื่อหวังที่จะโจมตีให้เกิดความเสียหายอับอาย ซึ่งผิดจรรยาบรรณ มีลักษณะของการคุกคาม (Harassment) หรือคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (Hate speech) เช่น เผยแพร่ภาพเปลือย หรือคลิปหลุดซึ่งคลิปนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลคนนั้นที่ถูกแอบถ่ายหรือแอบอัดเสียง แล้วถูกผู้ไม่หวังดีนำมาเปิดเผย
แนวทางปฏิบัติเพื่อไม่ให้ถูกหลอกจาก Information Disorder
ด้วยความล้ำลึกของการหลอกลวงที่อาจทำให้เราหลงเชื่อโดยไม่รู้ว่าเป็นข้อมูลที่บิดเบือนไม่ถูกต้อง ซึ่งในโลกทุกวันนี้มีอยู่มากมายอย่างที่กล่าวไปแล้ว โดยเฉพาะภัยที่มองไม่เห็นอย่าง “Information Disorder” ที่มีทั้ง Misinformation, Disinformation และ Malinformation ผสมปนเปกันไปหมด รวมทั้ง Half-truth ที่ถูกนำมาใช้เป็น Soft Power เป็นต้น
ภัยที่มองไม่เห็นเหล่านี้ เมื่อเสพข้อมูลข่าวสารเข้าไปมากๆ จะกลายเป็นความเชื่อ ทัศนคติ ความคิดที่ถูกบิดเบือนไป อาจถึงขั้นล้างสมองที่นิยมเรียกกันว่า “ตาสว่าง” กันเลยทีเดียว
ดังนั้น เราอาจจะต้องกลับมาคิดว่า แล้วเราจะต้องทำอย่างไร เพื่อสร้างเกราะกำบังให้ตัวเอง คนในครอบครัว และคนใกล้ชิด ไม่ให้ถูกภัยซ่อนเร้นเหล่านี้โจมตีจิตใจแบบไม่รู้ตัว ในบทความนี้ผู้เขียนขอสรุปให้จำได้ง่ายๆ 3 ข้อ คือ “คิด ค้น แล้วค่อยตัดสินใจ”
คิด: เมื่อมีข้อมูลหรือข่าวสารอะไรที่เผยแพร่ทางโลกโซเชียล เราควรต้องคิดว่า อยู่บนหลักความเป็นจริงหรือไม่ มีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ คิดอย่างใช้สติ อย่าใช้เพียงความรู้สึก คิดแบบประณีตตามหลัก Critical Thinking
ค้น: ค้นหาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ เช็กข่าวสารนั้นจากแหล่งอื่นๆ และค้นจากสื่อที่น่าเชื่อถือหลากหลายสื่อ เช่น สื่อออนไลน์ สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อทีวี และวิทยุ ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ค้นหาข้อมูลจากงานวิจัยจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ สอบถามพูดคุยกับผู้รู้หรือกูรูด้านนั้นๆ ที่น่าเชื่ือถือและเป็นที่รู้จัก เพื่อเช็กว่าข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นความจริงหรือไม่
ค่อยตัดสินใจ: เมื่อทำทั้งสองข้อทั้ง คิด และค้น แล้วก็ควรต้องชะลอหรือทอดเวลาของการตัดสินใจในความเชื่อนั้นออกไปอีกสักระยะ ไม่ต้องรีบ เพื่อดูกระแสข่าวสารที่ออกมาเรื่อยๆ ว่ายังคงเป็นแบบเดิมตามที่เราพบมาหรือไม่ ซึ่งบางทีอาจต้องทอดเวลาออกไปหลายชั่วโมงหรือหลายวัน ความจริงอาจจะปรากฏก็เป็นได้
เพราะในโลกปัจจุบันมีการหลอกลวงมากมาย หลากหลายรูปแบบ ดังนั้นเราจำเป็นต้องรู้ให้ทัน และสร้างเกราะกำบังให้กับตัวเอง คนในครอบครัว และคนใกล้ชิด ไม่ให้ถูกภัยเหล่านั้นมาโจมตีจิตใจของเราและคนรอบข้างเราได้ และหากมีเกราะกำบังที่ดี ถึงวันหนึ่งภัยจะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไร เราก็จะมีทักษะในการ “คิด ค้น แล้วค่อยตัดสินใจ”เพื่อจัดการกับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้โดยไม่เกิดผลกระทบจาก Information Disorder
สรุปได้ว่าความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร หรือ InformationDisorder แพร่กระจายอยู่ในสังคมมากมาย และเกิดขึ้นได้ตลอด ดังนั้นเราควรจะต้อง “มีสติ คิด ค้น แล้วค่อยตัดสินใจ” เสมอในทุกๆ เรื่อง
บทความโดย ปริญญา หอมเอนก
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซเบอร์ตรอน จำกัด